Skip to main content

 

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 3) : ท่าทีโลกมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ในภาพอาจจะมี 2 คน

 

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจประชุมสันติภาพโลกที่กรุงโซล ก็เดินทางกลับถึงกรุงเทพในเช้าวันที่ 20 กันยายน แต่เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญาก็ยังคงเป็นประเด็น ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องเพราะวันที่ 19 กันยายน นางอองซาน ซูจี เพิ่งจะแถลงการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ เกิดวิกฤติ ระลอกล่าสุด

ผมได้มีโอกาส สนทนาเรื่องนี้ต่อกับคุณอุรชัย ศรแก้ว จากไทยพีบีเอสในวันที่ 19 และร่วมเสวนาเรื่อง "วิกฤตโรฮิงญากับบทบาทของอาเซียน" ในวันที่ 27 กันยายน จัดโดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยากรอีก 2 ท่านคือ ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งฉายภาพเกี่ยวกับปัญหาชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมาร์ กับอีกท่านท่านหนึ่งคือ ดร. ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ภาพประวัติศาสตร์การเมืองและความขัดแย้งของเมียนมาร์ การเสวนาในครั้งนี้ดำเนินรายการโดย ศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี

ส่วนผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมาร์ แต่ผู้จัดขอให้สะท้อนเกี่ยวกับมุมมองของโลกมุสลิมและวิเคราะห์บทบาทของอาเซียน จึงอยากนำประเด็นต่างๆมาสรุปแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ ในที่นี้ครับ

มุมมองและท่าทีโลกมุสลิมต่อวิกฤตโรฮิงญา

ในวิกฤตปัญหาโรฮิงญาระลอกล่าสุด ท่ามกลางข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับที่มาที่ไปของชาวโรฮิงญาในอาระกันหรือรัฐยะไข่ในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือการปลุกปั่นทางศาสนา โลกมุสลิมกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มากนัก แม้จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าชาวโรฮิงญาคือผู้ที่ดำรงอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาช้านาน (ก่อนยุคอังกฤษปกครองพม่าอีก) แต่โลกมุสลิมจะให้ความสำคัญกับวิกฤตมนุษยธรรมเป็นลำดับแรกหรือเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

โลกมุสลิมจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่ห่วงใยเรื่องมนุษยธรรมมากกว่าประเด็นอื่นๆ ซึ่งเห็นได้จากการที่ประเทศมุสลิมหรือภาคประชาสังคมต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์ยุตการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา เรียกร้องให้สังคมโลกเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาวโรฮิงญา

ตุรกีถือเป็นประเทศแรกๆที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงและความทุกข์ทรมาณจากปฎิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมาร์ ผู้นำตุรกีได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด อีกทั้งยังตำหนิรัฐบาลทั่วโลกว่าทำเป็น "หูหนวกตาบอด" ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮิงญา ผู้นำตุรกีกล่าวว่าองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN และองค์กรอื่น ๆ ต่างล้มเหลวในการปกป้องผู้ที่ถูกอธรรม นอกจากนี้ ตุรกียังเป็นประเทศแรกแรกที่จัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามายังประเทศบังกลาเทศ อาจ กล่าวได้ว่าตุรกีคือประเทศมุสลิมที่มีบทบาทนำอย่างเด่นชัดต่อกรณีการเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนใจปัญหาโรฮิงญา ส่วนประเทศบังกลาเทศก็ได้รับความชื่นชมอย่างมากถึงความใจกว้างและเปิดรับผู้อพยพจำนวนมากทั้งที่เป็นประเทศยากจน แต่ก็ยังมีมนุษยธรรมแบกรับปัญหาดังกล่าวโดยไม่แม้แต่จะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม จุดยืนและท่าทีของโลกมุสลิมอาจมอง ได้ในสามระดับ

1) องค์การระหว่างประเทศในโลกมุสลิม: OIC

องค์การระหว่างประเทศของโลกมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดคือองค์การความร่วมมืออิสลามหรือ Organization of Islamic Cooperation มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาชาติมุสลิม (Islamic Ummah) ประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศ มุสลิมทั่วโลก อย่างไรก็ตามโอไอซียังให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้งหรือในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงสู้รบกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ แต่โอไอซีก็จะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นเคารพในอธิปไตยของประเทศนั้นๆ เช่นกรณีในฟิลิปปินส์ แคชเมียร์ หรือแม้แต่ในกรณีสามจังหวัดใช้แดนใต้ของไทย

กรณีปัญหาโรฮิงญา โอไอซีค่อนข้างเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ เพราะมีลักษณะของการใช้ความรุนแรงในการฆ่าล้างกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โอไอซีได้เรียกร้องให้ UN เข้าแทรกแซงเมียนมาร์เพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมโรฮิงญาหลังจากที่ในช่วงปลายปี 2559 มีการปราบปรามทางทหารกับชาวโรฮิงญาในระฐยะไข่อย่างหนัก ส่งผลให้มีผู้อพยพหลายหมื่นคน

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมายิ่งทำให้โอไอซีวิตกกังวลและแสดงบทบาทที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น Dr. Yousef A. Al Othaimeen เลขาธิการโอไอซี ได้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมกับส่งหนังสือถึงนาย Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ และนาง Suu Kyi ซึ่งมีเนื้อหาตำหนิการใช้กำลังต่อพลเรือนอย่างไม่แยกแยะ ทำให้เกิดปัญหาผู้อพยพจำนวนมาก โดยเรียกร้องให้ UN กดดันเมียนมาร์ให้ยุติความรุนแรงและคืนสิทธิให้ชาวโรฮิงญา พร้อมกับเดินหน้าตามแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการชุดนายโคฟี อันนัน

โอไอซียังแสดงความกังวลว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นมีแรงกระเพื่อมสูงที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคได้ หากปัญหาด้านความเสมอภาค ความยุติธรรมและสิทธิความเป็นพลเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไข

ในเวลาเดียวกัน โอไอซียังเรียกร้องไปถึงหลายองค์กรให้ช่วยกันกดดันเมียนมาร์ไม่ว่าจะเป็น UNSC , UNHCHR, UNHCR , EU นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือโอไอซีได้เรียกร้องสมาชิกให้พิจารณาใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการจำกัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับเมียนมาร์ ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ขึ้นมาเมียนมาร์ ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นแนวปฏิบัติเช่นนี้เท่าไรนักในกลุ่มโอไอซี

2) รัฐบาลประเทศมุสลิม

นอกจากความเคลื่อนไหวในกลุ่มโอไอซีแล้ว รัฐบาลของประเทศมุสลิมสำคัญๆ ทั่วโลกต่างแสดงจุดยืนประสานเสียงกันกดดันเมียนมาร์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ที่ระดมความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา

ในเอเชียใต้ ปากีสถานวุฒิสภาก็มีมติประณามการกระทำของเมียนมาร์ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมโรฮิงญาอย่างเลือดเย็นต่อสตรี เด็ก และทารก นอกจากนี้ยังร้องไปถึง UN และนางซูจี ให้ยุติความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ทันที

บังกลาเทศ แม้จะให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจำนวนมากและไม่ได้กล่าวโจมตีหรือกดดันเมียนมาร์มากนัก แต่ก็เรียกร้องให้เมียนมาร์ใช้ความอดทนอดกลั้นและมองเหตุการณ์นี้ด้วยสายตาแห่งมนุษยธรรม บังกลาเทศยืนยันว่าโรฮงญาคือชาวเมียนมาร์ที่รัฐบาลต้องรับกลับประเทศ อีกประเทศคือมัลดีฟส์ที่ได้ประกาศระงับการค้ากับเมียนมาร์เพื่อกดดันให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียพูดอย่างตรงไปตรงมาว่ารู้สึกไม่พอใจนางออง ซาวซูจี "ที่นิ่งเงียบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าเคยยืนหยัดในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ทำอะไรเลย" ส่วนอินโดนีเซียได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปพบกับซูจี และผู้นำกอฃกองทัพ เพื่อกดดันให้เร่งยุติความรุนแรงโดยเร็ว อีกประเทศหนึ่งคือบูรไน กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีความเป็นห่วงเรื่องวิกฤตด้านมนุษยธรรมมาก โดยบูรไนจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้บูรไนยังได้แสดงเจตจนาที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์ในการส่งความช่วยเรื่องด้านมนุษยธรรมและเตรียมสนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของประเทศมุสลิมที่สำคัญๆในหลายภูมิภาคต่างออกมาแสดงบทบาทที่มีจุดยืนไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก

3) ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน

ในภาคประชาชนมีการเดินขบวนประท้วงในหลายประเทศ ทั้งในประเทศที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยผู้ชุมนุมจะประกอบไปด้วยคนจากหลากหลายเชื้อชาติศาสนาแต่มีสำนึกด้านมนุษยธรรมร่วมกัน

ประเทศที่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ ๆ ได้แก่อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศปากีสถานอัฟกานิสถาน เชชเนีย อิหร่าน อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น การชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อประณามหรือต่อต้านการใช้ความรุนแรงของกองทัพพม่าต่อชาวโรฮิงญาในยะไข่ กดดันนางซูจีและรัฐบาลเมียนมาร์ให้ยุติความรุนแรงโดยเร็ว ผู้ชุมนุมในบางประเทศมุสลิมยังกดดันให้รัฐบาลตัวเองให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา อย่างไร ภาพรวมของการชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ

นอกจากนั้นยังมีการการจัดกิจกรรมระดมทุนและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากทั่วโลกเพื่อส่งไปชาวเหลือชาวโรฮิงญาที่ตั้งค่ายอยู่ชายแดนบังกลาเทศ

หากมองจากภาพรวมปฏิกิริยาของโลกมุสลิมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวแบบองคาพยพในทุกระดับของสังคม การแสดงจุดยืนและท่าทีไปในทิศทางเดียวกันของโลกมุสลิมในลักษณะนี้มีไม่บ่อยนักเพราะอย่างที่ทราบกันว่าในโลกมุสลิมก็มีความขัดแย้งกันภายในสูง ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่โลกมุสลิมมีจุดยืนร่วมกันคือปัญหาการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าโลกมุสลิมมีความห่วงใยต่อวิกฤตของชาวโรฮิงญาและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยะไข่ ไม่น้อยไปกว่าปัญหาของชาวปาเลสไตน์เลย แต่กรณีของโรฮิงญาอาจจะหนักหนาสาหัสกว่าเพราะรัฐบาลเมียนมาร์กำลังพยายามลบล้างประวัติศาสตร์โรฮิงญาอย่างเป็นระบบ โดย UN ก็ยกให้โรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงรังแกมากที่สุดในโลก

เราเห็นแล้วว่าโลกมุสลิมมีจุดยืนเดียวกันต่อปัญหาโรฮิงญา แต่จะมีมาตรการหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อชาวโรฮิงญาอย่างไรแบบยั่งยืนเป็นรูปธรรมที่สามารถรับประกันสิทธิและความมั่นคงในชีวิตได้อย่างไร ต้องจับตามองต่อไปครับ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 1) : อดีตประธานาธิบดีตูนิเซียพูดถึงปัญหาโรฮิงญา

คุยเรื่อง “โรฮิงญา” จากกรุงโซลถึงกรุงเทพฯ (ตอนที่ 2) : ผมเรียกโรฮิงญา เขาเรียกเบงกาลี