Skip to main content

 

จับตาเอเชียใต้กับการเมืองโลก (ตอนที่ 1)

: สงครามอัฟกานิสถานของทรัมป์และภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียใต้

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

       ผมคิดอยู่นานว่าอยากจะเขียนซีรีย์บทความเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียใต้ แต่ไม่มีโอกาสได้เริ่มเสียทีจนกระทั้งสถานการณ์ในเอเชียใต้ในขณะนี้เริ่มส่งสัญญาณส่อเค้าตึงเครียดในหลาย ๆ ประเด็นและอาจลุกลามกลายเป็นชนวนสงครามใหญ่ ๆ โดยเฉพาะครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจแถวนั้น กล่าวคือ อินเดีย ปากีถสาน และจีน ทั้งนี้นอกจากการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคแล้ว สถานการณ์ในเอเชียใต้ยังมีความสลับซับซ้อนมากเพราะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองโลกทำให้เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ต้องจับตามองพอ ๆ กับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง คาบสุมทรเกาหลี และทะเลจีนใต้

       ด้วยความที่ชอบศึกษาและติดตามสถานการณ์ในเอเชียใต้ โดยเฉพาะสมัยเรียนที่อินเดียผมจะให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียใต้และการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ จึงอยากนำความรู้เดิมที่อาจยังไม่มากพอมาต่อยอดเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมกับจับตาความเป็นไปของภูมิภาคนี้ไปด้วยกัน

       ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาหรือนับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้อุณภูมิการเมืองโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาค สวนทางกับสถานการณ์ในเอเชียใต้ที่ไม่ได้เกิดความตึงเครียดอะไรมากนัก อาจจะมีบ้างในกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์พบนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยอินเดียแสดงความพร้อมที่จะเข้าฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แน่นอนว่าปากีสถานซึ่งเป็นพันธมิตรแนวหน้าของปากีถสานคงไม่ค่อยจะสบายใจนัก จีนที่เป็นทั้งคู่ปรับของสหรัฐฯและอินเดียก็คงจับตาความเคลื่อนไหวนี้ แต่กระนั้นก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเพราะทุกฝ่ายยังคงรักษาท่าทีของตัวเอง ไม่แสดงความเป็นปรปักษ์หรือความแข็งกร้าวต่อกันมากนัก

       แต่ทว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาเป็นต้นมา สถานการณ์ในเอเชียใต้เริ่มปะทุขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่มีการยิงปะทะกันตามแนวชายแดน ปัญหาการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารจีนกับอินเดียบริเวณพรมแดนของรัฐสิกขิมและประเทศภูฏาน แต่ที่น่าจับตามองคือการที่โดนัล ทรัมป์ ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับอัฟกานิสถานโดยประกาศกร้าวว่า “จะสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับอิรัก สหรัฐฯจะคงกำลังของตนในอัฟกานิสถานต่อไป (สวนทางกลับนโยบายของโอบามาที่ปูทางสู่การถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ยังขัดแย้งกับนโยบาย America First ของเขาเองด้วย) ...ทรัมป์มองว่าการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศที่จะทำให้ผู้ก่อการร้ายผงาดขึ้นมาแทนที่”

       นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตามคือสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรแนวหน้าอย่างปากีสถาน เมื่อทรัมป์กล่าวหาปากีสถานว่า “เป็นแหล่งซ่องสุมกลุ่มก่อการร้าย โดยย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่ทนต่อประเทศที่ให้ที่พักพิงกับกลุ่มหัวรุนแรง ...ปากีสถานจะต้องพบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหากไม่เลือกยืนข้างสหรัฐฯ”

       ในแผนการคงกำลังในอัฟกานิสถานจากเดิมที่เคยกำหนดตามกรอบเวลา ทรัมป์ได้เปลี่ยนมาเป็นการใช้สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ซึ่งหมายความว่าสมรภูมิในอัฟกานิสถานจะยังคงยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีกำหนด อันที่จริงการประกาศในลักษณะนี้ของทรัมป์ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่านโยบายของประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ทั้งนี้ อดีตนักการทูตสหรัฐฯ นาย Jim Jatras มองว่าในประเด็นด้านการเสริมกำลังทหารว่า “หากทรัมป์จะส่งทหารเข้าไปเพิ่มอีก 4000 นายตามที่เป็นข่าว ก็ถือว่าไม่ได้เป็นตัวเลขที่ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรมากนักเมื่อเทียบจำนวนทหารในอัฟกานิสถานเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งการส่งทหารเข้าไปมาก ๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรและไม่ได้นำไปสู่ทางออกที่จะทำให้เราสามารถถอนตัวออกจากสงครามนี้ได้ ”

       Jatras ยังมองว่า “นี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่ใช่แม้แต่จะไปเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ด้วยซ้ำไป แต่เป็นชุดกลยุทธที่คล้ายกับที่เราเคยเห็นในสมัยโอบามา ในขณะเดียวกันก็ไม่มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจน ไม่รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรและจะบรรลุเป้าหมายนั่นได้อย่างไร .... แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอัฟกานิสถาน ต่อจากนี้ไปมันคือสงครามของทรัมป์ (Donald Trumps’ war) เขาต้องรับผิดชอบในทุกคำตำหนิต่อความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีอะไรผิดพลาดจากนี้ไปมันคือความผิดของเขาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับโอบามา ไม่เกี่ยวกับจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อีกแล้ว”

       Richard Becker ตัวแทนจากกลุ่ม ANSWER Coalition ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสงคราม มองว่า “สหรัฐฯ อ้างความชอบธรรมในการคงทหารในอัฟกานิสถานว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการก่อการร้าย แต่พวกเหล่านั้นแหละที่เป็นตัวการของปัญหาความไม่สงบที่เพิ่มมากขึ้น.....สาเหตุของปัญหาความไม่สงบก็มาจากการยึดครองอัฟกานิสถาน คำปราศรัยในวันนี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย” Becker ย้ำว่า “การรุกรานของสหรัฐฯ เป็นการเปิดช่องให้เกิดกลุ่มองค์กรก่อการร้ายใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ....เราต้องไม่ลืมว่าการปรากฎขึ้นมาอย่างโดดเด่นขององค์กรเหล่านี้ (ทั้งอัลกออิดะห์ และกลุ่มไอเอส) เป็นเพราะสหรัฐเข้าไปรุกรานอิรัก โค้นล้มรัฐบาลลิเบีย และกรณีที่ไปสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ทั้งหมดนี้คือการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่าง ๆ มีพัฒนาการและเติบโตขึ้นมาได้....ก่อนหน้านี้ไม่มีไอสิส (ไอเอส)ในอัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้ไอสิสมีอยู่ทั่วไปในหลาย ๆ ประเทศ” Becker ชี้ว่า “ในอัฟกานิสถานโดยเฉลี่ยแล้วมีคนตายวันละ 40 รายจากปัญหาการสู้รบกันในประเทศ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลบุชหรือโอบามา และตอนนี้เป็นยุคของทรัมป์ รัฐบาลเหล่านี้ไม่เคยใช้แนวทางในการเจรจาเพื่อนำไปสู่การยุติสงครามเลย”

       แม้ว่าการประกาศนโยบายของทรัมป์ต่ออัฟกานิสถานจะไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปจากเดิมนัก แต่การแสดงท่าที่ที่แข็งกร้าวเช่นนี้ย่อมมีนัยสำคัญทางการเมืองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะนโยบายต่อภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งจากนี้ไปทรัมป์น่าจะให้ความสนใจภูมิภาคนี้มากขึ้นและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียใต้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับดุลความสัมพันธ์ใหม่ รวมทั้งแนวทางในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในวันที่อาจไม่มีปากีถสานเป็นพันธมิตรร่วม การขัดขวางเส้นทางสายไหมของจีนและสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซียในเอเชียใต้ การสนับสนุนอินเดียเพื่อขึ้นมาคานอำนาจกับจีนและปากีสถานที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกัน โดยเฉพาะเมื่อปากีถสานกำลังตีตัวออกห่างสหรัฐฯ มากขึ้นทุกที่ ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การปรับภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศของเอเชียใต้ในบริบทที่มหาอำนาจโลกกำลังเข้ามาใช้เป็นสนามอีกแห่งหนึ่งในการขับเคี้ยวกันอย่างเข้มข้น

       ในบทแรกนี้คงฝากไว้เป็นภาพกว้าง ๆ และคงได้มีโอกาสมาเจาะรายละเอียดในโอกาสต่อ ๆ ไปตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือหากไม่มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ก็จะนำเอาข้อมูลทางประวิติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ปัจจุบันมานำเสนอไปเรื่อย ๆ ครับ