Skip to main content

 

 

#มุสลิมจะอยู่ข้างผู้ที่ถูกอธรรมเสมอ

#ชุดความคิดและปัญหาการรับรู้

เมื่อพูดถึงประเด็นปาเลสไตน์ เราในฐานะมุสลิมมักมีปัญหาอยู่สองอย่างเมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับภาระรับผิดชอบทางการเมือง จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเราจะทำอย่างไรให้คนตะวันตกนั้นสนใจปัญหาปาเลสไตน์? สิ่งที่ต้องนำมาพูดคุยในครั้งนี้ควรเริ่มจากหลักการที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม “มุสลิมจะอยู่ข้างผู้ที่ถูกอธรรมเสมอ” ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าปัญหานั้นจะมาจากประเทศมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่มักมุ่งความสนใจไปที่ ๆ เดียว แล้วลืมปัญหาที่อื่น ๆ ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ถ้าเราอยากให้ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์มากขึ้น เราควรรับรู้ปัญหาการอธรรมที่เกิดขึ้นที่อื่นด้วยเช่นกัน ไม่ใช่สนใจแต่ปัญหาที่เกิดเฉพาะกับมุสลิมเท่านั้น เราจะต้องช่วยเหลือทุกคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง

เหมือนกับปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นที่ทิเบต เรากลับไม่ได้ยินมุสลิมคนไหนออกมาพูดเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ เราไม่ได้ยินมุสลิมคนไหนออกมาพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา หรือแรงงานที่ถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสในยุคสมัยใหม่นี้ เราออกมาพูดเฉพาะประเด็นปาเลสไตน์ หรือเราออกมาพูดเวลาที่อิสลามหรือมุสลิมกำลังมีปัญหาเท่านั้น ซึ่งการต่อต้านความอธรรมแบบเลือกปฏิบัตินี้นั้นเป็นปัญหาในตัวมันเอง มันแสดงให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในชุดความคิดของเรา ในวิธีที่เราปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะการช่วยเหลือฝ่ายที่ถูกอธรรม อย่างน้อยคือการรับรู้ข่าวสารของผู้อื่นที่เดือดร้อนในสถานการณ์อื่นๆ ด้วย เสียงของมุสลิมอยู่ไหนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศรวันดา? ทำไมเราถึงไม่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้บ้าง? คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมควรช่วยเหลือสนับสนุนฝ่ายที่ถูกอธรรม ดังคำสอนของเราที่มีเรื่องราวมากมายบันทึกไว้ว่า มุสลิมยอมเปิดมัสยิดเพื่อช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองแก่ผู้คน แต่เมื่อกลับมาดูความจริงในยุคสมัยนี้ เรากลับไม่มีปากเสียงที่ดังมากพอเมื่อผู้ที่กำลังเดือดร้อนนั้นไม่ใช่มุสลิม เราจึงไม่ควรปล่อยให้การเลือกปฏิบัติแบบนี้ดำเนินต่อไป ยกตัวอย่างความอธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศรวันดา ปัญหาที่นั่นถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่ประชาชนของพวกเขาถูกอธรรมมากที่สุดเช่นกัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า เราเห็นผู้คนมากมายกำลังถูกอธรรมอยู่ที่นั่น และยิ่งกว่านั้นวิธีที่ชาวโรฮิงยาถูกปฎิบัติจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่แทบจะยอมรับไม่ได้

การออกมาต่อต้านความอธรรมของเราจึงเป็นการคล้อยตามสื่อเท่านั้น แต่เราไม่ได้ตระหนักถึงแก่นของปัญหาจริง ๆ จึงเป็นเหตุว่าทำไมจริยธรรมถึงสำคัญ เพราะผู้ที่มีจริยธรรมคือผู้ที่ออกมาพูดเรื่องความยุติธรรมขณะที่ทุกคนกำลังนิ่งเงียบ ไม่มีสำนักข่าวหรือสื่อสำนักใดที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เมื่อไหร่ที่สื่อเริ่มออกมานำเสนอเรื่องราวปัญหาความอธรรม กลับกลายเป็นว่าการต่อต้านความอธรรมของเราเป็นไปตามกระแสอารมณ์เท่านั้น แต่เมื่อไหร่ที่สื่อไม่ได้กล่าวถึง โลกทั้งโลกเงียบ การต่อต้านในช่วงจังหวะเวลาแบบนี้ถึงจะเป็นการต่อต้านด้วยเหตุผลจริง เป็นของประชาชนจริง เพราะไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมากมาย ถึงจะบอกให้โลกรับรู้ว่ามีการสังหารหรือมีคนล้มตาย ณ ที่นั่น

