Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
 
 
วันที่ 15 มิ.ย. 2554 ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Siam Intelligence Unit ร่วมกับ มูลนิธิสันติชน มูลนิธิฟรีดิช นอมัน และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้” โดยตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง คือ นายถาวร เสนเนียม จากประชาธิปัตย์ น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ จากพรรคแทนคุณแผ่นดิน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคมาตุภูมิ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ พรรคเพื่อไทย ศ.พล.ท.ดร.สมชาย วิรุฬหผลพรรคความหวังใหม่ และนายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา จากพรรคชาติไทยพัฒนา (ดูกำหนดการที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/2002) โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
 
 
 
พรรคประชาธิปัตย์
ถาวร เสนเนียม (ผู้สมัคร ส.ส. สงขลา เขต 6 / รักษาการณ์ รมช.มหาดไทย)
คง ศอ.บต. เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม ทยอยเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อพร้อม
 
พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าดำเนินงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่อเนื่อง โดยมีกลไกที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการบริหารจัดการ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารไปมากกว่านี้ เพราะสิ่งสำคัญคือการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและไม่ควรจะจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นขนาดใหญ่อีก แต่ต้องกระจายอำนาจให้กับองค์กรท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็เปิดโอกาสให้สามารถจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ตนสนใจความเป็นไปไดเของพื้นที่อย่างสุไหงโกลกและเบตง นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างดังกล่าวนี้จะทำให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้มีความเป็นเอกภาพ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ในตำแหน่ง “เบอร์หนึ่ง” ของทั้งหน่วยงานการทหาร (กอ.รมน.) และการพัฒนา (กพต.)
 
นายถาวร เสนอว่าจะทยอยเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ที่มีความพร้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ริเริ่มพื้นที่นำร่องไปบ้างแล้วในบางอำเภอ ขณะเดียวกันก็มีนโยบายทยอยถอนทหารที่มาจากกองทัพภาคอื่นๆ ให้คงไว้เพียงกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 4 และกองกำลังหริออาสาสมัครประจำถิ่น ซึ่งน่าจะเข้าใจประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้านได้ดีกว่า
 
ส่วนการพูดคุยเจรจาสันติภาพนั้น นายถาวร กล่าวย้ำว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นก็ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาต่อต้าน อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเจรจายังเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง
 
 
 
พรรคมาตุภูมิ
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ (รองหัวหน้าพรรค, บัญชีรายชื่อลำดับ 3)
ตั้ง “ทบวงชายแดนใต้” ที่เป็นไปได้ หนุนการพูดคุยเจรจาสันติภาพโดยผู้มีอำนาจจริง
 
จากการฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ พรรคมาตุภูมิสรุปว่าความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ ต้องการปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องการความยุติธรรม ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี และความต้องการที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีอิสลามและธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ และเพื่อจะบรรลุสิ่งเหล่านี้ การแก้ไขปัญหาควรยึดอยู่กับหลัก 3 ประการ คือ มีความจริงใจ มีความเป็นไปได้ และมีประโยชน์ต่อประชาชน
 
          นายอารีเพ็ญ สะท้อนว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คงหลีกเลี่ยงการจัดรูปแบบการปกครองแบบพิเศษที่ต้องแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆ ไปไม่ได แต่ในสถานการณ์เช่นนี้การกระจายอำนาจโดยการตั้งองค์กรท้องถิ่นใหม่ขึ้นมานั้นดูจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากในพื้นที่ยังคงมีการสู้รบอยู่ การกระจายอำนาจจะทำให้ได้ผลก็ต่อเมื่ออยู่ใน “สถานการณ์ปกติ” แต่ในสถานการณ์สู้รบ ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นผู้นำที่อ่อนแอที่สุด และไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ เหมือนกรณีมินดาเนาในฟิลิปปินส์
 
          สำหรับพรรคมาตุภูมิแล้ว นอกเหนือจากหลักการข้างต้นแล้ว นโยบายของพรรคคือเน้นไปที่การแก้ไขที่ระบบและการสร้างสมดุลระหว่างอำนาจต่างๆ โดยการเสนอให้มีการจัดตั้งทบวงบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดูแลภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาโดยองค์รวม พร้อมทั้งแก้ปัญหาความเป็นเอกภาพ โดยไม่ไดตัดบทบาทของส่วนภูมิภาคออกไป ในขณะที่รัฐมนตรีที่จะมาคุมทบวงดังกล่าวนี้อาจเป็นใครก็ได้ที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะคนในพื้นที่ เพียงแต่ต้องทำงานประจำในพื้นที่ และขึ้นกรุงเทพฯ มาประชุม ครม.สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น
 
