Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี 3 คน, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่ในร่ม

 

ผมบันทึกสาระที่โดดเด่น จากอาจารย์ณัฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รศ.ดร.แห่ง ม.ทักษิณ ที่ได้วิเคราะห์สังคมไทยโดยเฉพาะกระบวนภาคประชาชนภาคใต้ได้อย่างแหลมคม จากวงคุย "ขบวนการภาคประชาชนภาคใต้" ได้น่าสนใจมาก ลองอ่านดูครับ

"ปัจตุบันรัฐส่วนกลางกำลังสถาปนาโครงสร้างอำนาจระบบอุปถัมภ์ให้แน่นหนาขึ้น ทวงคืนพื่นที่อำนาจของชนชั้นนำที่สูญเสียไปในสองทศวรรษให้กลับมา ด้วยเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่ราบเรียบด้วยรถถังและอำนาจปืนที่ปิดกั้นและกดทับการเคลื่นไหวของประชาชน ใช้วาทกรรมคืนความสุข สามัคคี ปรองดอง ไทยแลนด์ 4.0 รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ มาเป็นวาทกรรมและเครื่องมือในการออกแบบสถาปนาการเมืองชนชั้นนำ กดและลดทอนกลุ่มภาคประชาชนในสังคม กดอัดองค์กรที่หนุนภาคประชาชนเช่น พอช.(หน่วยงานรัฐที่จัดตั้งชาวบ้านได้ดีที่สุด) สสส.(ให้งบหนุนชาวบ้านเติบโตมากที่สุด) ปปช.กสม.(องค์กรอิสระข้างประชาชนถูก set zero) ขุดรากถอนโคนกลุ่มใหม่ๆในสังคม

แต่รัฐจะกดอย่างเดียวก็ไม่ได้แล้ว รัฐก็ต้องไปญาติดีกับกลไกดั้งเดิมเช่นผูกมิตรกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพิ่มอำนาจผู้ว่า แต่ยุบเลิกหรือกดปิดพื่นที่ อบต.อบจ. สร้างกลไกใหม่เช่นกลไกประชารัฐมาครอบงำสังคมแทน เพื่อให้เกิดระบอบอำนาจใหม่ที่รัฐผนวกทุนกดทับประชาชน

ปัญหาประชาชนถูดลดทอนให้เหลือเพียงปัญหาเหลืองแดง แท้จริงปัญหาประชาชนไม่มีสี เรื่องที่ดิน ป่าไม้ ฐานทรัพยากร สุขภาพ ประมง เศรษฐกิจฐานราก แท้จริงไม่มีสี แต่รัฐผลักให้เป็นเรื่องสีเพื่อลดพลังประชาชน และเราก็หลงไปในกับดักนั้น

ดุลอำนาจที่ไม่สมดุลในปัจจุบันนั้นทำให้เกิดการรอปะทุ สังคมไทยวันนี้สงบเพราะการกดทับด้วยอำนาจปืน แต่ยังรอปะทุ การเติบโตของภาคประชาชนในยี่สิบปีที่ผ่านมาคือก้างขวางคอชิ้นสำคัญของชนชั้นนำและพลังอำนาจเก่าและทุนผูกขาด ระบอบใหม่จึงพยายามทำลายภาคประชาชนให้มากที่สุด เดิมเราคุยกับ รมต.ได้ แต่ปัจจุบันต้องขออนุญาตด้วย พรบ.ชุมชน

เรารณรงค์งดเหล้า แต่วันนี้เซเว่นขายเบียร์สดกดได้เอง รัฐโค่นยางทวงคืนผืนป่าแต่มายกให้เอกชนเช่าพื้นที่ ไทยแลนด์ 4.0 ก็ใช้กฎหมายใหม่ๆมาทำลายฐานทรัพยากร ภาคใต้เองที่เรานึกถึงทะเล หาดทราย อาหารดี สีเขียวแต่จะเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสีดำ นี่คือตัวอย่างแห่งหายนะของพื้นที่ประชาชนจากสถาปนาอำนาจรัฐให้ยึดคืนพื้นที่กลับมา

อย่างไรก็ตาม ขบวนการภาคประชาชนก็มีจุดอ่อนหลายเรื่อง ที่สำคัญคือขบวนประชาชนแข็งแกร่งเป็นรายกรณีรายประเด็นรายพื้นที่ แต่การต่อสายเป็นภาพรวมของภาคประชาชนนั้นไม่มี เราจึงไม่สามารถผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใหญ่ๆเช่น รัฐธรรมนูญของประชาชน ยุทธศาสตร์ชาติหรือภาคของประชาชน ซึ่งเราไปไม่ถึง

ภาคประชาชนเราไม่มีอุดมการณ์ร่วม เราไม่มีสนามการเคลื่อนไหวร่วม เรายังไม่มีสัญลักษณ์ร่วมของการเคลื่อนไหว ไม่มีปฎิบัติการร่วม เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเรียกว่ามีขบวนการร่วมได้

และภาคประชาชนที่ผ่านมา เสียงของคนเล็กๆเสียงของชาวบ้าน เสียงคนพื้นที่จริงๆยังเบาไป ไม่ถูกสะท้อนด้วยชาวบ้านเอง เราต้องสร้างขบวนชาวบ้านจริงๆให้สะท้อนเสียงปัญหาของเขาออกมา

วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาสร้างขบวนการ มาร่วมเปล่งเสียงของขบวนการ แสดงตัวตนที่ไม่ยอมจำนนกับระบอบใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ฝังราก ยกระดับประเด็นงานสถานการณ์พื้นที่ มาสู่การยกระดับสู่กติกาใหม่ สมดุลอำนาจใหม่ ที่ภาคประชาชนมีตัวตนและอยู่ในสมการประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

ขบวนภาคประชาชนภาคใต้ จึงต้องสร้างพื้นที่กลาง พื้นที่ที่สะท้อนเสียงของคนใต้ เราต้องทำสนามที่มีคุณภาพทั้ง 3 ระดับคือระดับพื้นที่ ประเด็นและข้อเสนอร่วม โดยเคลื่อนไหวแสดงพลัง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์และสื่อสารในทุกช่องทาง"

10 ตุลาคม 2560 ม.ทักษิณ พัทลุง