Skip to main content
    เพราะเราต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม   (ดีๆ) ไปอีกนาน
 
            ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ผู้ทรงสถิตย์มั่นในพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่
บทนำก่อนการพลาดพลั้ง...                                                 
ความจริงอย่างหนึ่งที่เราทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ ชีวิตคนเรานั้นคงเลี่ยงที่จะไม่เผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไม่ได้ ความพยายามที่จะช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติคือแรงขับเคลื่อนที่ดูเสมือนว่าจะยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะการทำลายธรรมชาติด้วยน้ำมือของมนุษย์ได้เพิ่มมากขึ้น รวดเร็ว รุนแรงเกินที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องช่วยกันร่วมรณรงค์ให้ทุกคนในสังคมช่วยกันอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกสาธารณะอย่างจริงจังก่อนที่จะพลาดพลั้งในอนาคตสืบต่อไป เพราะ “เราจำเป็นต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม (ดีๆ) ไปอีกนาน”
เสริมพลังรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยคุณค่าแห่งคำสอน...
Ø ความเสียหายและการบ่อนทำลายบนโลกใบนี้ล้วนเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น
          ในทัศนะของอิสลามมนุษย์เกิดมามีหน้าที่ในการบริหารจัดการโลกใบนี้ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้ามนุษย์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จรรโลงสังคมสู่การพัฒนาและความเจริญงอกงามของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงถึงแม้มนุษย์จะมีสติปัญญาและมีสามัญสำนึกในการทำความดีแต่บางครั้ง คนเราก็ถูกชักจูงด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำ ครอบงำด้วยชัยฏอน (มารร้าย) ที่ชักนำให้ต้องดิ้นรนสนองความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุดอันเป็นเหตุให้มนุษย์ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือแม้กระทั่งทำลายตนเองโดยคิดไปเองว่า สิ่งที่ตนกำลังทำอยู่เป็น “การพัฒนา” หรือ “การปฏิรูป”  
            อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า
และเมื่อมีผู้กล่าวตักเตือนพวกเขาว่า “อย่าได้บ่อนทำลายบนผืนแผ่นดินเลย” พวกเขาก็กล่าวตอบว่า “อันที่จริง พวกเราเป็นผู้พัฒนาให้ดีขึ้นต่างหาก” จงรู้ไว้เถิด แท้จริงแล้ว พวกเขาคือผู้บ่อนทำลาย ทว่า พวกเขาหาได้รู้สึกตัวไม่
บะเกาะเราะหฺ 11-12
            ฉะนั้น ด้วยมาตรฐานจากอัลกุรอาน เราจึงรู้ว่า การพัฒนาที่ได้นำความเสียหายมาสู่สิ่งแวดล้อมและย้อนกลับมาพร้อมภัยพิบัติสู่ตัวมนุษย์เองนั้น เป็นการพัฒนาจอมปลอม หาใช่การพัฒนาที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า



Ø มนุษย์จึงต้องรับผลจากความเสียหายที่ได้ก่อขึ้นด้วยตนเอง
            พระองค์อัลลอฮฺ  ได้ทรงบอกอย่างชัดเจนว่า มนุษย์เองต้องเป็นผู้ที่รับผลจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้บ่อนทำลายธรรมชาติ พระองค์ตรัสว่า  
ความเสียหายได้แพร่กระจายไปทั้งบนแผ่นดินและผืนน้ำด้วยน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น เป็นการให้พวกเขาได้ลิ้มรส (ผลร้ายของความเสียหาย) บางส่วนจากสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวานพยายาม (บ่อนทำลาย) ไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้พวกเขาจะได้หวนกลับ (ระลึกได้และกลับเนื้อกลับตัว)
อัรรูม 41
จากโองการข้างต้น เราจึงสามารถตระหนักรู้ได้ว่า ภัยพิบัติและความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของเราเองทั้งสิ้น และทุกขภัยต่างๆก็เกิดขึ้นด้วยพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อให้เราได้กลับเนื้อกลับตัว หันมาเป็นผู้ฟื้นฟูและปฏิรูปรักษาอย่างแท้จริง
