Skip to main content
อิสมาอีล บิน มูฮำหมัด ฮายีแวจิ
สำนักสื่อ background:#FDFFF2">Wartani
 
นักศึกษาชายแดนใต้ในนาม PERMAS ออกโรงประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เชิญชวนคนในพื้นที่ร่วมงานเวทีเสวนากระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับแนวทางสู่สันติภาพที่ส่งผลโดยตรงต่อคนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม 2556 นักศึกษาชายแดนใต้รวมตัวกันในนาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERMAS] ออกโรงประชาสัมพันธ์ รณรงค์เชิญชวนให้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วน ร่วมงานเวทีเสวนา หรือ Bicara Patani ในหัวข้อ “28 ก.พ. : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” ในวันที่ 23 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. – 16.30 น. ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในพื้นที่ ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องหลักการ เงื่อนไข และขั้นตอนของกระบวนการเจรจาสันติภาพตามหลักสากลที่แท้จริง
นายกริยา บิน วันอาห์หมัด มูซอ เลขาธิการ PERMAS กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องจากเวทีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและ BRN ที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม 2556 นี้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองด้วย โดยเฉพาะภาคประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด
 
พวกเราเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าควรที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ถึงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้สู่การนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ต่อได้” กริยา กล่าว
 
นายกริยากล่าวต่อว่า “เวทีครั้งนี้เราร่วมจัดกันหลายองค์กร ซึ่งมีองค์ภาคีที่ร่วมจัดอยู่ประมาณ 10 องค์กรด้วยกัน แต่ผู้จัดงานหลักในเรื่องของกระบวนการเวทีเสวนาปาตานี หรือ Bicara Patani ก็จะเป็นสำนักสื่อ Wartani ส่วนทางนักศึกษาเองก็จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆอย่างเช่น เรื่องสถานที่ การประชาสัมพันธ์งาน เป็นต้น” กริยา กล่าว
นายรอซาลี บิน อุสมาน สานานะอะ รองเลขาธิการ PERMAS กล่าวว่า “สำหรับหน้าที่ของพวกเราคือ เจ้าภาพงาน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ในส่วนของพวกเราก็จะมีการจัดเตรียมสถานที่ และลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาร่วมกันมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ด้วย โดยเราจะแยกเป็นสามกลุ่มหลักๆด้วยกัน เพื่อจะได้เข้าถึงคนในพื้นที่ทุกคนจริงๆ
 
โดยมีสมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดยะลา [PERMAS YALA] สมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดนราธิวาส [PERMAS NARATHIWAT] และสมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดปัตตานี [PERMAS PATTANI] ร่วมกับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา [PERMAS SONGKHLA] แบ่งโซนประชาสัมพันธ์เป็นจังหวัดต่างๆในพื้นที่ปาตานี” รอซาลี กล่าว 
          นายฟัรดี บิน การี ซาและ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ม.ราชภัฎยะลา ชั้นปีที่ 4 และเลขาธิการ PERMAS YALA กล่าวว่า “พวกเราลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์งานในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของตนเองด้วย
 
สำหรับนักศึกษาจังหวัดยะลาร่วมกับนักศึกษาจากภาคใต้ตอนบน ในนาม PERMAS YALA เราได้ลงไปหลายพื้นที่มาก โดยใช้เวลาสามวันด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 17-19 มีนาคม 2556 หากจะจำแนกตามอำเภอก็มี อ.เมือง อ.รามัน อ.กรงปีนัง อ.บือนังสตา อ.ธารโต อ.กาบัง อ.ยะหา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย เป็นต้น และคาดว่าวันที่ 23 มีนาคม 2556 ชาวบ้านคงจะทยอยออกมาอย่างมากจากการประเมินถึงความสนใจของชาวบ้านเอง” ฟัรดี กล่าว
นายอัสมาดี บิน อาห์หมัด บือเฮง นักศึกษาคณะวิทยาลัยอิสลาม มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 3 และกรรมการบริหาร PERMAS PATTANI กล่าวว่า “ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจมาก บางคนถึงกับขอบคุณและขอให้พวกเรา หรือนักศึกษายึดมั่นในการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาตานีต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย ทุกชนชั้น ในสังคมปาตานี รวมทั้งประชาชนจากต่างพื้นที่ และหวังว่าคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐไทย และ BRN จะให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริงเป็นหลัก” อัสมาดี กล่าว
 
นางสาวนาซูฮา บินตี อับดุลลอฮฺ มามุ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมสาสตร์ มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 2 และสมาชิก PERMAS PATTANI กล่าวว่า “การลงพื้นที่ครั้งนี้เราร่วมกับนักศึกษาจากสงขลา เราได้ลงไปหลายหมู่บ้านตามมติ PERMAS ให้ลงพื้นที่ เพื่อกระจายข่าวสารให้ถึงก้นบึ้งของชายขอบจริงๆ ที่เราลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในจังหวัดปัตตานีก็จะมี อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง  อ.ยะหริ่ง อ.ปานาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.แม่ลาน อ.ยะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี และเทศบาลต้นไทร จ.นราธิวาส
 
คาดว่าประชาชนที่พวกเราได้เข้าไปพูดคุยน่าจะเข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างมากและหลากหลาย เพราะเสียงตอบรับมานั้นประชาชนเห็นด้วยและพร้อมที่จะเข้ามาร่วมทำความเข้าใจด้วยกัน พวกเขาบอกว่า เขาจะต้องออกมาแสดงถึงสิทธิของตนเองในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆเพื่อนำไปสู่โต๊ะการเจรจาสันติภาพให้ได้” นาซูฮา กล่าว”
นายอาซัน บิน ยะห์ยา สนิเจ๊ะนะ นักศึกษาสถาบันอิสลามและภาษาอาหรับศึกษา ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ชั้นปีที่ 4 และกรรมการบริหาร PERMAS NARATHIWAT กล่าวว่า “การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือว่าท้าทายมากสำหรับพวกเราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างวันนี้ที่ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ก็มีรถตำรวจขับตามหลังรถประชาสัมพันธ์ของพวกเราด้วย และยังซิ่งตัดหน้าพร้อมสั่งให้พวกเราจอดรถแล้วลงมาถามเราว่า “คิดจะมาแจกใบปลิวหรอ?” นี่คือส่วนหนึ่งของความท้าทายต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในประเด็นสันติภาพ ก็รู้สึกระแวงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยินดีขับเคลื่อนต่อไปเพื่อคนส่วนรวมและสันติภาพที่จริงที่สุด” อาซัน กล่าว
 
นายอาซันกล่าวต่อว่า “ส่วนพื้นที่ที่พวกเราลงไปนั้นก็จะมี อ.เมือง อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก อ.สุไหงปาดี ต.สาคออ.แว้ง อ.เจาะไอร้อง อ.ตันหยงมัส อ.รือเสาะ อ.ระแงะ อ.ยี่งอ อ.ศรีสาคร และ อ.บาเจาะ เป็นต้น ในส่วนของประชาชนก็มีสนใจบ้าง บ้างก็ไม่เคยรู้ข่าวการเจรจาเลยว่าเมื่อไร ใคร กับใคร ที่ไหน และอย่างไร” อาซัน กล่าว
แซนดี บิน อับดุลรอเซะ ดือราแม รองเลขาธิการ PERMAS SONGKHLA กล่าวว่า “ทุกครั้งที่ลงพื้นที่พวกเราจะเจอแต่แรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนักกิจกรรมในพื้นที่อย่างพวกเรา แต่มาวันนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดให้ความสนใจต่องานรณรงค์และประชาสัมพันธ์งานของพวกเราเลย
 
ในทางกลับกันสิ่งใหม่ที่เราพบเจอในครั้งนี้ หรือเป็นความท้ายทายสำหรับพวกเราในครั้งนี้ก็คือ คำอธิบายและคำตอบต่อข้อสงสัยต่างๆที่หลุดออกมาจากปากชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้าในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครทราบข่าวการเจรจาในครั้งนี้เลย บางส่วนที่รู้มาจากสื่อกระแสหลักทางช่องทีวีต่างๆมันก็ไม่สามารถตอบโจทย์ข้อสงสัยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งสำหรับพวกเราวันนี้ หวังว่างานที่พวกเราร่วมจัดกันขึ้นครั้งนี้ จะสามารถตอบคำถามของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้” แซนดี กล่าว