Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554
 
 
ประนามการฆ่าสังหารครูไทยพุทธจำนวน 4 คนในเวลาสองเดือน
สร้างความขัดแย้ง โหมความรุนแรง ครูเรียกร้องมาตรการป้องกันเหตุร้าย
 
เมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน 2554  นายคณิต ลำนุ้ย ครูอัตราจ้างโรงเรียนบ้านกือเม็ง จังหวัดยะลา ได้ถูกคนร้ายลอบสังหารและจุดไฟเผา  และยังมีข่าวปรากฎว่าก่อนหน้านี้ภายในหนึ่งสัปดาห์ของช่วงต้นเดือนสิงหาคม ได้มีเหตุการณ์ลอบสังหารครูในพื้นที่อีกถึง 3 ราย  ในขณะที่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานส่งผลให้อาชญกรยังคงอาศัยช่องว่างทางกฎหมายก่อเหตุรุนแรง โหดร้าย และไม่ถูกลงโทษตามกระบวนการตามยุติธรรมผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล กลุ่มเป้าหมายของความรุนแรงมักเกิดต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งครู ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ผู้นำทางศาสนา 
 
แม้รัฐจะได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นจำนวนมากและให้ความสำคัญกับภาระกิจการรักษาความปลอดภัยต่อกลุ่มเป้าหมายการลอบสังหารมาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษดำเนินการรักษาความปลอดภัย   สถิติล่าสุดเปิดโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้เมื่อเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2554  มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 4,771 ราย แบ่งเป็นตำรวจ 274 นาย ทหาร 331 นาย ประชาชน 4,166ราย บาดเจ็บรวม 8,512 ราย  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่ง ต่อการสูญเสียของครูและบุคลากรด้านการศึกษาทุกท่าน รวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์อื่นๆ และขอประนามการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และการเพิกเฉยต่อสิทธิในชีวิตอยู่ของมนุษย์ด้วยกันเอง เพิกเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
อีกทั้งวันที่ 7 กันยายน 2554 สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกแถลงการณ์ถึงเพื่อนครู เพื่อให้รัฐจัดมาตรการในการดูแล และเสนอให้เพื่อนครูมีวินัยในการรักษาความปลอดภัยของตนเองและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเห็นว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน  และขอให้เรียกร้องให้รัฐดำเนินมาตรการปกป้องความปลอดภัยของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ  นำมาซึ่งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ  
 
มูลนิธิฯ เรียกร้องให้รัฐให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนด้วยการเจรจาที่ไม่ใช้อาวุธประหัตประหารต่อกัน การลดการใช้กำลังและการปฏิบัติการทางทหารและทบทวนการเสริมกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ การลดอาวุธและยุทธปกรณ์อันเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาสถานและในโรงเรียน กิจกรรมด้านสันติวิธีและการสร้างความปรองดองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางมูลนิธิฯเชื่อว่าจะสามารถนำพาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สู่แนวทางสันติได้โดยเร็ว หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการกำหนดแนวทางและรูปแบบการอยู่รวมกันฉันท์ญาติมิตรในฐานะประชาชนชาวไทยอย่างสันติสุข