ข้อเสนอทบวงฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของคนในประเทศนี้ทั้งหมดที่จะต้องร่วมแก้ไข อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้อีกด้วย เพราะเป็นการเจอกันครึ่งทางกับคนที่คิดแบบล้าหลังว่าการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
 
          ส่วนเรื่องการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพนั้น นายอารีเพ็ญกล่าวย้ำว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเจรจาไปไม่ได้ สำคัญเพียงว่ารัฐบาลจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการพูดคุยเจรจาระหว่างตัวแทนของรัฐบาลและตัวแทนของฝ่ายตรงกันข้าม โดยแต่ละฝ่ายจะต้องเป็นตัวจริงหรือมีอำนาจตัดสินใจและนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อยุติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่าคนที่พูดคุยกลับเป็นคนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรได้เลยในพื้นที่
 
“ประเด็นความยุติธรรมและความรุนแรงในพื้นที่ ไม่มีประเทศไหนที่จะแก้ปัญหาโดยไม่พูดคุย บานเราถือเรื่องศักดิ์ศรี ยังมีการพูดว่า ไม่อยากคุยกบโจร แบบนี้แก้ปัญหาไม่ได้”
 
 
 
พรรคเพื่อไทย
พล.ต.ท. ฉลอง สนใจ (กรรมการบริหารพรรค / คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และนโยบายภาคใต้)
ยุติเหตุรุนแรง ดันเขตปกครองพิเศษ
 
พรรคเพื่อไทยน้อมนำเอาพระราชดำริ เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ทางพรรคพบว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่มี 3 ประการ ได้แก่ ต้องการอยู่ในใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร โดยไม่คิดจะแบ่งแยกดินแดนและเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี, ต้องการสิทธิเสรีภาพในการดูแลตัวเองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และความต้องการในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมของตัวเอง
 
ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงกำหนดนโยบายการกระจายอำนาจสูท้องถิ่น ในลักษณะเขตปกครองพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเห็นว่าประชาชนในพื้นที่ย่อมต้องรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นดี ในขณะนี้ทางพรรคได้เตรียมที่จะยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับเอาไว้แล้ว แต่มีบางประเด็นที่จะต้องฟังเสียงของประชาชน เช่น การจะรวมพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอในเขตเดียวกันไว้หรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ฉลอง สะท้อนด้วยว่า ปัญหาความรุนแรงหรือเหตุร้ายรายวันเป็นปัญหาใหญ่ที่จำต้องแก้ไขก่อนในเบื้องต้น เนื่องจากการกระจายอำนาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากยังมีความรุนแรงดำรงอยู่
 
ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแต่ว่าประชาชนในสามจังหวัดต้องการอย่างไร เพราะประชาชนในยะลาก็ไม่อยากมารวมเป็นมหานครปัตตานี อยากจะแยกไปเป็นนครยะลา ประชาชนใน จ. นราธิวาส ก็อาจจะต้องการให้มีการปกครองนครนราธิวาส อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมร่างกฎหมายไว้รองรับแล้ว
 
แต่แม้ว่าจะมีการนำเสนอแนวทางการดูแลสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ถ้ายังมีสถานการณ์เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งขณะนี้เจ็บและตายไปแล้วกว่าหมื่นคน โดยยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ จะกระจายอำนาจอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะยังยิงกันอยู่รบกันอยู่
 
 
 
พรรคความหวังใหม่
ศ. พล.ท. ดร.สมชาย วิรุฬหผล (บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 3)
ถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่น จัดตั้ง “มหานครปัตตานี”
 
ตัวแทนพรรคความหวังใหม่ระบุว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยภาพรวมควรต้องเริ่มการสร้างความสงบสันติสุขให้เกิดขึ้นได้เสียก่อน ปัญหาในมิติอื่นๆ จึงจะสามารถคลี่คลาย ข้อเสนอของพรรคความหวังใหม่คือการกระจายอำนาจโดยการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ที่ชื่อว่า “มหานครปัตตานี” การกระจายอำนาจในที่นี้เป็นรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงการถ่ายโอนอำนาจระบบราชการเท่านั้น หากแต่ต้องถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ ส่วนกลางจะต้องลดบทบาทของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจคงบทบาทไว้เพียงแค่ในด้านความมั่นคง (ทหาร) ด้านการคลัง และด้านการต่างประเทศเท่านั้น ที่เหลือเป็นบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่น
 
          พล.ท.สมชาย อ้างถึงผลสำรวจของมูลนิธิเอเชียที่เพิ่งจัดทำขึ้นไม่นานว่าความประสงค์ของประชาชนทั่วท้งประเทศนั้นต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชกการจังหวัดโดยตรงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยที่กลไกที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นจะมีรูปแบบเช่นไรก็ตาม ซึ่งหมายความว่าความต้องการให้มีการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบันนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น หากแต่ยังรวมในพื้นที่อื่นๆ ด้วย อาทิเช่น คนเชียงใหม่ก็อยากจะให้มีเชียงใหม่มหานครด้วยเช่นกัน เป็นต้น
 
“การสร้างมหานครปัตตานี ไม่ใช่นครรัฐ เป็นการสร้างรูปแบบการปกครองคล้ายกรุงเทพฯ ซึ่งภาคอื่นๆ ก็นำไปใช้ได้ คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ได้ ทำไมคนที่อื่นเลือกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็แปลว่าสิทธิไม่เท่าเทียมกัน”
 
อย่างไรก็ตามเขากล่าวด้วยว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่แค่เรื่องกระจายอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาสะสม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ปัญหายาเสพติด และเสพติดงบประมาณ ถ้ายังดำเนินการกันแบบเดิมต่อไปเรื่อยๆ ความรุนแรงจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดำเนินนโยบายผิดพลาดมาโดยตลอด และสิงที่ต้องทำก่อนการกระจายอำนาจก็คือการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยหนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือต้องมีการพูดคุยเจรจา ที่จำเป็นต้องมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน
 
 
 
พรรคแทนคุณแผ่นดิน
น.พ. แวมาฮาดี แวดาโอะ (หัวหน้าพรรค / บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1)
เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทันที ถอนทหารกลับบ้าน หยุดนิคมอุตสาหกรรมความมั่นคง
 
หัวหน้าพรรคแทนคุณแผ่นดิน กล่าวว่า หลักการแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นควรยึดหลักการที่อุมัร บิน คอตต็อบ (ผู้ปกครองในสมัยหลังศาสดามุฮัมหมัดคนหนึ่ง) ที่เรียกว่า “อุมัร โมเดล” ที่การปกครองที่ดีควรมีองค์ประกอบ 6 ประการ ได้แก่ ต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย, ต้องมีความยุติธรรม, ต้องไม่มีสิ่งมึนเมาและสุรา, ต้องมีสวัสดิการที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย และสุดท้ายต้องมีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน
 
ด้วยเหตุนี้ หากพรรคตนได้ร่วมรัฐบาลจะผลักดันให้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกพื้นที่ในทันที เพราะที่ผ่านมาการประกาศพื้นที่ดังกล่าวไม่เพียงจะไม่สามารถยุติเหตุรุนแรงได้แล้ว แต่กลับทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่กองกำลังทหารที่ประจำการอยู่จะต้องกลับเข้ากรมกองให้หมด และมอบบทบาทในการดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชนจัดการตัวเอง นอกจากนี้จะหาทางยุติสิ่งที่เรียกว่าอุตสาหกรรมความมั่นคงที่ทุกฝ่ายต่างหาประโยชน์จากสถานการณ์ โดยมีเพียงประชาชนเท่านั้นที่สูญเสีย
 
นพ.แวมาฮาดี เสนอว่าประชาชนควรต้องมีอำนาจในการจัดการและดูแลตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่มีส่วนร่วมในการปกครองอย่างที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ นโยบายของพรรคแทนคุณแผ่นดินคือการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า และตัดเอาส่วนภูมิภาคออกไปให้คงไว้เพียงแค่การปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
 
“เราไม่อาจะเห็นด้วยกับข้อเสนอทบวงฯ และไม่เห็นด้วยกับ ปชป. เรื่อง ศอ.บต. เพราะเป็นตัวแทนของราชการส่วนกลาง”
 
 
 
ชาติไทยพัฒนา
นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา (บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 78)
เพิ่มอำนาจ ศอ.บต. – สังคมไทยควรยอมรับประวัติศาสตร์
 
นโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนาจะยกระดับ ศอ.บต. โดยการเพิ่มอำนาจในการวางนโยบายและงบประมาณให้มากขึ้น เพื่อลดการทับซ้อนในการบริหารราชการกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ นอกจากนี้ ยังกำหนดกรอบพื้นที่ที่ ศอ.บต.ดูแลเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ สตูล และเพียงบางอำเภอของสงขลาเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็จะผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นความยุติธรรม ตัวแทนของพรรคชาติไทยพัฒนาระบุว่า สังคมไทยควรต้องยอมรับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกผนวกเข้าสู่รัฐสยามเมื่อร้อยปีที่ผ่านมาอย่างตรงไปตรงมา
 
 
หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนนำมาจากสื่อที่นำเสนอข่าวงานเสวนาครั้งนี้ ได้แก่