ประเด็นสุดท้ายที่ขอกล่าวถึงคือ เราต้องกลับมาทบทวนพิจารณาเนื้อหาที่เรานำเสนอ ด้วยกับเกมอำนาจและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เราต้องฉลาดและมีไหวพริบ ต้องลำดับความสำคัญให้แม่นยำ เพราะเมื่อใดที่เราใช้อารมณ์ตอบโต้ เราจะลำดับปัญหาความสำคัญผิดพลาด เราอาจจะไปพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดในตอนนี้ หรือเราอาจจะลืมพูดในสิ่งที่ต้องพูดเป็นลำดับแรก ขณะที่ทุกวันนี้นั้น กระแสอิสลาโมโฟเบียยิ่งทวีความรุนแรงและฝังรากลึก จะมีกลุ่มคนที่คอยโจมตีถึงการมีอยู่ของชาวมุสลิมตลอดเวลา มุสลิมในยุโรปนั้นถูกตำหนิเป็นเวลาหลายปีว่าทำไมเราไม่ยอมทำตัวให้กลมกลืนกับสังคมตะวันตกสักที แต่เมื่อมุสลิมมีความกลมกลืนกับสังคมตะวันตกมากเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่ามุสลิมยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เพราะตอนนี้มุสลิมใช้ภาษาของตะวันตกเป็นและเราก็รู้กติกาของตะวันตก สำหรับนักการเมืองบางกลุ่ม พวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ดี พวกเขารู้ว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเรื่องของความเห็นและตัวเลข เป็นเหตุว่าทำไมทุกที่ในโลกตะวันตกจึงเกิดการสนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึกที่โน้มเอียงไปทางชาวปาเลสไตน์มากขึ้น ผู้คนเริ่มสนับสนุนพวกเขามากขึ้น กลุ่มคนผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลทั้งหลายจึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้มุสลิมนั้นเสมือนว่าเป็นภัยคุกคาม ดังนั้นเราจึงไม่ควรออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในฐานะมุสลิม แต่เราควรเริ่มจากการออกมาในฐานะพลเมืองหรือในฐานะประชาชนร่วมกับคนอื่นๆ เพราะต้องขอโทษด้วย ปัญหาปาเลสไตน์ไม่ใช่ปัญหาของมุสลิมเท่านั้น เพราะว่าที่นั่นมีชาวคริสเตียน มีผู้คนต่างความเชื่อ หรือแม้แต่คนไม่มีศาสนา พวกเขาทั้งหมดต้องประสบกับความสูญเสียมากมายด้วยเช่นกัน เราต้องให้เกียรติทุกชีวิต เราต้องแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ร่วมกับพวกเขาเช่นกัน เพราะทุก ๆ ปัญหาที่เกี่ยวกับการกดขี่และการแสดงออกซึ่งหลักจริยธรรม ไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่เราเป็นผู้ประสบความเดือดร้อนเท่านั้น เหมือนกับการเหยียดชนชาติผิวดำนั้นไม่ใช่ปัญหาของคนผิวดำเท่านั้น เพราะมันคือปัญหาของพวกเราทุกคน มุสลิมชอบทำให้อิสลาโมโฟเบียเป็นปัญหาเฉพาะของมุสลิม แต่ความจริงคือไม่ใช่ นี่คือปัญหาของพวกเราทุกคน เราต้องยกระดับการเสวนาปัญหาด้วยการยกหลักจริยศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “หลักการ” และ “การยืนหยัดในหลักการ” ว่ามีความสำคัญยิ่ง

ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน

====================================

ภาพประกอบจากงาน Geneva Peace Conference ปี 2014

 

ที่มา Ghurabaa' - The Strangers