Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

หมายเหตุ : นพ.ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาดังกล่าวในการเปิดงานสัมมนา “การเมืองต้องนำการทหาร : ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้สู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีรูปแบบในการนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอของนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข รุ่นที่ 1 ของสถาบันพระปกเกล้า ก่อนจะมีการวิจารณ์และนำเสนอของผู้เข้าร่วมสัมมนา

          แนวทางการแก้ปัญหาการเมืองนำการทหาร เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา ถ้าเราย้อนกลับไปดูเรื่องราวเมื่อครั้งเราแก้ปัญหาความขัดแย้งคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ต่อสู้ระหว่างคนไทย และมีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/ 2523 เพื่อแก้ไขปัญหา ในช่วงนั้นจะเห็นว่ากองทัพมีความเข้มแข็งทางทฤษฎีในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยสันติวิธี เรียกว่าแข็งที่สุด ไม่มีใครเท่า แข็งกว่าพลเรือนและนักวิชาการ เพราะได้ศึกษาเรื่องคอมมิวนิสต์และการเอาชนะด้วยสันติวิธีอย่างจริงจัง อีกทั้งขณะนั้น การเมืองซึ่งมีพลเอกเปรมฯเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีความมั่นคง เป็นที่เคารพ และผนึกกับกองทัพอย่างเป็นเอกภาพ เพราะฉะนั้น ความเป็นเอกภาพของยุทธศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ แต่ขณะนี้เมื่อเราเผชิญกับปัญหาภาคใต้มีความเปลี่ยนแปลงไป เวลาล่วงเลยไปสามสิบกว่าปี ผู้ที่ทำเรื่องสันติวิธีนี้ในกองทัพก็เกษียณอายุไป ทำให้เกิดความอ่อนแอทางทฤษฎีขึ้นในกองทัพ ในขณะที่ทางการเมืองเองก็อ่อนแอ ขาดความมั่นคง ดังนั้น การเมืองนำการทหารจึงอ่อนแอ เราต้องดูทั้งสองเรื่อง และมาออกแบบวิธีกันใหม่ จึงจะแก้ปัญหาได้

          การเมืองนำการทหารไม่ได้แปลว่าไม่ใช้การทหาร ไม่ได้แปลว่าการทหารไม่สำคัญ การทหารยังจำเป็นในการป้องกันความรุนแรง จำกัดขอบเขตและระงับความรุนแรง และใช้การทหารมาสนองตอบวัตถุประสงค์ทางการเมือง และคำว่าการเมืองก็ไม่ได้แปลว่านักการเมือง เดี๋ยวจะเข้าใจผิดแล้วไปรอนักการเมือง และเมื่อนักการเมืองอ่อนแอ เราก็เลยทำอะไรไม่ได้ การเมืองนี้หมายถึงคนไทยทุกคนทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการด้วยสันติวิธีที่จะถอดสลักปัญหา แก้ปัญหาให้ได้ แบบที่ซุนวูกล่าวว่าการสงครามที่ดีที่สุดคือการชนะโดยไม่ต้องรบ การรบคือการสูญเสีย เราไม่ควรจะสูญเสีย การจะชนะโดยไม่ต้องรบคือต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองเท่านั้น

          ผมอยากจะสรุปที่มาของปัญหา หลักการ และวิธีการที่จะแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป สาเหตุของปัญหาที่ลึกที่สุดคือการที่เราเป็นรัฐเอกนิยมในสังคมพหุวัฒนธรรม ในประเทศไทยของเรามีผู้คนหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันในดินแดนนี้ เป็นพหุวัฒนธรรม แต่รัฐกลับเป็นเอกนิยมคือรวมศูนย์เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว นิยมความเป็นอย่างเดียว นิยมความเหมือนกัน ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตรงนี้เป็นต้นตอของความขัดแย้ง ไม่เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น แต่กับปัญหาในภาคอื่นด้วย ความเป็นเอกนิยมนี้นำไปสู่การขาดการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งทั้งปวงในประเทศไทย ทั้งที่การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนนี้เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความดีงามทั้งปวง คือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมในสังคม

          การขาดความเป็นธรรมเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ถ้าเรามองไปจะเห็นการขาดความเป็นธรรมในทุกเรื่อง คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน คนข้างล่างไม่มีความหมาย ไม่มีศักดิ์ศรีในสังคมไทย คนข้างบนก็ไม่เข้าใจคนข้างล่าง ระบบการศึกษาของเราก็สร้างคนไทยหลายชั่วคนที่ไม่เข้าใจคนข้างล่าง ลองนึกดูในโรงเรียนเราท่องแต่ตำรา ท่องแต่วิชา อาจจะไปเรียนเมืองนอก และก็กลับมามีตำแหน่งสำคัญ ทำงานนำในสังคม ซึ่งกลุ่มที่นำในสังคมก็มีอยู่ 5 ประเภทด้วยกันที่มีผลต่อความเป็นไปในสังคม คือ นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อมวลชน ทั้งห้ากลุ่มนี้คือกลุ่มนำที่ไม่เข้าใจความเป็นไปของคนข้างล่างอันเนื่องมาจากการศึกษาที่เรามีอยู่

          มีคนเตือนว่าระบบการศึกษาของเราทำให้คนไทยขาดจากรากเหง้าของตน คนที่เตือนคือพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพราะการศึกษาใช้การท่องจำเป็นหลัก ไม่ได้ศึกษาจากชีวิตของคนไทย คำว่ารากเหง้าหมายถึงวัฒนธรรม วัฒนธรรมนั้นเป็นรากของสังคม ต้นไม้ต้องมีรากฉันใด สังคมก็ต้องมีรากฉันนั้น ถ้าเราตัดรากต้นไม้จะเกิดอะไรขึ้น เรารู้ ถ้าเราพัฒนาสังคมโดยตัดรากก็จะเกิดอย่างเดียวกันกับที่ตัดรากต้นไม้ ที่เราพัฒนามาทั้งหมดนี้ เราไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดก็ไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมคืออะไร วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของกลุ่มชนร่วมกันที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในนั้น กินความหมดถึงคุณค่า ความเชื่อ การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษา ศาสนาธรรม รวมอยู่ในร่มวัฒนธรรมทั้งหมด การพัฒนาที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นการตัดรากทางวัฒนธรรม เพราะเราไม่เข้าใจ ก่อความเสียหายขึ้น ซึ่งเรากำลังเข้าสู่วิกฤติการณ์คลื่นลูกที่สี่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งซับซ้อนที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร ถ้าเรารู้ว่าศัตรูคือใคร เราก็กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ได้ ผมพยากรณ์ไว้นานสิบกว่าปีแล้วว่าประเทศไทยหนีการนองเลือดไม่พ้น ดูเรื่องการศึกษาก็รู้ เพราะการศึกษาของเราไม่ได้ทำให้เราเข้าใจตัวเองและไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เอาแต่ท่องวิชากันไปเรื่อยๆ เมื่อเราไม่เข้าใจ เราก็แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ก็มีวิกฤติมากขึ้น แล้วก็ นองเลือด นี่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในวันนี้

          เมื่อกลับมาพูดถึงความเป็นรัฐเอกนิยมในสังคมพหุวัฒนธรรมที่นำไปสู่การขาดความเคารพในศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน นำไปสู่การขาดประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องอยู่บนพื้นฐานที่ลึกซึ้งของการเคารพคุณค่าของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นแค่กลไกเท่านั้น หากมองว่าเป็นแค่กลไก ก็จะกลายเป็นกลโกงได้ง่ายๆ และสุดท้ายก็จะขาดความเป็นธรรมในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าก็เคยบอกมาหลายปีแล้วว่ากฎหมายไทยไม่ยุติธรรมต่อคนจน แม้แต่การสาธารณสุขที่เราเห็นว่าดี ลูกคนจนยังตายมากกว่าลูกคนรวยสามเท่า เอาเรื่องความเป็นธรรมจับเข้าไปก็จะเห็นทุกเรื่องว่าไม่มีความเป็นธรรม

