Skip to main content

ตติกานต์ เดชชพงศ 

สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (IEP: Institute for Economics and Peace) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลสรุปดัชนีก่อการร้าย (Global Terrorism Index: GTI) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2555 ซึ่งเป็นการรวบรวมและประเมินข้อมูลสถิติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ.2545-2554 หรือหลังเกิดเหตุวินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2544 พบว่าสถิติการก่อความรุนแรงและการก่อเหตุไม่สงบใน 158 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้รับการบันทึกรายละเอียดมากกว่า 104,000 เหตุการณ์

ส่วนรายชื่อ 10 ประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากก่อการร้ายมากที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของจีทีไอ ได้แก่ (1) อิรัก (2) ปากีสถาน (3) อัฟกานิสถาน (4) อินเดีย (5) เยเมน (6) โซมาเลีย (7) ไนจีเรีย (8) ไทย (9) รัสเซีย และ (10) ฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม การที่สื่อมวลชนไทยหลายสำนักรายงานว่า ไทยเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบมากเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2554 อาจเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับผลสรุปของดัชนีก่อการร้ายสักเท่าใด เพราะดัชนีจีทีไอเป็นการประเมินว่าประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากน้อยเพียงไร โดยอาศัยสถิติรวมการก่อเหตุ, สถิติผู้เสียชีวิต, สถิติผู้บาดเจ็บ และความสำเร็จในการลงมือก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายมาประกอบการพิจารณา

จากนั้นจึงนำสถิติที่ได้ไปพิจารณาควบคู่กับดัชนีสันติภาพโลก หรือ ‘ดัชนีจีพีไอ’ (Global Peace Index: GPI) ซึ่งเป็นการให้คะแนนความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล, บรรยากาศทางเศรษฐกิจ, การเข้าถึงทรัพยากรของคนในสังคม, เสรีภาพและความลื่นไหลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร, การยอมรับในสิทธิของผู้อื่น, ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน, สถิติการทุจริตคอรัปชั่น และระดับการศึกษาของประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดโดยสหประชาชาติ เพื่อใช้ในการพิจารณาความสงบสุขของแต่ละประเทศทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ การที่ประเทศไทย ‘ได้รับผลกระทบ’ จากการก่อการร้ายมากเป็นอันดับ 8 ของโลก จึงไม่ได้หมายความว่าไทยมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นมากเป็นอันดับ 8 ของโลก เนื่องจากสถิติการก่อเหตุทั่วประเทศไทยเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 173 ครั้ง, สถิติผู้เสียชีวิต 142 ราย และสถิติผู้บาดเจ็บ 427 ราย

ขณะที่ ‘รัสเซีย’ ซึ่งติดอันดับ 9 ของดัชนีจีทีไอมีสถิติการก่อเหตุในปี 2554 รวม 182 ครั้ง, สถิติผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 159 ราย และสถิติผู้บาดเจ็บ 431 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่มากกว่าไทยทุกด้าน แต่เมื่อพิจารณาความสำเร็จในการลงมือก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้าย จะพบว่ารัสเซียสามารถป้องกันหรือลดทอนความรุนแรงจากการก่อเหตุได้ดีกว่าประเทศไทย ส่วน ‘เยเมน’ ซึ่งติดอันดับ 4 มีสถิติการก่อเหตุเพียง 113 ครั้ง แต่มีสถิติผู้เสียชีวิต 454 ราย ผู้บาดเจ็บ 415 ราย และมีกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะคะแนนดัชนีสันติภาพซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย.2555 จะพบว่าประเทศไทยมีคะแนนความสงบสุขมากเป็นอันดับที่ 70 จากจำนวน 158 ประเทศซึ่งได้รับการสำรวจทั้งหมด ขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งติดอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในดัชนีก่อการร้าย ‘จีทีไอ’ มีคะแนนดัชนีสันติภาพ ‘จีพีไอ’ ตั้งแต่อันดับที่ 71-158 ซึ่งน้อยกว่าคะแนนที่ไทยได้รับ บ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่สันติภาพในแต่ละประเทศ ย่อมมิใช่แค่การควบคุม ‘สถิติการก่อเหตุ’ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดจากการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมด้วย

ประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาก่อการร้ายตามแนวทางสากลจึงขึ้นอยู่กับความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงความมั่นคงของภาคธุรกิจ, การกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน, การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, การเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม, การรักษาความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน, การผลักดันกลไกตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น และการส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสทางการศึกษา

นอกจากนี้ ดัชนีจีทีไอยังมีบทสรุปที่น่าสนใจอีก 5 ประการ ได้แก่


(1) กลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อก่อการร้ายในเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี พ.ศ.2545-2554 ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน, เจ้าหน้าที่รัฐบาล, ตำรวจ และเจ้าของกิจการเอกชน ขณะที่การพุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารคิดเป็นร้อยละ 4 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้น


(2) การก่อการร้ายมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้รวมในระดับปานกลางไปถึงต่ำ ขณะที่ประเทศยากจนกลับมีสถิติการก่อการร้ายในสัดส่วนที่น้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าความยากจนไม่ใช่ประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย


(3) ปัจจัยหลักที่มีความสัมพันธ์กับการก่อการร้ายทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง, บทบาทขององค์กรกลางหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง, การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกดขี่ที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่กลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม


(4) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศระบอบประชาธิปไตยบกพร่อง (Flawed Democracy) ซึ่งดัชนีจีทีไอระบุว่าเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งเสริมให้เกิดกลุ่มก่อการร้าย


(5) เหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในไทยช่วงปี พ.ศ.2545-2554 จากการรายงานของดัชนีจีทีไอ ได้แก่ กรณีกลุ่มคนร้ายบุกยิงผู้ประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2552


หมายเหตุ: ดัชนีก่อการร้ายฉบับเต็มดาวน์โหลดได้ที่


http://www.visionofhumanity.org/gpi-data/#/2012/OVER/
> http://www.visionofhumanity.org/terrorismindex/about-the-gti