Skip to main content

 ยะลา – เสียงสะท้อนจากมาตรการเคอร์ฟิวจากในพื้นที่ชี้เป็นมาตรการเดิมวิธีคิดเก่า บทเรียนในอดีตย้ำว่าไม่ได้ผล ทั้งยังไม่ส่งผลใดๆ ต่อกลุ่มที่ก่อเหตุ เตือนรัฐอาจเสียรังวัดเสียเองเหตุจากเจ้าหน้าที่เพลี่ยงพล้ำและชาวบ้านเดือดร้อน เชื่อแนวทางที่ได้ผลคือการผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เดินหน้าต่อ

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวจะไม่มีผลอะไรต่อการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบเลย เนื่องจากมาตรการทำนองนี้ได้เคยลองทำมาแล้ว เช่น ระบบเซฟตี้โซน การตั้งด่านตรวจบนท้องถนน แม้แต่การตั้งด่านลอย บางช่วงเวลาเราก็เคยประกาศเคอร์ฟิวมาแล้วในอดีต  วันนี้เป็นอย่างไร ได้ผลหรือไม่ก็เห็นๆ กันอยู่ เกือบหนึ่งทศวรรษเข้าไปแล้ว เหตุรุนแรงก็ยังคงเกิดได้ทุกวัน

“เราน่าจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการต่อสู้กันทางยุทธวิธีในสนามรบ มาเป็นร่วมกันผลักดันกระบวนการสันติภาพให้ก้าวหน้ารุดไปมากกว่า เพราะกระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางที่ยอมรับกันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล” ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าว

ด้านนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง  ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรเสริมสังคมสันติสุขจังหวัดชายภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษที่พร่ำเพรื่อ ไม่ถือเป็นหลักประกันใดๆ เลยที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกระบวนการสันติภาพถูกกัดกร่อนตลอดเวลา บทเรียนการประกาศใช้เคอร์ฟิวในอดีตเป็นการสร้างแรงกดดันแก่ผู้ใช้ความรุนแรงทุกๆ ฝ่าย โอกาสที่รัฐจะเพลี่ยงพล้ำเรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขตกลับจะมีมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ที่กระทบและทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และท้ายสุดจะเป็นเครื่องมือในการกระพือข่าวความรุนแรงในหมู่ประชาชน ให้ต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น

“รัฐต้องเร่งการหากระบวนการสันติภาพในแนวทางสันติวิธีโดยฉับพลัน ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาสังคม เดินหน้าเรื่องการตรวจสอบสืบสวนเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นในขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว  ต้องสร้างกระบวนการความเข้าใจในแก่ประชาชน ในทุกมิติของโครงการของรัฐ โดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมให้มีคุณภาพมากและใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรเสริมสังคมสันติสุขจังหวัดชายภาคใต้  กล่าว

ส่วน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่งานการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด งานยุทธการทางการทหารแม้จะสำคัญ แต่ต้องรองรับงานการเมืองหรืองานมวลชน จากประสบการณ์เก้าปีที่ผ่านมา แม้แต่ฝ่ายทหารเองก็ได้สรุปบทเรียนว่าการจัดการความไม่สงบที่มีประสิทธิผลกว่าคือการใช้งานการเมืองไปสลายงานการทหารและการเมืองของฝ่ายขบวนการ โดยเฉพาะการหยุดยั้งการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม

เขากล่าวต่อว่า การลดความรุนแรงที่บางพื้นที่ซึ่งเคยมีการประกาศเคอร์ฟิวในอดีต เช่น บันนังสตาหรือยะหานั้น อยู่ที่การปฏิบัติการด้านอื่นๆ ของฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ในการหยุดยั้งการปฏิบัติการของฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่า โดยที่มาตรการเคอร์ฟิวมีส่วนน้อยมากในการลดปัญหา แต่กลับจะไปเร่งปัญหาความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องเดือดร้อนจากการไปละหมาดหรือขนส่งสินค้าเกษตรตอนกลางคืน จนในที่สุดทำให้ต้องยกเลิกเคอร์ฟิวไปในเวลาต่อมา นอกจากนี้แล้ว คนโดยทั่วไปในเขตพื้นที่สีแดงก็รู้ตัวเอง พวกเขามักจะไม่ออกไปไหนไกลๆ ตอนกลางคืนอยู่แล้ว เว้นแต่ที่ไม่ระวังตัวจริงๆ หรือประมาทว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ต้องระมัดระวังตัวกันให้มากขึ้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวต่อไปว่า เหตุผลอีกด้านหนึ่งก็คือสถิติการเกิดเหตุที่ผ่านมา ร้อยละ70-80 มักจะเกิดตอนกลางวัน โดยเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็น การประกาศเคอร์ฟิวจึงไม่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด หากทางการประกาศเคอร์ฟิวก็จะทำให้ฝ่ายที่ก่อเหตุความไม่สงบก็น่าจะได้เปรียบทางการเมืองมากขึ้นไปอีก เพราะจะส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในขณะที่รัฐก็จะเสียความชอบธรรมลงไปอีก ภาพลักษณ์กับต่างประเทศก็จะเลวร้ายลงไปยิ่งขึ้น เพราะคำว่า “เคอร์ฟิว” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับข่าวต่างประเทศ

“หากพิจารณาดูแล้วการตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้จึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลได้อย่างมากมาย รัฐบาลควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้” ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวทิ้งท้าย