          ผมพูดเสมอว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งควรวิจัยเรื่องความเป็นธรรม เพราะเป็นเรื่องสำคัญลึกซึ้งละเอียดอ่อน ต้องวิจัยและคลี่ออกมาให้สาธารณะเห็น จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป เพราะหากความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่ในสังคม ความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปต่างๆก็จะแก้ไม่ได้ ไม่ได้มีเฉพาะภาคใต้ มีทุกภาค แต่อาการออกมาต่างๆกัน ตราบใดที่ความยากจนและความอยุติธรรมยังคงดำรงอยู่ในสังคม ตราบนั้นจะมีความขัดแย้งเรื่อยไปและนำไปสู่ความรุนแรงที่แก้ไม่ได้ เช่นภาคอีสานก็มีความขัดแย้ง 932 จุด ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับรัฐในเรื่องทรัพยากร เพราะเราขาดความเป็นธรรมเรื่องการใช้ทรัพยากร และความยากจนเกิดจากความอยุติธรรม ไม่ได้เกิดจากการพัฒนา เรื่องเหลืองแดง ก็มาจากประเด็นนี้เช่นเดียวกัน

          ถ้าเราจะดูตัวอย่างของระบบที่ดีที่สุดและเห็นง่ายที่สุดคือร่างกายของท่านเอง ในร่างกายมีความหลากหลายสุดประมาณ มีโมเลกุลและเซลล์ต่างๆมากมายที่ไม่เหมือนกันเลย สมอง หัวใจ ตับ ปอด ไต ลำไส้ ถ้าเราดูตัวอย่างของระบบร่างกาย เราจะได้เรียนรู้ว่าระบบร่างกายนี้คือความหลากหลายในร่างกายเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้นลองนึกถึงตัวท่านเองก็จะพบเห็นความหลากหลายในร่างกายเดียวกัน ซึ่งระบบร่างกายของเรามีหลักดังนี้ คือ หนึ่ง อวัยวะต่างๆต้องมีอัตลักษณ์ (Identity) ของตัวเอง เราจะไปให้หัวใจเหมือนปอด ปอดเหมือนตับไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ สอง มันจะต้องมีอิสระในตัวเอง (Autonomy) จะไปรอให้ใครสั่งให้หัวใจเต้นไม่ได้ จะรอให้ใครสั่งให้หายใจก็คงจะตาย แต่สาม แม้อวัยวะต่างๆจะมีอัตลักษณ์และอิสระในตัวเอง อวัยวะต่างๆเหล่านี้ก็ยังต้องมีบูรณาการ (Integration) เชื่อมโยงกันหมดเป็นชีวิตเดียวกัน ต้องอาศัยกลไกบางอย่างที่จะเชื่อมโยงให้เกิดบูรณาการทั้งหมด โดยสรุปแล้วระบบร่างกายของเราเป็นความหลากหลายในกายเดียวกัน

          ดังนั้น เราลองมาดูระบบนี้เมื่อเทียบกับประเทศหรือสังคม จะเห็นว่ากลุ่มต่างๆก็มีอัตลักษณ์ของตัว และอัตลักษณ์นั้นสำคัญ เขานึกถึงประวัติศาสตร์ นึกถึงวัฒนธรรม ภาษา และบรรพบุรุษของเขา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นศักดิ์ศรี คนเราอยู่โดยไม่มีศักดิ์ศรีไม่ได้ ไม่มีเงินยังพออยู่ได้ เราต้องนึกถึงว่าในสังคมของเราที่เป็นพหุวัฒนธรรมนั้น แต่ละกลุ่มวัฒนธรรมจะต้องสามารถมีอัตลักษณ์ของตัวได้ มีความภูมิใจในอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และความสำเร็จของตัวได้ อันนี้มันดึงใจ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ผนึกคนเข้ามาด้วยกัน เพราะฉะนั้นกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆต้องมีอัตลักษณ์ของตัว ระบบทั้งหมดต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ตรงนี้ ไม่ใช่ไปทำให้เหมือนกันหมด เราลองนึกภาพว่าถ้าเราทำให้อวัยวะของเราเป็นเหมือนกันหมด เราก็เป็นคนอยู่อย่างนี้ไม่ได้ หัวใจต้องเป็นหัวใจ ปอดก็ต้องเป็นปอด สมองก็ต้องเป็นสมอง เมื่อก่อนนี้เราไปถึงขนาดว่าในเชียงใหม่ มีการปักป้ายที่โรงเรียนหนึ่งว่าเป็นเขตปลอดคำเมือง คำเมืองก็เป็นอัตลักษณ์ของคนล้านนา เราต้องส่งเสริมความหลากหลายแทนที่จะทำให้เหมือนกัน ย้อนกลับไปครั้งจอมพล ป. ด้วยนโยบายชาตินิยม ที่จะทำให้ทั้งหมดเป็นไทยเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นแนวทางที่ผิด เราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องส่งเสริมความหลากหลาย เรื่องอัตลักษณ์นี้เป็นข้อที่หนึ่ง สอง ต้องส่งเสริมหลักที่เรียกว่า Autonomy หรืออัตโนมัติ ซึ่งมากที่สุดก็คือการดูแลปกครองตัวเอง แต่ว่าภายใต้ความเชื่อมโยงบูรณาการเป็นร่างกายเดียวกัน ไม่ใช่แยกจากกันไปเลย

          ผมจะขอเสนอหลักการ 5 ประการและวิธีการ 7 ประการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ดีกว่าที่ผมจะพูดคือรายงานของคณะนักศึกษา 4ส ทั้ง 92 คน เป็นรายงานที่ดีมาก ดีกว่าที่ผมจะพูด ผมทำงานเรื่องนี้มาก่อน ต้องยอมรับว่ารายงานนี้เขียนดีจริงๆ และขอชื่นชม ขอชมเชยนักศึกษาทั้ง 92 คน รวมทั้งผู้อำนวยการหลักสูตรและคณะทั้งหลายที่ช่วยกันทำ ถ้าช่วยกันขับเคลื่อนตรงนี้ต่อไป ผมคิดว่าจะแก้ปัญหาได้

          โดยที่ผมกล่าวมาถึงสาเหตุและระบบที่ว่าดีที่สุดคือความหลากหลายในร่างกายเดียวกันนั้น ผมขอเสนอหลักการ 5 ประการด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ คือ ข้อที่ 1 ต้องสร้างจินตนาการใหม่ประเทศไทย จินตนาการเก่าของเราเป็นจินตนาการเล็กๆ แคบๆ เป็นจินตนาการแบบนักเลงโต ต้องมีจินตนาการใหม่ว่าประเทศไทยประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม หลายศาสนา เป็นประเทศแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม

          เรามีตัวอย่างเช่นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีคนหลายเชื้อชาติคือฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน อยู่ด้วยกันเป็นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พูดทั้งสามภาษาด้วยซ้ำไป แต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยสันติ เป็นประเทศที่งดงาม มีสันติภาพ ที่จริงย้อนไปดูครั้งกรุงศรีอยุธยา จะเห็นว่าเป็นชุมชนหลายเชื้อชาติ มีทั้งญี่ปุ่น โปรตุเกส ผู้นำสมัยก่อนก็ใจกว้าง มีใครก็ต้อนรับหมด ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของเรา แต่ภายหลังมันเพี้ยนไป ต้องกลับมาสร้างจินตนาการใหม่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นธรรมะแห่งความหลากหลาย ถอดออกจากจินตนาการเก่าๆของความเป็นรัฐเอกนิยม

          ข้อที่ 2 ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเอง พัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของเขา เพราะในชุมชนท้องถิ่นมีผู้คนมากหลายเยอะแยะไปหมด จุดแข็งของเราอยู่ที่นั่น เราก็ร่วมมือกัน เขาเข้าใจเรื่องราวของเขา เขาร่วมมือกันจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นทั้งประชาธิปไตยโดยตรงด้วย เพราะคนทั้งหมู่บ้านสามารถรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมมือปรึกษากันว่าเขาต้องการอะไรในการพัฒนาทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เขาสามารถดูแลกันได้ ประเทศใดที่รวมศูนย์อำนาจจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่บ่อนทำลายประเทศไทย

          ผมไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อไปศึกษา ย้อนหลังกลับไปสองร้อยกว่าปี กลุ่มชนชั้นสูงมีการเล่นพรรคเล่นพวก มีคอร์รัปชั่นรุนแรงมากในประเทศ ต่อมาเขากระจายอำนาจไปทั่วถึงหมด ประเทศเขามีคนเจ็ดล้านคน แต่เขามีท้องถิ่นที่เรียกว่า แคนตอน (Canton) ถึง 23 แห่ง และเป็นเซมิอีก 3 แห่ง รวมเป็น 26 แห่ง เพื่อกระจายอำนาจไปสู่ชุมชน ประชาชนก็จะได้มีส่วนควบคุมการคอร์รัปชั่น ภาระของรัฐก็จะลดลง เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุนชุมชน

          หากชุมชนท้องถิ่นสามารถคิดเอง พัฒนาเอง อยู่อย่างมีความสุข เขาก็ไม่อยากแยกตัว เพราะเขาได้ประโยชน์จากการอยู่ร่วมกันเป็นรัฐใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งดีกว่าแยกไปโดดเดี่ยว หากรัฐใจดี ยอมให้ชุมชนคิดเอง ทำเองได้มากเท่าไหร่ เขายิ่งอยากอยู่กับเรา ถ้ารัฐยิ่งเผด็จการ ยิ่งรวมศูนย์อำนาจ เขายิ่งอยากแยก อันนี้เป็นธรรมชาติ โดยการกระจายอำนาจนี้ต้องกระจายสู่ทุกภาคของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ เราจึงจะลดความขัดแย้งได้ ภายใน 5-10 ปีนี้ เราจะรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้ จะแก้ความยากจนได้ จะแก้ปัญหาต่างๆในภูมิภาคได้ เพราะความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

          ข้อที่ 3 ต้องใช้ความจริง ความเชื่อถือไว้วางใจกัน และความยุติธรรม ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษคือ Truth, Trust, และ Justice หรือ TTJ ตอนนี้เราไม่ได้เอาความจริงเป็นหลัก แต่ความหลบซ่อน ข้อมูลลวงอะไรเยอะ ความจริงจะนำไปสู่เรื่องอื่นๆได้ อย่างในแอฟริกาใต้ที่มีความขัดแย้งมากกว่าร้อยปี ตอนหลังยุติลงได้ด้วยการใช้ Truth and Reconciliation มีตำรวจคนขาวได้มาสารภาพว่าเขาได้ฆ่าคนดำไปอย่างไรบ้างกี่คน แทนที่คนดำจะเข้าไปแล่เนื้อตำรวจคนขาว แต่ด้วยการสารภาพความจริงกลับทำให้เกิดการให้อภัยอย่างยิ่งใหญ่ ความจริงรวมถึงความจริงใจนี้จะนำไปสู่การให้อภัยได้ แต่การหลบซ่อน การหลอกกันจะยิ่งนำไปสู่ความไม่เชื่อถือ แต่ถ้ามีความไว้ใจกัน ความไว้ใจกันนี้จะเป็นทุนของการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่มาก ทำอะไรก็ง่ายไปหมด

          เรื่องความยุติธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมนุษย์ยอมได้ทุกอย่างถ้ามีความยุติธรรม แม้แต่สัตว์ ความยุติธรรมก็สำคัญ ถ้าสุนัขตัวไหนอิ่มมากเกิน และตัวอื่นอดนี้มันก็จะกัดกัน ถ้าอิ่มเท่าๆ กันก็จะเกิดความสงบ ฉะนั้นความยุติธรรมนี้สำคัญ และเราแสนจะขาดความยุติธรรม เร็วๆ นี้มีการตัดสินคดีตากใบ ก็แสนจะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ผู้คนเพราะขาดความยุติธรรม

          ข้อที่ 4 สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นในภาคใต้สามารถแก้ปัญหาความยากจนด้วยตนเอง เพราะความยากจนนั้นบีบคั้น ให้เขาคิด เขาทำด้วยตัวเองแล้วรัฐสนับสนุน อย่างหนึ่งที่น่าสนับสนุนคือการตั้งศูนย์อาหารฮาลาลปัตตานีให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แล้วเชื่อมโยงอาชีพของคนในสามจังหวัดหมดทุกคนทั้งอาชีพเกษตรกรรม ประมง ปศุสัตว์ ให้เข้ามาสู่อาหารฮาลาล และทำอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพสูง ส่งไปขายทั่วโลก ให้คนมุสลิมในสามจังหวัดภูมิใจในศูนย์อาหารฮาลาลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

          ข้อที่ 5 สนับสนุนให้ปัตตานีเป็นศูนย์ศึกษาวิชาการอิสลามที่สำคัญของโลกตามที่เขาเคยเป็น ถ้าปัตตานีมีศูนย์การศึกษาศาสนาที่มีชื่อเสียง เป็นแสงสว่างแห่งอิสลาม (Light of Islam) คนที่อื่นก็เข้ามาเล่าเรียน มีการศึกษาที่ลึกซึ้ง ตรงนี้จะเป็นจุดแข็งที่คนจะภูมิใจ เป็นเรื่องของการสนับสนุนอัตลักษณ์ของเขา ประเทศไทยก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ทั้งประเทศไทยและโลกเองกลับจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะปัจจุบันโลกเป็นวัตถุนิยมเกินแล้ว ควรที่จะเรียนรู้จากมุสลิมที่เขาเคร่งศาสนา ควรทบทวนตรงนี้โดยใช้วิถีมุสลิมเข้ามาลดวัตถุนิยม

          เรามีประชาคมมุสลิมในประเทศไทย ถ้าเราสนับสนุนอัตลักษณ์จริงอย่างที่พูดก็ควรจะสนับสนุนให้เขาเข้ามาร่วมกันทำ เป็นประชาคมมุสลิมที่เคร่งศาสนา มีความเจริญ หลุดพ้นจากความยากจนและรักสันติ ก็จะมีความหมายสำหรับโลกมาก เพราะโลกขณะนี้มีความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมอิสลามซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุด และถ้าเรามีประชาคมมุสลิมอยู่ในประเทศไทยที่มีความรู้ทางศาสนาดี พ้นจากความยากจน มีการศึกษาดี และรักสันติ ก็จะเป็นพลังสร้างสันติภาพในโลกที่ออกไปจากประเทศของเรา

          ส่วนวิธีการ 7 ประการมีดังต่อไปนี้ คือวิธีการที่ 1 สร้างภาคียุทธศาสตร์ 4ส เพื่อแก้ความอ่อนแอทางทฤษฎีของกองทัพและความอ่อนแอทางการเมืองของพรรคการเมือง ไม่ควรมีใครทำงานแบบดิ่งเดี่ยว แต่ควรจะเป็นภาคีกัน นายกฯและผู้นำฝ่ายค้านก็ควรทำร่วมกัน เพราะการแก้ปัญหาความรุนแรงไม่มีการแยกฝ่าย การเมืองนั้นแยกฝ่าย แต่การพัฒนาและการแก้ปัญหาไม่แยกฝ่าย นักศึกษา 4ส สื่อมวลชน นักวิชาการ นักสันติวิธี ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในภาคใต้ กองทัพ นักการเมืองทั้งหมดควรอยู่ในนี้ มาร่วมกันฟอร์มเป็นภาคียุทธศาสตร์ 4ส

          4ส หมายถึงเสริมสร้างสันติสุข แม้การเมืองจะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย อ่อนแอไป แต่ตัวภาคียังอยู่ เพื่อความต่อเนื่อง เพื่อช่วยกัน ถ้าอาศัยการเมืองอย่างเดียว นักการเมืองเปลี่ยนแปลง เดี่ยวคนนั้นคนนี้เป็น แล้วก็ไม่เข้าใจ ก็จะอ่อนแอในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพได้ ดังนั้น ควรจะทำงานเป็นภาคีตรงนี้ ถึงอะไรจะเปลี่ยนไป แต่ตัวภาคีก็จะยังอยู่ เพื่อความต่อเนื่องทางยุทธศาสตร์

          วิธีการที่ 2 คือกองทัพควรตั้งกลุ่มหรือสำนักทฤษฎีสันติวิธี ตามข้อเสนอในเอกสารของคณะนักศึกษา4ส เพราะทฤษฏีอ่อนไปแล้วในกองทัพ และก็ต้องฝึกสันติวิธีในกองทัพ เพราะสันติวิธีหากไม่เข้าใจก็จะทำไม่เป็น เพราะ reaction ของมนุษย์นั้นมันเป็นเรื่องการต่อสู้ เรื่องความกลัว ทำสันติวิธีไม่เป็น จึงต้องมีการฝึกอบรม

          วิธีการที่ 3 คือยุทธศาสตร์การสื่อสาร เนื่องจากเราต้องการสร้างจินตนาการอันใหม่ของประเทศไทย และการสร้างความเป็นเอกภาพทางยุทธศาสตร์ การสื่อสารจึงสำคัญที่สุด ต้องทำการสื่อสารอย่างทั่วถึง

          วิธีการที่ 4 คือการสานเสวนาเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นการคุยกันเพื่อสันติภาพ อันนี้ต้องขอเตือนว่าอย่าเข้าใจผิด เป็นการพูดทางลบเยอะ จะโดยฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ การพูดคุยไม่ใช่การเจรจาตกลง การเจรจาตกลงมันบีบคั้น มันยังตกลงไม่ได้ก็เลยปฏิเสธการเจรจาตกลง แต่การพูดคุยกันในฐานะเพื่อนมนุษย์เป็นของดี แล้วต้องมองคนที่เห็นต่างว่าไม่ใช่ศัตรู เขาเป็นเพื่อนมนุษย์กับเรา เราต้องไปถึงจิตใจตรงนี้ และทุกคนจะสัมผัสกันได้ด้วยจิตใจ ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ เห็นต่างนั้นไม่เป็นไร ไม่มีคนสองคนเห็นหรือคิดเหมือนกันหมด ลูกแฝดไข่ใบเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย นายอินนายจันเป็นแฝดไข่ใบเดียวกัน มีดีเอ็นเอเหมือนกันเป๊ะทุกตัวยังตีกันเลย เพราะเราคิดเชิงเอกนิยมเกินไป จึงเข้าไม่ถึงความหลากหลาย ธรรมชาตินั้นมีความหลากหลาย ซึ่งการพูดคุยนี้ไม่ใช่มาตกลงกัน แต่คุยกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ คุยกันเพื่อสันติภาพ ระหว่างคนที่เห็นต่างกัน ถ้ามาคุยกันได้ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

          ขอเตือนฝ่ายการเมือง แม่ทัพนายกอง องคมนตรีด้วย โปรดทำความเข้าใจ อย่าพูดอะไรผลีผลามง่ายๆ จะพูดต้องไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง การพูดคุยที่เรียกว่า Peace Talks ในฐานะเพื่อนมนุษย์เป็นของดีเสมอ ลองไปดูความขัดแย้งทุกชนิดในโลกที่เขารุนแรงยิ่งกว่าเรา ในที่สุด หยุดลงเพราะการคุยกัน ให้หัวใจสัมผัสกัน ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

          วิธีการที่ 5 คือการสร้างเครือข่ายสันติภาพในภาคใต้อย่างที่เสนอไว้ในเอกสาร อย่าเป็นราชการใดดิ่งเดียวไป (Vertical) ถ้าเป็นดิ่งเดียวจะแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องไปเครือข่ายกันหมดเลย ผู้นำชุมชน ครู ราชการ ทหาร พลเรือน เอ็นจีโอ สื่อมวลชนมารวมกันเป็นเครือข่าย และเครือข่ายที่เจอกันบ่อยๆ คุยกันบ่อยๆ มันจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้

          วิธีการที่ 6 คือการเป็นมิตรกับประชาคมมุสลิมทั่วโลก สำคัญเราต้องเป็นมิตรกับตะวันตก กับฝรั่งแต่ไม่ใช่ลูกน้องฝรั่ง ไม่ได้เป็น Satellite หรือสมุน แต่เป็นมิตรกับฝรั่ง และเป็นมิตรกับประเทศมุสลิมทั่วโลก ซึ่งจะมาช่วยการแก้ปัญหากัน

          วิธีการที่ 7 อาจจะพิจารณาการออกคำสั่งทำนองเดียวกันกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 หลังการประชุมกันวันนี้แล้ว ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด ทั้งปรัชญา แนวทาง ยุทธศาสตร์ เอาไปใช้กันอย่างทั่วถึงเพื่อความเป็นเอกภาพทางยุทธศาสตร์

          ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ เรื่องสาเหตุ เรื่องระบบของความหลากหลายในร่างกายเดียวกัน เรื่องหลักการ 5 ประการและวิธีการ 7 ประการ ขอเสนอท่านทั้งหลายไว้พิจารณาเพื่อประกอบการขับเคลื่อนต่อไป ขอให้คนไทยทั้งหมดร่วมกันไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใด สร้างสันติภาพขึ้นให้ได้ในดินแดนแห่งนี้ และเป็นกำลังกับเพื่อนมนุษย์ทั้งโลกเพื่อขับเคลื่อนสร้างสันติภาพในโลก ขอบคุณครับ