Skip to main content

ศ.ดร. ฏอริก  รอมฎอน  เขียน    อิมรอน  โสะสัน  แปล/เรียบเรียง 

Integration, Welcome, Shaking Hands, Hand In Hand

                           (ภาพอ้างอิงจาก https://pixabay.com/en/integration-welcome-shaking-hands-1777536/)

 

          ตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าพยายามทุ่มเทสนับสนุนประชาคมมุสลิมตะวันตกให้ดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีด้วยแนวคิด 3 L ดังนี้

          L ตัวแรก หมายถึง มุสลิมจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย (Law) ในประเทศของตน กฎหมายที่เคารพเสรีภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience) และเสรีภาพแห่งการปฏิบัติศาสนกิจ (freedom of worship) เป็นกฎหมายที่สอดรับกับหลักนิติศาสตร์อิสลาม ทั้งสองจะต้องวางอยู่บนฐานที่เอื้อซึ่งกันและกันอย่างเหมาะสม ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะแสวงหาแนวทาง (a path) อันเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตตามที่กฎหมายกำหนด (law-abiding) และสามารถยึดมั่นต่อความเชื่อทางศาสนาโดยไม่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงจำเป็นต้องหากรอบทางกฎหมาย (secular legal framework) ที่สร้างความเท่าเทียมกันสำหรับพลเมืองทุกกลุ่มรวมถึงมุสลิมด้วย

          L ตัวที่สอง เราพิจารณาว่ามีความสำคัญ ได้แก่ ภาษา (Language) ในที่นี้หมายถึง “ภาษาประจำชาติ” ในฐานะพลเมือง เพราะ “ความเป็นพลเมือง” มีความหมายครอบคลุมถึง การมีอำนาจ มีหน้าที่และสิทธิ เราไม่สามารถได้ชื่อว่า “พลเมืองตัวจริง” (true citizen) หากเราปฏิเสธภาษาประจำชาติที่ทุกคนใช้สื่อสารกัน “ภาษา” ควรได้รับการสนับสนุนผ่านระบบการศึกษา ขณะที่เราใช้ภาษาอาหรับ (Arabic) เพื่อการเข้าใจ เข้าถึงอัลกุรอานและตัวบทคำสอน ขณะเดียวกัน เราต้องให้ความสำคัญการเรียนรู้และรู้สึกอุ่นใจกับภาษาของประเทศหรือของชาติ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีส่วนเกี่ยวข้อง (involved) มีส่วนร่วม (participated) และทำหน้าที่เป็น“พยาน” (witness) ในการพัฒนาประเทศ พัฒนาชาติร่วมกับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอเรียก “ตะวันตก” รวมทั้ง “โลกกาภิวัตน์” ว่า “Dar Shahada” อันหมายถึง “บ้านแห่งพยาน” (abode of witness) เป็นบ้านที่เรามีตัวตน ยอมรับในคุณค่า พฤติกรรม ข้อผูกพัน และพันธสัญญาของเราร่วมกับคนอื่นๆในสังคม “ภาษา” คือปัจจัยสำคัญที่จะนำเราให้แสดงบทบาทเหล่านี้ได้

        L ตัวที่สาม Loyalty หมายถึง “ความซื่อสัตย์” เป็นความซื่อสัตย์ที่ไม่ได้ผูกโยงกับมิติความซื่อสัตย์ (จงรักภักดี) ต่อรัฐเพียงถ่ายเดียว ความซื่อสัตย์นี้กินความถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เป็นรัฐที่เราใช้ชีวิตและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เรามีส่วนร่วมเต็มที่กับสังคมของเรา อย่างไรก็ตาม ความซื่อสัตย์ที่เรามีต่อรัฐไม่ควรเป็นความซื่อสัตย์แบบตาบอดหลับหูหลับตา (loyalty is not blind support to the nation) ไม่ใช่แบบถ้อยแถลงให้ผู้คนเลือกข้าง “จะอยู่ข้างเรา หรือจะเป็นศัตรูกับเรา” (you are with us or against us)  ความซื่อสัตย์นี้จะต้องเป็น “ความซื่อสัตย์แบบมีสติ” (critical loyalty) กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในฐานะ “พลเมือง” เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องสำหรับประเทศชาติ ความซื่อสัตย์แบบนี้คือความซื่อสัตย์ที่เป็นจริง ที่เราต้องการให้เกิดขึ้น

          ตัว L สามตัวที่ข้าพเจ้านำเสนอก็เพื่อต้องการให้มุสลิมสามารถบรรลุเป้าหมายในการทำความเข้าใจและการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม ขณะนี้มุสลิมทั้งหญิง ทั้งชาย กำลังทำหน้าที่เหล่านี้ในสังคมอย่างเต็มที่ พวกเขายอมรับ เคารพกฎหมายของประเทศ พวกเขากำลังศึกษาเรียนรู้ภาษายุโรปต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมผู้อื่น เหมาะสมกับความเป็นพลเมือง และในเวลาเดียวกัน พวกเขาได้ปลูกฝังจิตสำนึกความซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติด้วยความตั้งใจจริง

          ขอกล่าวในที่นี้ว่า หากทุกคนต้องการให้ “นโยบายผสมผสาน” ประสบผลสำเร็จ เราทุกคนควรหยุดพูดถึงมันเสียที ควรหันมาสนับสนุนแนวคิด “การให้ การช่วยเหลือสังคม” น่าจะเหมาะสมที่สุด “การช่วยเหลือสังคม คือ การมีตัวตนเชิงบวกและสร้างสรรค์”

          นอกจากนั้น ทุกคนต้องช่วยกันเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกความรู้สึกความเป็นเจ้าของประเทศและการเขียนประวัติศาสตร์ร่วม เราแต่ละคนสามารถเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในวิทยาการแขนงต่างๆได้ เช่น ศิลปะ การบันเทิง กวีนิพนธ์ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และการศึกษา เป็นต้น  ในทางกลับกัน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปรปักษ์ไม่เป็นมิตร (hostile) ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะกล่าวถึงมิติทางวัฒนธรรม (by culture) มุสลิมสามารถผ่อนคลายและยอมรับว่า “พวกเขาคือชาวตะวันตก”ด้วยเช่นกัน

Responsibility Concept Stock Images

                (ภาพอ้างอิงจาก https://www.dreamstime.com/stock-images-responsibility-concept-image2532...)

ความรับผิดชอบร่วมกันแบ่งปัน

          ข้าพเจ้ามีความคาดหวังสูงยิ่งว่า ผลลัพธ์ที่สังคมตะวันตกจะได้รับเป็นชิ้นเป็นอันจากประชาคมมุสลิมในฐานะผู้ให้ ผู้สนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุด ต้องอาศัยระยะเวลาสักสองชั่วอายุคน (generation) ประชาคมมุสลิมต้องค่อยๆพัฒนาตัวเองเป็นกระบวนการ เพื่อเข้าไปรับผิดชอบสังคมร่วมกับผู้อื่น

          แน่นอน เราอาจเห็นบทบาทเชิงสร้างสรรค์จากคนของเราอยู่บ้างในเรื่องกีฬา วัฒนธรรม นักข่าว นักหนังสือพิพม์ และ สื่อสารมวลชน เป็นอาทิ สิ่งเหล่านั้นอาจไม่เพียงพอ เราอยากเห็นคนของเรามีบทบาทเพิ่มขึ้นในวิชาชีพอื่นๆ ได้แก่ แวดวงศิลปะ วงการการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ ผู้ขับเคลื่อน ชี้นำ พลวัตทางสังคม เป็นต้น

          ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงความสำเร็จในการแบ่งปันบทบาทความรับผิดชอบสังคมร่วมกันเท่านั้น หากวาทกรรมในโลกตะวันตกยังคงขับเคลื่อนด้วยการวาดภาพอิสลามและมุสลิมว่า เป็นพวกมนุษย์ต่างดาว (alien factor) และยังได้รับการหนุนหลังจากนโยบายประชานิยมแบบแบ่งเขา แบ่งเรา สังคมตะวันตกก็อย่าคิดหวังความก้าวหน้าไปมากกว่านี้

          “ความเจริญก้าวหน้าของสังคมเชิงสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทุกคนยอมรับการอยู่ร่วมกันภายในสังคมเดียวกัน ไม่ใช่สถานการณ์ที่ต่างคนต่างหนีความจริงอยู่ร่ำไป”

           “ความรับผิดชอบร่วมกันแบ่งปัน” ต้องถูกจัดวางให้สำเร็จเป็นเงื่อนไขแรก (prerequisite) สำหรับการสร้างความหมายใหม่ของ “ความเป็นเรา” “ความเป็นชาติ” “ความเป็นสังคม” และ “การเป็นเจ้าของ”ในการเขียนประวัติศาสตร์ร่วมสำหรับพวกเราทุกคน ดังนั้น พลเมืองทุกคน ทุกๆธรรมเนียมปฏิบัติ สามารถทำหน้าที่ผู้ให้ ผู้ช่วยเหลือเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมนี้ได้

          “พหุสังคม” คือ “สินทรัพย์ทรงคุณค่าแน่นอน” แต่ต้องอาศัยเวลา อาศัยความพยายาม และความถ่อมตนทางปัญญา (intellectual humility)ที่จะเข้าใจว่า วัฒนธรรม ประเพณี ความทรงจำที่เรามี เราต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่า เห็นราคาและช่วยสนับสนุนเราเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับโลกนี้

          การชื่นชมต่อการให้และการยอมรับการดำรงอยู่ของผู้อื่นถือว่า เป็นความคิดเชิงบวกอย่างยิ่ง  เราทุกคนมีพื้นที่/ห้อง (room) สำหรับการเรียนรู้และช่วยกันเปิดพื้นที่หรือห้องนั้นให้กว้างขึ้นเพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (live together) ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเหลือเกินว่า สิ่งนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะนำเราทุกคนบรรลุถึงความตระหนักของผู้มีจิตเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ (humanist) ผู้ที่อุทิศตนเพื่อ”พหุสังคม” (สังคมที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน)

          การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น (living together) ไม่ได้หมายถึง เราต้องลืมตัวตนของเรา แต่หมายถึง การซื่อสัตย์ไม่หลอกลวงต่อตัวเราเอง ต่อหลักยึดมั่นศรัทธาของตัวเรา ในขณะเดียวกัน ก็มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น/ผู้ที่ต่างจากเราอย่างสร้างสรรค์ เราทุกคนอาจมีเส้นทางเดินต่างกัน มีศาสนาที่เคารพนับถือต่างกัน แต่ทว่า แน่แท้ เราทุกคนมีอนาคตร่วมกัน...

 (วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะกัม)

                                         Second Week - Picture

                                           (ศ.ดร. ฏอริก  รอมฎอน  ผู้เขียน อ้างอิงจาก https://www.rpc.ox.ac.uk/politics-in-migration/)