Skip to main content

 
เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา  เกิดความผันผวนของข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ความเชื่อ ของสังคมทั้งภายในและภายนอกตลอดเวลา   ฝ่ายวิจัยและบริการชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดตั้งโครงการศึกษาข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ขึ้น
 
โดย โครงการดังกล่าวมีแนวคิดเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นศูนย์ข้อมูลและความรู้สารสนเทศสำหรับสื่อมวลชนและวงการวิชาการ ซึ่งใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าและการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ โดยทางศูนย์ฯได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการเพื่อเสนอการวิเคราะห์สรุปสถานการณ์ และพัฒนาตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ทั้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม และการเมือง สถานการณ์ในชุมชนและกลุ่มคนในสังคมต่างๆ  พร้อมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ ด้านโครงสร้างของความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความรู้สึกของสังคม ชุมชน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าวว่า เนื่องจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเป็นอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความซับซ้อน จะต้องมีข้อมูลและการใช้เหตุผลอย่างถูกต้องเหมาะสม โครงการนี้ต้องการทำให้เหตุการณ์ในภาคใต้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ของสังคม เมื่อมีข้อมูลและความรู้แล้ว ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชนทั่วไปจะได้ช่วยเฝ้ามองและเข้าใจปัญหาในกระบวนการเรียนรู้ของสังคมมากขึ้น
 
“สถานการณ์ ที่รุนแรงและซับซ้อนขึ้น การเฝ้าดูและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัย กระบวนการและโครงสร้างบางอย่างที่มารองรับอย่างสอดคล้องเพื่อให้ผู้สนใจ ปัญหาภาคใต้มีทางเลือกในการพิจารณาปัญหาและหาทางออกในการณ์แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ให้ความเห็นว่า การทำความเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้ ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก เพื่อนำมาทำความเข้าใจความซับซ้อนของเหตุการณ์ บริบทของความรุนแรง ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ รวมทั้งความรู้สึกของคนในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายค่อนข้างมาก เพื่อให้คนที่ไม่เข้าใจปูมหลังของเหตุการณ์ได้เข้าใจ  อีกด้านข้อมูลเชิงโครงสร้างเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจปัญหา นอกจากการค้นคว้าแล้ว ยังต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ ว่าปัญหาที่เป็นจริงเป็นอย่างไรไม่ใช่แค่ความรู้สึก
 
“การสร้างพื้นที่สาธารณะ สื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ไม่ใช่การสร้างข่าวธรรมดา แต่เป็นการเปิดประเด็นในการแก้ปัญหา เช่น ประวัติศาสตร์ของพื้นที่เป็นอย่างไร พื้นที่สาธารณะเปิดโอกาสให้ได้ถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจ โดยการเก็บข้อมูลจากพื้นที่โดยเฉพาะความคิดเห็นและความรู้สึกของคนในชุมชนเช่นการทำโพลสำรวจ และงานวิจัยที่ผมและทีมงานลงไปทำในชุมชน”
 
รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าวอีกว่า ข้อดีของโครงการคือ ไม่ต้องลงทุนมากเพราะมีข้อมูลบางส่วนอยู่แล้ว เพียงแค่มาจัดให้เป็นระบบ มีโครงสร้างพื้นฐานเข้ามารองรับ คนที่สนใจก็สามารถเข้ามาหาข้อมูลที่ศูนย์ให้บริการ ยิ่งช่วงสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทั้งนักข่าวนักวิจัยมากันเป็นจำนวนมากถามหาข้อมูล ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ศูนย์ฯดังกล่าว ข้อมูลมีการอัพเดตตลอดเวลา  จะได้ข้อมูลที่กว้างและลึกด้วย ทำให้มองเห็นอะไรได้ดีกว่าเดิม
 
“การวัดการเปลี่ยนแปลงและการเฝ้าระวัง ดูจากข้อมูลที่สูงขึ้นในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าหากในช่วงนี้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นอีก ก็ทำให้เกิดการระมัดระวังตัวมากขึ้น เป็นการเตือนเพื่อให้ระวังตัว ดีกว่าเราไม่มีอะไรเตือนเลย อาจจะดูจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ความเห็นของคนในชุมชน เช่น คนในชุมชนมีความเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรทำอย่างนี้ เราก็สังเกตได้ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้อีก แต่ไม่ใช่การป้องกันทางทหาร เป็นการป้องกันในเชิงความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสาร เพราะที่ผ่านมา การจับกุม การใช้อาวุธไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ยิ่งเพิ่มความสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก”
 
ในส่วนของความน่าเชื่อถือของข้อมูล ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยว่า สามารถตรวจสอบได้จากแหล่งอื่นด้วย โดยดูในเชิงเนื้อหาว่า  น่าเชื่อถือมีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้ารัฐทำงานผิดพลาด แล้วชาวบ้านนำมาพูด เราก็ลองกลับไปดูว่า ที่ผ่านมารัฐเคยทำงานผิดพลาดหรือเปล่า ถ้าเคยผิดพลาด แสดงว่าที่ชาวบ้านพูดก็พอเชื่อถือได้พอสมควร แต่บางเรื่องที่เกินเลยไป เช่น การวางแผนที่ซับซ้อนกับต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานและเงื่อนงำอะไรเลย พิสูจน์ไม่ได้ ท้ายที่สุดถ้าไม่มีเหตุผลแล้ว ข่าวก็เงียบไปเอง เราอาจจะรับข้อมูลมาแต่ด้วยความระมัดระวัง หรือตรวจสอบจากแล่งข้อมูลอื่นก่อนที่จะสรุป
 
“คนในสังคมต้องเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สื่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นภาพ และต้องไม่เกิดภาพด้านเดียว ศึกษารายละเอียดทุกๆด้าน โครงการนี้ก็เป็นสื่อทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้ศูนย์ข่าวอิศราเป็นสื่อ เพราะใครอยากนำไปใช้ก็สามารถนำไปใช้ได้ และคนรับข่าวสารก็มีทางเลือกหลายทาง ถ้าหากทำเป็นหนังสือ ไม่แน่ใจว่าจะมีใครอ่านบ้าง ถ้าเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ก็จะมีอำนาจมากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องชาตินิยม ชาติพันธุ์ ความขัดแย้ง เป็นประเด็นที่ท้าทายของสังคม มีอำนาจในแง่ที่จะทำให้สังคมเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สร้างความรู้สึก ความคิดร่วมกัน ว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้นมาทุกคนก็จะได้ช่วยกัน มีเวทีให้คนได้เรียนรู้ และอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายได้อีกด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวทิ้งท้าย