Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

          ในขณะที่การนำเสนอในวงสัมมนานำพาเราสู่ข้อเสนอที่ท้าทายหลายประการ ทว่าในมุมมองของผู้กุมและหยิบใช้อำนาจรัฐอยู่ในระดับปฏิบัติการกลับมองเห็น แง่มุมที่แตกต่างกันไป

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :-

 

นายนพ เฟื่องฟู
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. (ข่าวกรอง)/ ผู้แทนศอ.บต.

 

          ตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา มีแนวคิดในการแก้ปัญหาประมาณ 50 แนวคิด และแนวทางภาพรวมๆ 10 ประการด้วยกัน คือ 1) เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา 2) สมานฉันท์ สันติวิธี 3) บูรณาการให้เป็นเอกภาพ 4) สร้างความยุติธรรม 5) ใช้การเมืองนำการทหาร 6) ให้ประชาชนมีส่วนร่วม 7) ให้มีองค์กรเฉพาะดูแล 8) ให้อยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย 9) ให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพิเศษ และสุดท้ายคือ 10) การทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดแต่ละประเด็นที่ยังไม่ค่อยเกิดผลเป็นจริงขึ้นมา เพราะเราขาด 2i คือ Implement การนำไปปฏิบัติ และ Integrate บูรณาการ หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันการใช้การเมืองนำการทหารในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

          ปัจจุบันทุกหน่วยของรัฐก็ใช้นโยบายการเมืองนำการทหารกันอยู่ มิใช่ไม่ได้ทำ แต่ผลอาจจะยังไม่สมบูรณ์ทันใจ ทางฝ่ายทหารก็มีการตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทางศอ.บต.ก็ดูแลการพัฒนาและงานการเมืองเป็นหลัก

          ศอ.บต.มีโครงการพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน หรือที่เรียกกันติดปากว่าโครงการพนม ซึ่งทุกคนยอมรับว่าการจะเอาชนะจิตและใจมวลชน ต้องเอาชนะที่หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 2,249 หมู่บ้าน กลไกในการดำเนินการโดยใช้ทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำเหล่านี้มาคุยกันในหมู่ของชาวบ้าน คิดและเสนอแผนที่เขาต้องการขึ้นมาเอง โดยทางศอ.บต.ก็จัดงบประมาณให้หมู่บ้านละ 228,000 บาทเท่ากันหมด และได้แก้ปัญหา “ไอศรีมแท่ง” ที่หายไปจนเหลือแต่ไม้เสียบไอศรีมถึงมือชาวบ้าน โดยการให้ทางหมู่บ้านเปิดปัญชีของเขาเองและโอนเงินเข้าไปให้โดยตรง

          สิ่งที่น่าสนใจในข้อเสนอของนักศึกษาคือ Peace Talks ซึ่งก็มีการพูดกันเหมือนกันในพื้นที่ว่าควรจะมี ซึ่งการพูดคุยก็เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ตามที่ กอส.เคยตั้งกรอบนี้ไว้ แต่ต้องชัดเจนว่าไม่ใช่การเจรจา

 

พลโท ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ/ ผู้แทน กอ.รมน.

 

          เมื่อเช้าผมได้ไปพบท่าน ผบ.ทบ.เพื่อเรียนถามท่านว่าจะให้พูดแนวไหน เพราะทางสถาบันฯ ได้เชิญท่านไป ท่านบอกว่าให้ว่าไปได้เลย สิ่งที่เห็น สิ่งที่ทำอยู่ให้พูดไปได้เลย และท่านฝากขออภัยมาด้วย ท่านอยากจะมาเองเพราะสถาบันแห่งนี้มีความสำคัญมาก แต่พอดีท่านติดต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่วังไกลกังวลในบ่ายนี้ เลยมอบให้ผมมาแทน

          สมมติฐานของฝ่ายความมั่นคงต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการแบ่งแยกดินแดน ฉะนั้นในทางทหาร พฤติกรรมใดหรือการกระทำใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นและจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนนั้น หากเราหยุดได้ในขั้นไหน เราจะหยุดก่อน เราจะไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้เลยออกมาแล้วมาแก้ภายหลัง นี่เป็นแนวคิดของฝ่ายความมั่นคง

          การแก้ปัญหาภาคใต้ตอนนี้เรามีทั้ง trainer นักมวย และกองเชียร์ ยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะกับนักมวยหรือ trainer เท่านั้น แต่จะต้องใช้กับกองเชียร์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย คือต้องให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันด้วย ประชาชนต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าประชาชนไม่เข้าใจ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้เขาเข้าใจ

          ส่วนหนึ่งเราต้องทำความเข้าใจความคิดความเชื่อของชาวบ้าน ผมไม่อยากจะใช้คำถึงว่าไปเปลี่ยนความคิดของเขาทั้งหมด แต่ถ้าเขาเข้าใจอะไรผิดหรือคลาดเคลื่อน เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจถูก

          มีการพูดกันว่าตอนนี้เป็นการใช้การทหารนำการเมือง ผมอยากจะทำความเข้าใจตรงนี้ว่า เรามีฐานปฏิบัติการในสามจังหวัดสี่อำเภอ 759 ฐาน เต็มพื้นที่ไปหมด ที่ลงไปก็เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้การสนับสนุนการทำงานของ ศอ.บต. ไม่ได้ไปไล่จับใคร และฐานทั้งหมดนี้ ถ้าใช้การทหารนำการเมืองนั้นคงจะยิงกันเละทั้งพื้นที่ไปแล้ว แต่นี่ลงไปอยู่กับชาวบ้าน

