Skip to main content
อรุณีวรรณ  บัวเนี่ยว[1]
อาทิตยา  สมโลก[2]
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นการถอดบทสรุปจากโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาสถานภาพ บทบาทการดำเนินงาน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสื่อวิทยุเพื่อร่วมสร้างสันติภาพใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง : จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” อันเป็นหนึ่งในชุดงานวิจัยที่ดำเนินการโดยคณาจารณ์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 6 ชิ้น ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation Project หรือ STEP Project) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
 
 
“วิทยุกระจายเสียง” เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นสื่อที่ทุกคน ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก พกพาสะดวก อีกทั้งยังเปิดฟังได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงอาจกล่าวได้ว่าสื่อวิทยุเป็นสื่อที่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อประเภทอื่นๆ
สำรวจตรวจตรา ค้นหาสัญญาณ
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สื่อวิทยุกระจายเสียงขยายจำนวนขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กำหนดให้คลื่นความถี่ถือเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ และรัฐต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้คลื่นความถี่ ทำให้เป็นที่มาของวิทยุชุมชนที่กระจายตัวอยู่ทุกพื้นที่รวมทั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างเช่นกัน ดังนั้น การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของสื่อวิทยุเพื่อแสดงจำนวนและตำแหน่งที่เป็นปัจจุบันที่สุดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง คือ
1.   ประชาสัมพันธ์จังหวัดทั้ง 5 จังหวัดและสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 จังหวัดสงขลา
2.   สถานีวิทยุที่ลงทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)
3.   เครือข่ายสถานีวิทยุในโครงการวิจัยการสื่อสารสุขภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

พบว่าใน
5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างมีสถานีวิทยุทั้งสิ้น 233 สถานี ดังที่จะแสดงให้เห็นในตารางต่อไปนี้
 
 
จังหวัด
 
วิทยุคลื่นหลัก
 
วิทยุชุมชน
สงขลา
8
119
สตูล
3
22
ปัตตานี
4
25
ยะลา
5
30
นราธิวาส
6
11
รวม
26
207
 
นอกจากนั้นแล้ว ข้อค้นพบจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างสถานีวิทยุจำนวน 61 สถานี พบว่า สถานีวิทยุกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโดยภาคประชาชน มีบุคลากรในสถานี จำนวน 6-10 และส่วนใหญ่เปิดดำเนินการมาแล้ว 1-2 ปี  รายได้หลักของสถานีวิทยุส่วนใหญ่มาจากการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ
นอกจากนั้นแล้ว สถานีวิทยุกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าสถานีฯ ของตนมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมความสามัคคีและสันติภาพอยู่แล้ว อีกทั้งยังเห็นว่าสถานีฯ สามารถจัดรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมความสามัคคีและสันติภาพได้ แต่ก็ต้องการรับการสนับสนุนด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเงินทุน  เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆในการจัดรายการ  ข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อนำมาประกอบในการจัดรายการ ข่าวสารและบทความต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ซีดีและสปอตสร้างสรรค์  รวมทั้งบุคลากรในการจัดรายการเฉพาะเรื่อง 
วิทยุเพื่อสันติภาพมีลักษณะอย่างไร
คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ อะไรเป็นคุณลักษณะสำคัญของสื่อวิทยุเพื่อสันติภาพ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสามารถสรุปคุณลักษณะสำคัญของสื่อวิทยุเพื่อสันติภาพได้ดังนี้
1.   สื่อที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศีลธรรมและจริยธรรม
2.   สื่อที่เปิดพื้นที่สาธารณะให้กับคนกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่สื่อมวลชน
3.   สื่อที่เปิดกรอบความคิดทางวิชาการและวิชาชีพ
4.   สื่อที่นำเสนอความขัดแย้งในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในประเด็นเดิมๆของสถานการณ์
5.   สื่อที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นลงไปในเนื้อหาทั้งข่าวสารและความบันเทิงที่สร้างสรรค์สันติภาพ ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี แทนที่บรรยากาศความก้าวร้าว รุนแรง การแย่งชิงผลประโยชน์ หรืออคติระหว่างผู้คนในสังคม
ทิศทางของรายการวิทยุเพื่อสันติภาพใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
ในส่วนของวิทยุกระแสหลักพบว่ามีรายการที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพโดยตรงคือ  “รายการใต้สันติสุขและรายการรอบรั้วชายแดนใต้”  และหากต้องจัดรายการที่มีเนื้อหาดังกล่าวก็ต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการผลิตรายการในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น การขยายเครือข่ายวิทยุ อีกทั้งยังต้องการความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานสำคัญๆ ในพื้นที่ และเนื้อหาที่จะนำมาใช้ในการจัดรายการเพื่อสันติภาพ
ในส่วนของวิทยุชุมชน ส่วนใหญ่ไม่มีรายการที่เฉพาะเจาะจงแต่จะแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความสมัครสมานสามัคคีและสันติภาพในรายการต่างๆ ที่มีอยู่ และหากจะต้องจัดรายการที่มีเนื้อหาดังกล่าวโดยตรงก็ต้องการบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารเรื่องนี้โดยตรง  อีกทั้งยังต้องการการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร สกู๊ปหรือสปอตสำเร็จรูป และสถานีวิทยุบางส่วนก็ต้องการงบประมาณในการดำเนินงาน 
แนวโน้มของรายการวิทยุเพื่อสันติภาพใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
จากผลการวิจัย พบว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่ดีที่สามารถผลิตรายการที่มีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างสันติสุขได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกฎหมายประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงยังไม่ชัดเจนนัก จึงส่งผลต่อเชื่อมั่นในการผลิตรายการของหลายๆ สถานี 
ข้อเสนอแนะทั่วไป
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในโครงการศึกษาสถานภาพ  บทบาทการดำเนินงาน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสื่อวิทยุเพื่อร่วมสร้างสันติภาพใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบว่ามีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางและจังหวะก้าวต่อไปของสื่อวิทยุในพื้นที่นี้ คือ
1.  ถอดบทเรียนสถานีหรือรายการตันแบบ
จากผลการวิจัยพบว่ารายการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการเป็นสื่อสันติภาพคือรายการใต้สันติสุขและยังมีรายการวิทยุอีกหลายรายการที่ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสังคม ดังนั้น ควรศึกษาเจาะลึกสถานีและรายการต้นแบบที่มีการดำเนินงานสร้างสันติภาพได้เป็นอย่างดีเพื่อเป็นแนวทางสำหรับสถานีและรายการอื่นๆ ต่อไป
2.  เครือข่ายหลายคลื่น พลังแห่งความร่วมมือ
จากการศึกษาพบว่าสาเหตุที่รายการใต้สันติสุขถูกพูดถึงกันมาก นอกจากเนื้อหาที่เน้นการสื่อสารเรื่องสันติภาพโดยตรงแล้ว การออกอากาศยังเป็นลักษณะของเครือข่าย โดยการสลับกันเป็นแม่ข่าย และเปิดโอกาสให้สถานีวิทยุอื่นๆ สามารถรับสัญญาณไปถ่ายทอดต่อได้โดยง่าย ดังนั้น วิธีการนี้น่าจะนำมาทดลองใช้ได้กับสถานีวิทยุชุมชนซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานสื่อวิทยุในพื้นที่นี้แม้จะมีความเข้มแข็ง แต่ยังขาดการประสานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งการบริหารจัดการสถานีและการผลิตรายการที่มีประโยชน์กับชุมชน การตรวจสอบคุณภาพ หรือแม้กระทั่งการ สร้างพลังในการต่อรอง เครือข่ายความร่วมมือนี้ถูกพูดถึงหลายครั้งแต่ยังไม่มีการวางโครงสร้างหรือเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ใดเลย
3.  สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา หนึ่งเสียงที่ควรพัฒนาความร่วมมือ
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่าในพื้นที่ห้าจังหวัดนี้มีสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมากและสถานีเหล่านั้นก็มีความพร้อมในด้านการจัดการและข้อมูลข่าวสาร หากดึงสถานีวิทยุเหล่านั้นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ ด้วย สถานีวิทยุเพื่อการศึกษากลุ่มตัวอย่างของการวิจัยนี้ ได้แก่ สถานีวิทยุเพื่อการศึกษา พีเอ็นยูเรดิโอ (มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์)  สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ วิทยาลัยเทคนิคจังหวัดปัตตานี และวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดยะลา
4. ขยายแนวคิดการสื่อสารสันติภาพ และเพิ่มศักยภาพของผู้ส่งสาร
ควรมีการขยายแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารสันติภาพให้กว้างขวางออกไปเพื่อให้นักจัดรายการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง อีกทั้งควรมีการเพิ่มศักยภาพในการผลิตรายการประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการสนทนาและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น สารคดี นิตยสารทางอากาศ หรือสาระละคร  เป็นต้น
 
อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
 
 
 
 
 


[1] color:#244061">นักวิจัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
[2] color:#244061">นักวิจัย, อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี