Skip to main content

ศัลยา ประชาชาติ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2552

 
 
งบดับไฟใต้ทะลุแสนล้าน
การเมืองนำการทหาร
ฤาแค่ละลายแม่น้ำ ?
 
ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดาสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่แบกรับคาดหวังว่าเมื่อได้มาเป็นรัฐบาลแล้ว การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีทิศทางที่เป็นรูปธรรม เห็นผลชัดเจนรวดเร็ว
เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นพรรคการเมืองที่ชูนโยบายหาเสียงดับไฟใต้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อครั้งที่ถูกโดดเดี่ยวให้เป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ยังเคยออกมาสับแหลกถึงความล้มเหลวและถามหาความจริงใจของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามในการแก้ไขปัญหาอยู่บ่อยครั้ง
เป้าประเด็นจึงอยู่ที่วาทะ “การเมืองนำการทหาร” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนำเอาตัวเลขของงบประมาณที่ทุ่มลงไปมหาศาลตลอด 5 ปี มาพิจารณาควบคู่ไปด้วย ก็จะพบว่าวิธีการทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาสะเปะสะปะเป็นอย่างยิ่ง 
เบื้องต้น งบประมาณในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบดับไฟใต้ในภาพรวม 2.งบความมั่นคง ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งมีกองทัพเป็นตัวขับเคลื่อน
เอกสารจากสำนักงบประมาณ ระบุว่า งบประมาณภาพรวมนั้นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2547 ได้รับ 5,039 ล้านบาท ,ปี 2551 ได้รับ 15,488 ล้านบาท และ ปี 2552 อยู่ที่ 27,547 ล้านบาท
ประกอบกับงบซีอีโอ งบกลาง งบค่าใช้จ่ายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยา ฯลฯ 5 ปีรวมแล้วเป็นเงิน 9,959 ล้านบาท
เมื่อแยกงบดับไฟใต้เป็นรายปี พบว่า ปี 2547 ได้รับ 13,450 ล้านบาท ,ปี 2548 ได้รับ 13,647 ล้านบาท ,ปี 2549 ได้งบ 14,207 ล้านบาท ,ปี 2550 เพิ่มเป็น 17,526 ล้านบาท ,ปี 2551 ได้รับ  22,988 ล้านบาท และปี 2552 ทะลุเป็น 27,547 ล้านบาท
รวม 5 ปี งบดับไฟใต้ใช้ไปแล้วทั้งหมด 109,396 ล้านบาท ซึ่งแบ่งย่อยเป็นงบด้านความมั่นคง 51,385 ล้านบาท และงบพัฒนา 58,011 ล้านบาท
เฉพาะในปี 2552 ตัวเลขที่จัดสรรเป็นรายกระทรวง จากยอดรวมงบประมาณทั้งสิ้น 27,547 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม ได้รับ 7,824 ล้านบาท ,สำนักนายกรัฐมนตรี (รวม กอ.รม.) ได้รับ 7,656 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรร 758 ล้านบาท
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรชุดต่างๆ ว่า งบประมาณที่ กอ.รมน. ได้รับปีล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ได้รับจัดสรรโดยไม่ต้องชี้แจงรายละเอียด หรือที่เรียกว่า “เอาเงินไปก่อน ค่อยคิดโครงการทีหลัง”
ในขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) หน่วยงานด้านการพัฒนาได้รับงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 7,500 ล้านบาท ที่กอ.รมน. เป็นผู้เบิกจ่าย
คำถามคือ งบประมาณปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ตกถึงมือ ศอ.บต เพียง 1,400 ล้านบาท จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารหรือไม่ 
เมื่อดูที่ กอ.รมน.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างภายในมีทหารเป็นหน่วยนำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2552 อยู่ที่ 8,222 ล้านบาท โดยเป็นงบแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,535 ล้านบาท (ร้อยละ 91)