Ø การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน
ในเมื่อความเสียหายเป็นสิ่งที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ การฟื้นฟูแก้ไขก็จะรอใครไม่ได้ นอกจากมนุษย์เองที่ต้องเป็นผู้เริ่มต้นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่เส้นทางการปฏิรูปพัฒนาที่แท้จริง ในการสรรค์สร้างโลกใบนี้  พระเจ้าไม่ได้ทำงานผ่านปาฏิหาริย์ หากแต่มีกลไกและขั้นตอน ดังนั้น มนุษย์นั่นเองที่เป็นกลไกขับเคลื่อนไปสู่การสร้างสรรค์โลกที่มีแต่ความสันติสุขในทุกมิติ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า
แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเองเสียก่อน
อัรเราะอฺดุ 11
Ø การร่วมกันฟื้นฟูดูแลโลกใบนี้เป็นการก้าวเดินตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ  
            นอกเสียจากว่าตัวเราเองจะเป็นผู้ฟื้นฟูดูแลรักษาโลกใบนี้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การร่วมปลุกจิตสำนึกให้เพื่อนสนิทมิตรสหายและครอบครัวผู้ใกล้ชิดได้ตระหนักถึง “ความจริง” ที่มักถูกมองข้าม ว่า “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ  ได้สรรค์สร้างอย่างประณีตวิจิตรและประทานให้มนุษย์เราใช้ให้เกิดประโยชน์ตามพระประสงค์ของพระองค์ เป็นการทำงานบนหนทางของอัลลอฮฺ  และเป็นการกลับคืนสู่พระองค์อย่างผู้นอบน้อม” เพราะการทำให้คนรอบข้างตระหนักรู้ซึ้งถึงพระประสงค์ของอัลลอฮฺ  ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งเป็นการบอกเล่า “ความจริง” เป็นการประกาศ “สัจธรรม” ที่ย่อมขัดแย้งกับอารมณ์ใฝ่ต่ำของมนุษย์ที่จ้องจะบ่อนทำลาย 
            อัลลอฮฺ   ทรงตรัสว่า
 
และหากว่าความจริงได้คล้อยไปตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขาแล้ว ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินรวมทั้งบรรดาสรรพสิ่งที่อยู่ในนั้นต้องเสียหายอย่างแน่นอน หามิได้ เราได้ประทานการตักเตือนให้แก่พวกเขา แต่พวกเขาก็ยังคงเมินเฉยต่อคำตักเตือน
อัลมุอฺมินูน 71
ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องหันมาร่วมกันสร้างจิตสำนึกและโน้มน้าวเชิญชวนให้ชุมชนโลกเริ่มจัดการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ตลอดจนให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน เกิดเป็นสันติสุขในมิติของธรรมชาติ
Ø จากระบบจักรวาลสู่การจัดการสิ่งใกล้ตัว: การบูรณาการความสัมพันธ์
คำสอนของอิสลามได้กล่าวถึงการจัดระเบียบจักรวาลว่าเป็นหนึ่งในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงควบคุมให้สากลจักรวาลดำเนินไปอย่างมีระบบระเบียบ ไม่สับสนและขัดแย้งกันเอง ในขณะเดียวกัน อัลกุรอานก็ได้ให้สอนให้มนุษย์รู้จักระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ความสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ สังคม ตลอดจนโลกและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดต่างดำเนินไปเป็นระบบที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน มีอิทธิพลผันแปรต่อกันและกัน ดังนั้น การธำรงรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในด้านหนึ่งย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆด้วย เช่น ผู้ที่ปฏิบัตินมาซอย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนดย่อมสามารถหักห้ามตนเองจากการประพฤติผิดที่เกิดจากตัณหา เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ หรือ การฉ้อโกงในการค้าขาย ได้ เพราะความศรัทธาในอัลลอฮฺ  จะกระตุ้นเตือนให้เขามีจิตใจที่สงบมั่นคงและเชื่อมั่นในการลงโทษตอบแทนของพระองค์ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ
อัลลอฮฺ  ทรงตรัสว่า
แท้จริง การนมาซนั้นจะยับยั้งความชั่วช้าลามกและการกระทำที่พึงรังเกียจ และการระลึกถึงอัลลอฮฺนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ
อัลอันกะบูต 45
