Skip to main content

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข: ไทยกำลังคัดเลือกที่ตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” หลังมาราปาตานีเสนอตัวเลือก 5 อำเภอแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
กรุงเทพ และ ปัตตานี
 
 
170713-th-safety-620.jpg
พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพุดคุยเพื่อสันติสุข แถลงข่าวต่อมื่อมวลชนหลังจากกลับมาจากการประชุมกับองค์กรมาราปาตานี ที่มาเลเซีย วันที่ 28 สิงหาคม 2558
 เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพุดคุยเพื่อสันติสุข ได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดี (13 กรกฎาคม 2560) นี้ว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างมาราปาตานี ได้เสนอรายชื่ออำเภอ 5 อำเภอเพื่อให้ฝ่ายไทยได้คัดเลือกเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” แล้ว ซึ่งฝ่ายคณะทำงานของไทยจะได้คัดเลือกอำเภอเป้าหมายหนึ่งอำเภอต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งแห่ง โดยในชั้นต้น ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกอีกครั้ง ซึ่งการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และเป็นการทดสอบว่าฝ่ายมาราปาตานี สามารถควบคุมเหตุรุนแรงได้หรือไม่

“ขณะนี้ ทีมเขาก็ลงพื้นที่อยู่ พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ สำนักเลขาฯ คณะพูดคุยฯ กำลังลงไปดูความพร้อมของพื้นที่” พลเอกอักษรา กล่าวแก่เบานาร์นิวส์ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

“คือเขาเสนอมา 5 พื้นที่แล้ว เราก็ดูว่าของเราพื้นที่ใดพร้อม ถ้าพร้อมก็ประกาศใช้เลย ทางโน้นเขาก็แค่เห็นด้วย ต้องทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน และให้คณะกรรมการเขาเป็นคนบอกอีกที ตอนนี้ ของเราก็อยู่ที่พื้นที่ อยู่ที่ กอ.รมน. ภาค 4 อำเภอไหนพร้อมก็กำหนดมา” พลเอกอักษรา กล่าวเพิ่มเติม

ในการประชุมในมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ได้ตรวจสอบและเห็นชอบในการจัดกรอบการดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง โดยได้เห็นชอบต่อพื้นที่ที่เสนอมาห้าพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ในปัตตานี 1 แห่ง ในยะลา 2 แห่ง และในนราธิวาส 2 แห่ง ซึ่งจะคัดเลือกไว้เพียงหนึ่งแห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ประกอบด้วยตัวแทนจากปาร์ตี้เอ (รัฐบาล) ปาร์ตี้บี (มาราปาตานี) ตัวแทนจากองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย โดยจะใช้เวลาสำรวจสามเดือน และจะใช้เวลาอีกสามเดือนในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยให้เรียบร้อย นายอาบู ฮาฟิซ ระบุ

นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงระลอกล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการก่อความไม่สงบแล้วกว่า 7,000 ราย และหากนับจากวันที่มีการตกลงจะก่อตั้งพื้นที่ปลอดภัยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 138 ราย

“ผลสัมฤทธิ์ มันอยู่ที่ความพร้อมของพื้นที่ ทีนี้พื้นที่ของเรายังไม่พร้อม” พลเอกอักษรา กล่าว

 

คู่เจรจาเป็นตัวจริง

มาราปาตานี ประกอบด้วย สมาชิกจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู)  กลุ่มบีไอพีพี (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี)  กลุ่มจีเอ็มไอพี (ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี)  และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล (องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี) อีกสองกลุ่ม ได้เจรจาเต็มคณะกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข เป็นครั้งแรก ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558

ในขณะที่มาราปาตานีประกอบด้วยกลุ่มปฏิบัติการ (BRN Action Group) ที่ประกอบด้วย นายอาวัง ยะบะ ประธานมาราปาตานี  นายมะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจา  และนายอาหมัด ชูโว  กลับมีกลุ่มที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น โดยนายอับดุลการิม คาหลิด ได้ออกแถลงการณ์ว่ากลุ่มผู้เห็นต่างที่ประเทศไทยคุยด้วยนั้นไม่ได้เป็นผู้รับฉันทานุมัติโดยชอบธรรมจากขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเจรจาให้ถูกตัว พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีผู้สังเกตการณ์และพยานที่เป็นกลุ่มนานาชาติในกระบวนการเจรจา

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนนี้ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า อาจจะมีการแนะนำให้พลเอกอักษรา พูดคุยกับทางผู้อำนวยความสะดวก และมาราปาตานี เพื่อให้ไปตรวจสอบดูว่ายังมีกลุ่มผู้เห็นต่างใดๆ ที่ยังไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมพูดคุยหรือไม่ ในเรื่องนี้ พลเอกอักษรา กล่าวยืนยันว่า คณะพูดคุยฯ ได้เจรจากับตัวจริงมาโดยตลอดแล้ว

“ที่พูดคุยอยู่ก็คือบีอาร์เอ็นหลัก เขาพูดคุยอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะมีใครที่ไหนอีก” พลเอกอักษรา กล่าว

เมื่อวานนี้ นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ว่า ทางมาราปาตานีและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จะมีการพูดคุยเป็นทางการอีกครั้งในปลายเดือนนี้ แต่พลเอกอักษราได้กล่าวว่า กำหนดการการเจรจาในครั้งหน้าขึ้นอยู่กับมาเลเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายผู้อำนวยความสะดวก

“เรื่องการพูดคุยสันติสุข ต้องถามผู้อำนวยความสะดวก เพราะเขาเป็นคนนัด แต่ผมยังไม่ทราบ เรื่องความคืบหน้าพื้นที่ปลอดภัย” พลเอกอักษรากล่าว

“ก็คุยกันตลอด ช่วงเดือนรอมฎอน ก็คุยทั้งเป็นบุคคล ทั้งเป็นคณะเทคนิค คุยกันเต็มคณะ เมื่อวานผมก็พบกับท่านดาโต๊ะผู้อำนวยความสะดวก” พลเอกอักษรากล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในเงื่อนไขเบื้องต้นสามประการที่ทางฝ่ายไทยเรียกร้องจากฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย  สอง การพัฒนาพื้นที่  และสาม การเข้าถึงความยุติธรรมของทุกฝ่าย ในขณะที่กลุ่มมาราปาตานี ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อไทย 3 ข้อ คือ  หนึ่ง ให้ยกปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ  สอง ยอมรับกลุ่มมาราปาตานี และ  สาม ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อตัวแทนพูดคุยของมาราปาตานี

เงื่อนไขเบื้องต้นทั้งหมดของทั้งสองฝ่าย จะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเจรจาเพื่อสันติสุขต่อไปในอนาคต ซึ่งพลตรีนักรบ บุญบัวทอง ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) กล่าวว่า การเจรจามีสามขั้นตอน คือ หนึ่ง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้) สอง ขั้นตอนการลงสัตยาบันยินยอมพร้อมใจในการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ  และ สาม การทำโรดแม๊ปและดำเนินการตามโร๊ดแมปเพื่อแก้ไขปัญหาที่มี

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/safety-zones-07132017142422.html