          เป้าหมายการดำเนินงานของเรา ผมอยากให้นึกภาพสามเหลี่ยมปิรามิด ชั้นบนสุดจะเล็กสุด นั่นคือการขัดขวางการก่อความไม่สงบของกลุ่มขบวนการ ไม่ให้ทำอะไรได้ ถัดลงมาของ ปิรามิดนี้คือการทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐ ถัดลงมาเป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถัดลงมาเป็นทำให้เขากินดีอยู่ดี และชั้นล่างสุดคือทำให้เขาเลิกความคิดแบ่งแยกดินแดน

          ในส่วนของปฏิบัติการทหารที่เห็นว่ามีการยิงกัน คือในส่วนยอดของปิรามิด ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นการใช้ทหารในการคุ้มครองครู ดูแลความปลอดภัยของประชาชน แต่ก่อนนั้น ย้อนไป 3-4 ปี ประชาชนแทบจะไม่มองหน้าเจ้าหน้าที่เลย เข้าไปจะถูกปฏิเสธ มองหน้าเขา เขาก็จะก้มหน้า แต่ทุกวันนี้เข้าไป มองหน้าเขา เขาจะเงยหน้า คุยกันได้ แต่จะร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ผมคงตอบไม่ได้ นั่นเป็นสามชั้นที่ท่านเห็น ส่วนอีกสองชั้นข้างล่าง เราก็ทำ ชั้นที่ต้องทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะเป็น Bottom up ไม่ใช่ Top down รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่ ให้เวลารัฐบาลอีกเล็กน้อย แล้วชั้นนี้จะถูกโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำให้ได้เห็น และชั้นสุดท้ายที่อยู่ล่างสุดให้เลิกความคิดแบ่งแยกดินแดน ตัวนี้เรากำลังทำอยู่ แต่ต้องใช้เวลามากที่สุด

          การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องใช้เวลา แต่ผมก็ไม่อยากใช้เวลานานนัก มีตัวเลขโดยประมาณว่าผู้ก่อความไม่สงบมี 7,000 คน ถ้าท่านฟังข่าวทุกวัน เห็นว่าเมื่อมีปะทะกัน ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตสี่ห้าคน ถ้าเอาเจ็ดพันหารด้วยห้า เดือนละห้าคน ก็ใช้เวลาเป็นร้อยปี เราใช้เวลาขนาดนั้นไม่ได้ เราต้องเอาสิ่งที่คณะนักศึกษาเสนอมา 7 ข้อนี้มาพิจารณา ซึ่งก็ตรงกับทฤษฎีของสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างเครือข่าย เพียงแต่ที่เขียนมานี้ยังเป็น What to do เราอาจต้องมาดู How to do ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

          ในส่วนของการเสนอให้มีการตั้งสำนักคิดในกองทัพนั้น ขอเรียนว่าทางโครงสร้างใหม่กอ.รมน.ที่เพิ่งผ่าน ครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 ซึ่งจะรับผิดชอบดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์นี้จะต้องเป็นนักคิดด้วย โดยผมก็เป็นรักษาการผู้อำนวยการศูนย์นี้อยู่ด้วย ซึ่งเพิ่งตั้งได้ประมาณสองเดือน

พล.ต.ต เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา
รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

          ในมุมมองของตำรวจ ผู้ก่อความไม่สงบมีความต้องการที่จะยกระดับปัญหาไปสู่นานาชาติเพื่อที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน กลุ่มคนร้ายมีการจัดตั้ง กระทำกันเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กัน หลังจากทำงานกันอย่างหนัก มีกองกำลัง มีสปอนเซอร์ ขอยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง เราสามารถได้ข้อมูลตัวเลขว่ามีประมาณ 9,075 คน ซึ่งก็ด้วยประสิทธิภาพของพรก. ที่ ณ เวลานี้ก็เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพที่สุด

          หลักการทำงานของตำรวจ 3 ประการที่ท่านผู้ช่วยอดุลย์ แสงสิงแก้ว (ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ได้มอบไว้ คือต้องสถาปนาความเข้มแข็งของอำนาจรัฐ มีขีดความสามารถในการออกไปดูแลพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้ หลักอีกประการหนึ่งคือการสร้างความเป็นธรรมและความโปร่งใส ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ เราใช้หลักนิติธรรมในการทำงาน มีนโยบายชัดเจนว่าถ้าไม่มีพยานหลักฐาน ต้องปล่อย หลังควบคุมตัวตามพรก.30 วัน หากไม่มีพยานหลักฐานที่จะยืนยันการกระทำความผิด จะปล่อยตัวเขาไป พร้อมมีหนังสือกำกับด้วยว่าได้มีการคัดกรองแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการให้เกียรติตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน เราไม่หวังผลในการมีตัวเลขจับกุม ส่วนประเด็นที่สาม คือเราต้องสร้างศรัทธาและความเชื่อถือจากประชาชน โดยเราร่วมกับกอ.รมน.และศอ.บต.

          ข้อเสนอของคณะนักศึกษาทั้ง 7 ข้อนั้น ผมเห็นด้วยทั้งหมด ผมอยากจะเห็นการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ภายใต้หลักศาสนาของตน

          ส่วนกลางจะต้องส่งสัญญาณไปให้ชัดว่าถึงจะให้ผม พี่น้องตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ตาย นอนเรียงกันเป็นจิ๊กซอว์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่มีทางที่จะเอาดินแดนนี้ไปได้ แต่เราจะหาจุดร่วมที่จะอยู่ด้วยกันได้ต่อไปภายใต้หลักภราดรภาพและมิตรภาพ