เช่นนี้เองที่แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างมนุษย์ผู้เป็นบ่าวทาสที่ภักดีกับพระผู้อภิบาลจะค้ำจุนความสัมพันธ์ทางสังคมและสถานะอันสูงส่งทางจริยธรรมได้ ในอีกด้านหนึ่ง การละเมิดสิทธิและเกียรติ์ของเพื่อนมนุษย์ก็เป็นการทำลายความสัมพันธ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน เช่น การที่ท่านศาสดาได้เชื่อมโยงการติฉินนินทาและให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นกับการถือศีลอด ว่าการถือศีลอดที่ยังไม่ละเลิกจากการทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยลิ้นเป็นการถือศีลอดที่อัลลอฮฺ  ไม่ทรงยอมรับ เช่นเดียวกันกับธรรมบัญญัติข้ออื่นๆที่จะเสียหายไปเมื่อความสัมพันธ์ของคนๆหนึ่งกับเพื่อนมนุษย์ของเขาถูกครอบงำด้วยความอยุติธรรมและการข่มเหงรังแก
ส่วนความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม คำสอนของอิสลามก็มิได้ละเลยแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม อิสลามย้ำเตือนให้มนุษย์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติด้วยการเชื่อมโยงปรัชญาการมีอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆในธรรมชาติตามระเบียบที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงจัดวางไว้อย่างดีเลิศเข้ากับความศรัทธามั่นในพระองค์ดังจะเห็นได้จากการที่มุสลิมทุกคนต้องเปล่งถ้อยคำสดุดีพระเจ้าในทุกครั้งที่ปฏิบัตินมาซว่า
การสดุดีสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล
อัลฟาติหะฮฺ 2
ดังนั้น ความศรัทธาในอัลลอฮฺ  ย่อมนำมาสู่การเชื่อมั่นต่อสิทธิของพระองค์ในฐานะพระผู้ทรงสร้างจักรวาล อันเป็นการสละความยึดมั่นต่อตนเองว่า มนุษย์นั้นเป็นผู้ที่สามารถควบคุมจัดการและเป็นเจ้าของธรรมชาติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เมื่อเราเข้าใจว่าสรรพสิ่งต่างๆในธรรมชาติที่เราได้เก็บเกี่ยวประโยชน์และบริโภคคุณูปการอันมากมายอยู่นี้ มิได้เป็นของเราอย่างสมบูรณ์ถาวร หากแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้ทรงสร้าง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องทำให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น ดังที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงตรัสว่า
โอ้ ลูกหลานของอาดัม (หมายถึง เผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งมวล) จงยึดถือความงดงามให้มีในทุกครั้งของการนมาซ และจงกินและดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงแล้วอัลลอฮฺไม่ทรงรักเหล่าผู้ฟุ่มเฟือย (หมายถึงผู้ที่ใช้จ่ายไปอย่างไม่เกิดประโยชน์)
อัลอะอฺรอฟ 31
สิ่งที่น่าตรึกตรองในโองการข้างต้นนี้ ก็คือ การที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงเชื่อมโยงการปฏิบัติศาสนกิจ (การนมาซ) เข้ากับการบริโภคได้ประหนึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน กล่าวได้ว่า ความประพฤติทางสังคมและเศรษฐกิจ (นั่นคือ การใช้ทรัพยากร) มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความศรัทธามั่นในพระเจ้า ในเมื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ  ที่พระองค์ได้ทรงอนุมัติให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต การทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพระองค์! ดูเถิด ช่างเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่ผู้คนหาได้ตระหนักไม่เลย
ในอีกตัวอย่างหนึ่งที่ท่านศาสดามุหัมมัด ได้แสดงความเชื่อมโยงระหว่างการมีศรัทธาที่มั่นคงกับการทำนุบำรุงและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ พระวจนะ (หะดีษ) ที่ท่านได้กล่าวว่า
ความศรัทธา (อีมาน) มี 70 กว่า หรือ 60 กว่าสาขา สุดยอดของความศรัทธา คือ (การยึดมั่นใน) ถ้อยคำว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และความศรัทธาอันดับต่ำสุด ก็คือ การเก็บกวาดสิ่งที่อาจสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้สัญจรบนถนนหนทาง”
(รายงานโดย อิมามมุสลิม)