ซึ่งจากการตรวจสอบงบประมาณจากแหล่งข่าวระดับสูงใน กอ.รมน. พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของ 7,535 ล้านบาทนั้น หมดไปกับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ซึ่งประจำการในพื้นที่ 66,607 นาย เป็นทหารจากกองทัพภาคต่างๆประมาณ 30,000 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 18,000 นาย และอีกประมาณ 18,000 นายเป็นฝ่ายปกครอง อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
เฉพาะเบี้ยเลี้ยงกำลังพลของทหาร ต่อคนต่อวัน แบ่งตามชั้นยศคือ ชั้นประทวน 160 บาท, ร้อยตรีถึงร้อยเอก 180 บาท พันตรีถึงพันเอก 210 บาท และพันเอกพิเศษ 240 บาท โดยมีเบี้ยเสี่ยงภัยต่อเดือนให้กับชั้นประทวน 1,500 บาท ส่วนสัญญาบัตร ได้ 2,500 บาท รวมแล้วประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท
ขณะที่ ชรบ. ได้ค่าตอบแทน 20,000 บาทต่อเดือนต่อหมู่บ้าน จากในพื้นที่กว่า 4 พันหมู่บ้าน ตกราว 80 ล้านบาท ซึ่งงบตรงนี้เบิกจากกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เก็บสถิติ 65 เดือน (มกราคม 2547-พฤษภาคม 2552) เกิดเหตุการณ์ประมาณ 8,908 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,471 คน บาดเจ็บประมาณ 5,740 คน รวมทั้งสิ้น 9,211 คน
ทีมวิจัยพบอีกว่า หน่วยงานที่เข้าชุมชนมากที่สุดคือหน่วยงานสาธารณสุข รองลงมาคือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง ส่วนอันดับสามคือ ทหารหน่วยสัมพันธ์มวลชน ตามมาด้วยผู้นำศาสนา โดยข้อสังเกตคือบทบาทของหน่วยทหารที่เข้าไปในชุมชนมีระดับความถี่ค่อนข้างสูง
แต่ปรากฏว่าความรู้สึกเชื่อถือไว้ใจของประชาชน หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ผู้นำทางศาสนา ,ครู หมอพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นักวิชาการมหาวิทยาลัย และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตามลำดับ
หน่วยงานที่ได้ความเชื่อถือไว้ใจลำดับท้ายสุดคือตำรวจทหาร เนื่องจากปฏิบัติการมีแนวโน้มที่จะสร้างความรู้สึกกลัวและหวาดระแวงให้ประชาชนได้ง่าย
นอกจากนี้ ร้อยละ 50.7 ของกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะยังคงใช้ทหารมาจัดการกับปัญหาความไม่สงบ
ในส่วนของนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยประกาศไว้ เช่น ตั้งองค์กรใหม่ดับไฟใต้ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ยังไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี อีกทั้งการทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 5 เดือนของรัฐบาล กลับมีการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปแล้ว 2 ครั้ง (ครั้งต่อไป เดือนกรกฎาคม 2552 ) ซึ่งจะครบ 4 ปีการประกาศใช้
ขณะที่การตั้ง ครม.ชุดเล็กดับไฟใต้ มีการประชุมกันไปเพียง 1 ครั้ง โดยมีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายภารกิจเพิ่มเติม
 แม้จะเข้าใจได้ว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้ามขวานซึ่งเรื้อรังยาวนานมากว่า 5 ปี มีความซับซ้อนต้องใช้เวลามากพอสมควร
แต่รัฐบาลจะปล่อยให้เงินจำนวน 1 แสนล้านบาทละลายแม่น้ำ ไปโดยไม่เกิดมรรคผลอะไรเลยหรือ
สิ่งที่ควรเร่งทำเป็นอันดับแรกคือ อธิบายว่าอะไรคือการเมืองนำการทหาร ให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจ
พร้อมๆกับมีการตรวจสอบงบประมาณแสนล้านว่ามีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน
เพื่อไม่ให้ใครหยิบมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในอนาคตได้อีก