Skip to main content

ฟารีดา ขจัดมาร

 

 

 

บทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐเมริกาในช่วงหลังยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โตซึ่งถือเป็นยุคแห่งการสิ้นสุดเผด็จการทางทหารหรือยุคระเบียบใหม่ที่ทอดยาวมาหลายทศวรรษ พร้อมกับการเข้าสู่ทศวรรษใหม่หลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น สภาพแวดล้อมดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาความสัมพันธ์ในด้านการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์และการเมืองที่สามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนี้ ยังต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองภายในประเทศในระยะเริ่มต้นของประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเองที่ชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในประเทศจะสามารถทำให้อินโดนีเซียสร้างทางเลือกของนโยบายด้านความมั่นคงที่ต้องถ่วงดุลระหว่างการพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพภายในประเทศได้อย่างไร

 

1. บริบทของ ภูมิศาสตร์การเมือง

           

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างช่องทางการติดต่อสำคัญระหว่างมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก  ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออก  ทุกๆ ปี ทรัพยากรทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกขนส่งจากประเทศแถบอ่าวเปอร์เชียและประเทศออสเตรเลียโดยการนำเข้าของจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้เรือเดินทะเลเป็นจำนวนกว่าครึ่งของโลกแล่นผ่านน่านน้ำอินโดนีเซียทุกปี

 

 

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตัวแสดงสำคัญที่พึ่งพิงน่านน้ำอินโดนีเซียโดยเฉพาะการใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา นอกจากนี้อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางการกองกำลังภายการบังคับบัญชาของสหรัฐอเมริกาในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีอาณาบริเวณตั้งแต่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐอเมริกาสู่อ่าวเปอร์เซียและชายฝั่งทางตะวันออกของแอฟริกา 

 

ช่องแคบ Ombai ของอินโดนีเซีย ที่อยู่ทางตอนเหนือของของติมอร์และช่องแคบ Lombok นั้นมีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้สำหรับเดินเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์และเรือดำน้ำติดอาวุธระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย การเข้าถึงช่องทางการเดินเรือนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาในการพยายามปิดล้อมจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่กำลังมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

          นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมองเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เป็นแหล่งของทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญซึ่งประกอบไปด้วย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในปี 1940 สหรัฐอเมริการับรายได้ 30 เปอร์เซ็นจากการค้าน้ำมันของบริษัท Netherlands East Indies Caltex และ Stanvac  ในช่วงปี 2001 ส่วนแบ่งตลาดของอินโดนีเซียในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเสียเปรียบในด้านการค้าเมื่อเทียบกับจีน 

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการลงทุนของต่างชาติส่วนใหญ่โดยเฉพาะช่วงปี 1967-1984  ในปัจจุบันมีบริษัทของสหรัฐอเมริกากว่า 300 บริษัทอยู่ในอินโดนีเซีย เช่น Texaco Chevron และ Mobile  นอกจากนี้ยังมีการทำเหมืองแร่อย่างกว้างขวางที่นำโดยบริษัทสำคัญอย่างเช่น Freeport  McMoran ซึ่งเป็นบริษัทในการทำเหมืองทองและทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในปาปัวตะวันตก[1]

 

             ตั้งแต่การโจมตีอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนในปี 2001 ทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนักความสำคัญของอินโดนีเซียในการจัดการกับปัญหาการก่อการร้าย  ในฐานะที่ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นเพียงประเทศมุสลิมเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่และมีความสำคัญต่อการติดตามกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกาห่วงใยต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของประธานาธิบดีคลินตัน  และน่าห่วงกังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการโจมตีวอชิงตันและนิวยอร์กและการระเบิดไนต์คลับที่บาหลีในปี 2002 และปี 2005 [2]

 

จากปัจจัยดังกล่าวจึงน่าสนใจว่าอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะกว่า 17,000 เกาะ และมีประชากรร่วมกว่า 220 ล้านคน หากต้องเผชิญกับปัญหาการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาจะมีจุดยืนอย่างไร? ในการปกป้องผลประโยชน์และความมั่งคงของประเทศตน การศึกษาความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียในด้านการเปลี่ยนแปลงการให้ความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกาต่ออินโดนีเซีย ช่วงหลังการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โตจนถึงปัจจุบันอาจให้ภาพของคำตอบของโจทย์ดังกล่าวได้ไม่น้อย

 

2. มิตรทางทหารในช่วงซูฮาร์โต

 

สหรัฐอเมริกาเข้ามามีความสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากต้องการหยุดยั้งการแพร่ขยายอิทธิพลของค่ายคอมมิวนิสต์ โดยร่วมมือกับผู้นำชาตินิยมของอินโดนีเซียในช่วงของการการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เมดานในชวาตะวันออกเมื่อปี 1948 และมีส่วนที่ทำให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากดัตช์ในปี 1946 แม้ว่าอินโดนีเซียจะยอมรับในความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา แต่ชนชั้นนำของอินโดนีเซียก็มีความเคลือบแคลงต่ออำนาจภายนอก โดยเฉพาะการเข้ามาเกี่ยวข้องของมหาอำนาจ ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการรักษาผลประโยชน์ของตน

 

ในช่วงประธานาธิบดีซูการ์โน สหรัฐอเมริกาพยายามเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันทางการเงินและให้ความสนับสนุนทางทหารของอินโดนีเซียผ่านโครงการปฏิบัติการพลเรือน (The Civic Action Program) ทำให้กองทัพอินโดนีเซียได้เพิ่มบทบาทมากขึ้นในการเมืองท้องถิ่นและการพัฒนา รวมถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการในมิติทางสังคมและการเมืองมากขึ้น นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังมีโครงการฝึกอบรมต่างๆ มากมาย ซึ่งผลิตผู้จบหลักสูตรหลายร้อยคนในปี 1965

 

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสหรัฐอเมริกาในการเข้ามาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากต้องเผชิญกับกระแสชาตินิยมในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โน ประกาศให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ในช่วงปี 1955 ประธานาธิบดีผู้นี้ทั้งชื่นชมและประณามชาติมหาอำนาจผ่านเจตนารมณ์และความคิดของเขาที่ค่อยๆ ซึมผ่านชาวอินโดนีเซียมาหลายยุคหลายสมัยโดยเฉพาะในการตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างทุนนิยมและจักรวรรดินิยม

 

          การให้ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาต่ออินโดนีเซียมามีความชัดเจนมากขึ้นและดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งสหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เขาก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนที่ซูการ์โนในปี 1956 ซูฮาร์โตมีแผนการสำคัญในการต่อต้านกลุ่มคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งตามมาด้วยการสังหารนายพลคนสำคัญสามนายในเดือนตุลาคมเมื่อปี 1965 มาตรการเด็ดขาดของเขานำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนร่วม 300,000 คนและผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์จำนวนมาก[3] แม้ว่าบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการนำซูฮาร์โตก้าวขึ้นมามีอำนาจนั้นไม่สามารถบ่งบอกได้อย่างแน่ชัด แต่เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อินโดนีเซียได้ปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ทั้งที่เป็นกลุ่มกองกำลังภายในประเทศและกลุ่มเคลื่อนไหวภายนอกประเทศ

 

ประธานาธิบดีซูฮาร์โตกับประธานาธิบดีเรแกนระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม 1982

 

          การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการประเทศอินโดนีเซียกับระบอบทุนนิยมโลกและการปรับปรุงนโยบายต่างประเทศที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาได้ยุตินโยบายการเผชิญหน้ากับมาเลเซียที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน (Konfrontasi)  มีการยุติความความสัมพันธ์กับชาวจีนภายในประเทศและมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนนโยบายที่เดินตามตะวันตก ซึ่งเป็นการพยายามขับเคลื่อนความมั่นและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ ในปี 1967 อินโดนีเซียเป็นผู้นำสำคัญในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจแต่มีวาระในการดำเนินการต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายในภูมิภาค บทบาทของอินโดนีเซียในการต่อต้านสงครามเวียดนามนี้เองที่ทำให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรนั้นมีความยินดีและให้การสนับสนุนทางการเมืองโดยการพยายามให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาหลายประการ

 

         อินโดนีเซียภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้มีระดับที่สูงขึ้น โดยมีนักเทคโนเครทชาวอเมริกันเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยดำเนินการตามแนวทางของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ผ่านสถาบันทางการเงิน คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และธนาคารโลก (World Bank)

 

ในขณะเดียวกันก็เผชิญหน้ากับการต่อต้านของนักเศรษฐศาสตร์ชาตินิยมภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงของการเผชิญวิกฤติน้ำมันในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 แต่อินโดนีเซียก็มีระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเพิ่มขึ้น โดยอาศัยสหรัฐอเมริกาในการเป็นผู้ช่วยเหลือในการก่อให้เกิดความมั่นคงในประเทศและภายในภูมิภาค เพื่อโดยแลกกับการเอื้อในการเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันของสหรัฐ  เช่น บริษัท Caltex ซึ่งดำเนินการอยู่ในเรียวและธุรกิจเหมืองแร่ โดยมีบริษัท Free Port ซึ่งดำเนินการอยู่ในปาปัว

 

          ในช่วงของการบริหารของประธานาธิบดีซูฮาร์โต มีการจับกุมนักโทษทางการเมืองมากมายโดยปราศจากการนำตัวเขาสู่กระบวนการยุติธรรมและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ในติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1991 (โดยสหรัฐอมริกาเองในขณะนั้นเป็นผู้ส่งออกทางด้านอาวุธ ตั้งแต่ในปี 1975 เป็นต้นมา)[4] ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในสภาครองเกรสของสหรัฐอมริกา และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาในทิศทางที่ลดลง เช่น มีการเลื่อนการโครงการฝึกโครงการการให้การศึกษาและการฝึกอบรมทางการทหารระหว่างประเทศ (International Military Education หรือ IMET) ที่ให้กับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียออกไป นอกจากนั้นยังเป็นจุดที่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถเพิกเฉยกับการคอรัปชั่นของรัฐบาลประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้อีก

 

นอกจากนี้ในช่วงท้ายของยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต ความตึงเครียดระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและการปกครองแบบคณาธิปไตยนั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหลังจากสงครามเย็นในปี 1997 เนื่องจากประธานาธิบดีซูฮาร์โตปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่เสนอโดย IMF เพราะจะเป็นการเปิดเผยถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกพ้องของเขา 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปพร้อมๆ กับการลดบทบาทของระบอบทหารในช่วงปี 1998 แต่อำนาจของระบอบทหารและคณาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย ระบอบเก่ายังคงอยู่รอดมาได้ภายใต้โครงสร้างและเครือข่ายความสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและการเมืองอินโดนีเซีย ซึ่งเห็นได้จากการก้าวขึ้นของพลเอกวิรันโต ซึ่งถูกเสนอชื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2004 โดยพรรคโกลคาร์ ซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลในช่วงยุคระเบียบใหม่

 

วิรันโตได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของประธานาธิบดีซูฮาร์โตและมีประวัติในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก แต่ผู้ชนะที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมาช่วงปี 2004 คือ พลเอก ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง Chief of Political affair of arms forces ในทางกลับกัน ยุทโธโยโนไม่เคยมีประวัติในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปรามปรามผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 1996[5]

 

ก่อนหน้านั้น การกระตุ้นให้มีเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1978 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งลดพึ่งพิงในการซื้ออาวุธทางยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศของอินโดนีเซีย  ตามมาด้วยการสนับสนุนของอดีตประธานาธิบดี บี.เจ. ฮาร์บิบี ในช่วงนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยีซึ่งสนับสนุนการสร้างความทันสมัยทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียผ่านการสนับสนุนทางการทหารในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990  เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาฮิด ซึ่งเสนอให้มีการตัดความสัมพันธ์การพึ่งพิงอาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐอเมริกาและกระตุ้นให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันภายในประเทศ โดยการขยายเครือข่ายการนำเข้ายุทโธปกรณ์ทางการทหารจากประเทศอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ในการคงไว้ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันของชาติ  อินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมและการประชุมการป้องกันประเทศในช่วงปี 2004  (The Indo Defence Expo and Forum) และอีกครั้งในช่วงปี 2006 โดยมีเป้าหมายในการต้องการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาการเติบโตของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 

 

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ทำให้อินโดนีเซียยังไม่สามารถพัฒนาอุตสากรรมการป้องกันประเทศของตนได้อย่างเต็มที่ กล่าวโดยทั่วไปแล้วอินโดนีเซียยังคงพึ่งพิงการนำเข้าอาวุธจากภายนอกประเทศแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ[6] 



[1] David Bouchier, “The United States, Bush and Indonesia  Bitter memories new eggshells,” in Bush and Asia : America's evolving relations with East Asia,  Mark Beeson.(London: Routledge ,2006), p.163.

[2] Vedi R. Hadiz,  Indonesia,Order and terror,” in Empire and Neoliberalism in Asia,  Vedi R. Hadiz.(New York: Routledge, 2006), p.123.

[3] Ibid.,p.167.

[4] Ibid.,p.176.

[5] Vedi R. Hadiz,  Indonesia,Order and terror,” in Empire and Neoliberalism in Asia, p.131.

[6] Rommel C. Banlaoi,  “Globalization’s impact on defence industry in Southeast Asia” in Globalization and defence in the Asia-Pacific Arm across Asia,  Geoffery Till,Emrys Chew and Joshua Ho.(New York: Routledge, 2009), p.203.