          จากข้อความดังกล่าวข้างต้นสื่อสะท้อนให้เห็นว่า การเก็บกวาดขยะสิ่งปฏิกูลและสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้บนถนนหนทางเป็นสาขาหนึ่งความศรัทธา และการทำคุณประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แก่เพื่อนมนุษย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกๆที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ของความศรัทธา
            นอกจากนี้ การฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติยังเป็นการแสดงออกถึงการสดุดีขอบคุณต่อน้ำพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริง และพระองค์นั้นจะทรงเพิ่มพูนความโปรดปรานของพระองค์ให้แก่ผู้ที่กตัญญูรู้คุณ ดังโองการที่ว่า
 
และจงระลึกถึงเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงประกาศว่า หากพวกเจ้ารู้คุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงแล้ว การลงโทษของข้านั้นรุนแรงยิ่งนัก
อิบรอฮีม 7
กล่าวโดยสรุป การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อตนเอง  เพื่อนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และร่วมมือกันปกป้องอนุรักษ์เพื่อพัฒนาชีวิตที่ครอบคลุมและสมบูรณ์มีความพันผูกและผูกพันอย่างแนบแน่นกับผู้ทรงสร้างสิ่งแวดล้อมผู้บริหารจัดการและผู้จัดระเบียบสากลจักรวาลอันยิ่งใหญ่
            ฉะนั้น ภารกิจหลักประการหนึ่งของผู้ที่น้อมรับและดำเนินตามพระธรรมคำสอนของอัลลอฮฺ ได้แก่ การขับเคลื่อนให้สังคมเดินหน้าไปสู่ระบบและกระบวนการสร้างสันติสุขบนโลกนี้ ทั้งในมิติที่สามารถสัมผัสเห็นผลได้ในชีวิตจริงและมิติที่เป็นความเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของอิสลามดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึง “ความการุญเมตตา” ของพระเจ้าที่มีต่อทุกสรรพสิ่ง ว่าเป็นปรัชญาและเป้าหมายของการประทานคำสอนอันสูงส่ง
และเรามิได้ส่งเจ้า (มุหัมมัด) มาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความการุญเมตตาแก่สากลจักรวาล
อัลอัมบิยาอฺ 107



บทสรุปจุดจบที่ต้องทบทวน
            หากการทบทวนครวญใคร่ในพันธกิจหลักอย่างหนึ่งของมุสลิมก่อให้เกิดความประจักษ์แจ้งในตัวตนมนุษย์อย่างเราๆทุกคน คงไม่มีใครทวงถามว่า ณ ตอนนี้ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาร่วมกันรณรงค์ฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ อันเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า เพราะคำถามนี้คงตกยุคสมัยไปแล้ว หากภายในจิตใจของเขาเหล่านั้นได้เริ่มต้นจากพลังที่ระเบิดขึ้นภายในจิตใจของเขาแต่ละบุคคล ขยายไปยังครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบต่อไป
การเดินหน้าต่อไปที่จะร่วมกันฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถือเป็นโจทย์สำคัญในการตอบตัวตนของเราถึงคำว่า “มุสลิมที่สมบูรณ์” เพราะบนผืนแผ่นดินนี้ไม่มีใครได้รับสิทธิ์ให้ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ว่าจะจ่ายออกไปด้วยเงินเท่าไรก็ตาม
            กลับมาฉุกคิดสักนิดอีกครั้งว่า ที่ผ่านมาพระผู้เป็นเจ้าได้ให้อะไรกับเราบ้าง พระเจ้าสรรค์สร้างและสร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่งแห่งสากลจักรวาลให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของอณูเล็กๆบนโลกใบนี้เพื่ออะไร ใยเราถึงไม่หวนคิดถึงและตอบแทนน้ำพระทัยของพระองค์บ้าง การผสานเชื่อมโยงการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ กับธรรมชาติ คือ ปราชญ์ทางพลังปัญญาที่กาลเวลาได้พรากไปจากเราในสังคมปัจจุบัน หยุดคิดถึงคำสอนทางศาสนา ทบทวนห้วงเวลาในอดีตที่ผ่านมา ค้นหาปัจจุบันในสัจธรรม เพื่อนำทางเราทุกคนสู่การใช้ชีวิตในโลกหน้าอันสถาพรอย่างสุขสงบ...
วัลลอฮฺอะลัม (พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรอบรู้ยิ่ง)
                                                           
ฝ่ายวิชาการและวิจัย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย