Skip to main content
นะดีม จามาล คอยรอน
Patanian Voice
1 เมษายน 2556
 
            สถานการณ์ความรุนแรงที่ปาตานีเริ่มเห็นความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว จากก่อนหน้านี้ ความรู้สึกของคนที่อยู่ในพื้นที่เองบางส่วนบ่นออกมาว่า “ไม่มีความหวังแล้วที่จะเห็นสันติภาพที่ปาตานี” ถึงแม้ทางกลุ่มนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในปาตานีหลายๆ ท่าน มีความพยายามที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนโดยการติดอาวุธทางความคิด ผ่านงานวิจัย เวทีเสวนา หรือแม้กระทั่งวงแลกเปลี่ยนในร้านน้ำชาก็ตาม เพื่อต้องการพิสูจน์ให้ประชาชนหรือบุคคลที่หมดความหวังกับกระบวนการสันติภาพกลับมีความหวังขึ้นมา ต่อให้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลงเลย แต่หลังจากการลงนามเปิดโต๊ะพูดคุยครั้งที่ 1 แบบสายฟ้าแลบของตัวแทนรัฐบาลไทยที่นำโดยเลขาธิการ สมช. กับ กลุ่มขบวนการปฎิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลมาเลเซีย มาเป็นผูอำนวยการพูดคุย(Facilitator) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 หลายฝ่ายยอมรับว่าเป็นสัณญาณที่ดีสู่สันติภาพ (แต่... )
 
 
 
            การลงนามที่ประวัติศาสตร์โลกจะต้องจารึกในครั้งนี้ ส่งผลให้มีแรงเหวี่ยงแรกคือ มีการตอบรับจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนผู้ที่รอคอยสันติภาพให้บังเกิดขึ้นที่ปาตานี นำมาซึ่งการพูดคุยผ่านเวทีเสวนา Bicara Patani (เสวนาปาตานี): 28 กุมภา "กระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือ กระบวนการพูดคุยประนีประนอม" ในวันที่ 11 มีนาคม 2556 จัดโดย สำนักสื่อ Wartani ร่วมกับเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth) เพื่อสะท้อนมุมมองและข้อสังเกตุต่อการลงนามในครั้งนี้สู่สาธารณชนโดยมีนักวิชาการ และนักเคลื่อนใหวรุ่นใหม่ ร่วมกันถ่ายทอด ประเด็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ได้พูดถึงประชาชนปาตานี ประชาชนปาตานี และประชาชนปาตานี
 
 
“ถ้าการลงนามครั้งนี้เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมา ก็แสดงว่าเขาโกหกทุกคน และถ้าเรายอมรับในเวทีที่เขาอุปโลกน์ขึ้นมานั้น ก็แสดงว่าเราก็โกหกประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากเรารู้ชัดเจนแล้วว่าเป็นเวทีโกหกนั้น เราจะต้องยกเลิกเวทีเหล่านี้ให้ได้ นั้นคือหน้าที่ของเราในวันนี้” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก:หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
 
“ทุกคนพูดถึงประชาชน ทุกคนรู้ว่าการสื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โลกวันนี้มันต้องโยงกับประชาชน ถ้าอยากได้เอกราชแล้วหน้าตาเอกราชมันจะเป็นอย่างไร ? อย่าปล่อยให้เงื่อนไขที่กำลังเปิดตอนนี้เป็นของตัวจริงหรือตัวปลอมข้างบน แต่ต้องทำให้ข้อเสนอที่มันเกิดจากข้างล่างมันตื่นขึ้นมาให้ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ให้สังคมไทยทั้งสังคมรู้ว่าพื้นที่นี้มันต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะคนมันอยู่กับความรุนแรงแบบนี้ไม่ได้ คนมันอยู่กับการกดขี่แบบนี้ไม่ได้” นายรอมฎอน ปันจอร์: ผู้ปฏิบัติการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
 
“เวทีเมื่อวันที่ 28 กุมภา เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์เสียงของประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในส่วนขององค์กร มันสะท้อนให้เห็นว่า ความกล้าหาญที่จะแสดงออกในความคิดต่าง ณ วันนี้เสียงมันเริ่มเบ่งบานขึ้น เสียงของประชาชนคือความต้องการที่แท้จริง อย่าลืมว่าสันติภาพมันเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง” ซอลาหุดดีน กริยา :คณะทำงานสำนักพิมพ์ Awan Book
 
“คิดว่าคนในพื้นที่เขาไม่ได้ต้องการกระบวนการเจรจาที่ดีที่สุด แต่คิดว่าเขาคงต้องการกระบวนการเจรจาที่จริงที่สุด และคิดว่าสิ่งที่เราควรจะขับเคลื่อนในวันนี้ให้ได้ก็คือ พื้นที่ความกลัวที่มีอยู่ในวันนี้ เราต้องลบมันให้ได้” นายกริยา มูซอ :เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS)
 
            จากวงเสวนา Bicara Patani วงเล็กๆ ส่งผลให้มีแรงเหวี่ยงที่สองเกิดขึ้นคือ การตื่นตัวในการอยากรู้และ อยากมีส่วนร่วมของนักศึกษาและภาคประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งที่สองที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2556 จึงมีเวทีเสวนา Bicara Patani ครั้งที่ 2 ขึ้นมา ในวันที่ 23 มีนาคม 2556 ที่จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) ร่วมกับ สำนักสื่อ Wartani และองค์กรร่วมภาคีอีก 8 องค์กร โดยใช้ชื่อหัวข้อเสวนาว่า "28 กุมภา : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ปาตานี" เวทีในครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องบันทึกลงในประวัติศาสตร์ของชาวปาตานี เพราะมีนักศึกษาและประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเวทีเสวนาหนาแน่นกว่าที่ผ่านๆ มา โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 7,000 คน
 
 
            วงเสวนาแลกเปลี่ยนในเวทีที่ 2 ยังเน้นความสำคัญของบทบาทประชาชนปาตานีต่อหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมปาตานี อีกทั้งยังสื่อถึงนักศึกษาในพื้นที่ให้ควรตระหนักในบทบาทของตนเอง
 
“เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ปาตานี อยู่ในช่วงที่ประชาชนชาวปาตานีสับสน เราในฐานะบัณฑิตและนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่เกิดความตระหนักในบทบาท จึงเกิดแนวคิดที่ต้องสร้างความตระหนักต่อประชาชน เพื่อให้ความจริงได้ประกฎเกิดขึ้นในสังคมมลายูปาตานีต่อไป” color:#333333">นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ :ประธานโครงการเวทีเสวนา color:#333333">Bicara Patani ครั้งที่ 2
 
“เอาเข้าจริงแล้วคนในพื้นที่หรือคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่เชื่อว่าถูกจับกุม ถูกซ้อมทรมาน และไม่สามารถอยู่บ้านได้ และฝ่ายหญิงอีกหลายต่อหลายคนที่เป็นหญิงหม้าย มีลูกกำพร้าเต็มไปหมด ซึ่งคนเหล่านี้กระหายในเรื่องสันติภาพมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป แต่แล้วทำไมคุณถึงกล้าพูดว่า พวกเขาไม่ต้องการสันติภาพกับเพียงแค่พวกเขาไม่สามารถยอมรับการเจรจา ซึ่งเราค่อนข้างจะชัดเจนว่ามันเป็นการเจรจาที่ไม่ได้มีซึ่งความจริงใจที่จะให้เป็นวาระของประชาชนด้วยซ้ำไป จะเป็นอะไรไปถ้าเราจะพูดให้ชัดเจนว่า“เราไม่ต้องการ” การเจรจาที่ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างแท้จริง” นางสาวรุซดา สะเด็ง เจ้าหน้าที่สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ [Deep Peace] และนักเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
           
            จากเวทีเสวนาทั้งสองเวที ประเด็นที่ถูกสะท้อนออกมาคล้ายๆกันคือ กระบวนการหรือวิธีการที่จะทำให้ประชาชนกล้าที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อกำหนดชะตากรรมของตนเอง เห็นได้ว่าในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยประชาชน การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยบนโลกใบนี้ ในภารกิจเรียกร้องเพื่อกำหนดชะตากรรมของตนเอง ทางออกหนึ่งของสังคมที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือการลุกฮือของมวลมหาประชาชน การออกมาของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (Active Citizen) ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอด ตั้งแต่ร่วมเคลื่อนไหว ร่วมผลักดัน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือ และร่วมตรวจสอบ
 
            ดังนั้นหากทุกคนเชื่อว่าการปกป้องแผ่นดินมาตุภูมิของตน ย่อมมีหลากหลายวิธีการ ทั้งการเป็นนักรบ หรือสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม แต่เหล่านี้คือหน้าที่อันสำคัญของประชาชนหรือพลเมืองเมืองเสมอ แหละนี่...อาจนำไปสู่แรงเหวี่ยงที่ 3 ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนปาตานี (Patanian Power Revolution) เพื่อให้ประชาชนปาตานีได้เลือกทางเดินของเขาเอง