Skip to main content
สามารถ ทองเฝือ
อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ผู้นำสหรัฐอเมริกาชื่นชมดีอกดีใจเป็นการใหญ่ที่ทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในฐานะมหามิตรแห่งชาติอาหรับของพญาอินทรีย์ที่ได้นำทีมพร้อมกับประเทศมุสลิมอีก 7 ประเทศดังที่กล่าวไว้ในตอนแรก ประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์อย่างรุนแรงในครั้งนี้....ทรัมป์พอใจกับสิ่งที่เป็นผลพวงจากการไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2560 ไม่เสียทีที่เลือกซาอุดีฯเป็นประเทศแรกในการออกเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกหลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแถมอุตสาห์เกลี่ยกล่อมให้ราชวงค์ซาอุดีฯชักชวนพรรคพวกโลกอาหรับและประเทศมุสลิมอื่นๆ มารวมตัวกันได้ถึงห้าสิบห้าประเทศ ในการประชุมสุดยอดกับสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแผ่นดินซาอุดีอาระเบียซึ่งการประชุมดังกล่าวนี้ทางประเทศกาตาร์เองก็เข้าร่วมประชุมด้วย แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนได้ ทั้งๆ ที่กาตาร์ก็เป็นเพื่อนร่วมกลุ่มชาติสมาชิกความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับที่เรียกกันว่า GCC (Gulf Cooperation Council) ที่ประกอบไปด้วยหกชาติสมาชิก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาร์เรน กาตาร์ โอมาน และคูเวต ตอนนี้ในสมาชิกของ GCC จึงเหลือแค่เพียงประเทศโอมานกับคูเวตเท่านั้นที่วางตัวยังไม่ได้ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์

อันที่จริงกลุ่มชาติสมาชิกความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับทั้งหกชาตินี้มีความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอดประหนึ่งคำพูดที่ว่าหากประเทศหนึ่งประเทศใดถูกรุกรานและได้รับความเจ็บปวดอีกห้าประเทศก็ย่อมที่จะเดือดร้อนและเจ็บปวดไปด้วยเฉกเช่นเดียวกันเปรียบเสมือนทั้งหกประเทศ GCC นี้เหมือนเรือนร่างเดียวกัน

แล้วมาวันนี้..มันเกิดอะไรขึ้น? ประเทศมุสลิมกลับทะเลาะกันเองในห้วงเวลาแห่งการถือศีลอดของมุลลิมในเดือนรอมดอนเดือนอันประเสริฐเช่นนี้??

เพราะเหตุอะไรหรือ??

เท่าที่ติดตามข่าวอ้างกันว่ากาตาร์ซึ่งเป็นรัฐอาหรับเล็กๆ แต่ร่ำรวยด้วยแหล่งน้ำมันประเทศนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายไอเอสและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (อิควาน) หรือ Muslim Brotherhood ทั้งๆ ที่กาตาร์เองยืนยันมาโดยตลอดว่าตนเองมีจุดยืนในการต่อต้านการก่อการร้าย ปฎิเสธการใช้ความรุนแรง...ต้องการความสงบไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ แถมยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไปถึงขนาดให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพอากาศที่มีชื่อว่าอัลอูดีด (Al Uedid Airforce Base) ตั้งอยู่ชานเมืองนอกกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ ฐานทัพแห่งนี้กล่าวกันว่าเป็นฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางสักด้วย แต่ก็ยังมิวายว่าเป็นประเทศที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้าย นี่คือหนึ่งข้อกล่าวหาในการโดดเดี่ยวและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตจากกลุ่มประเทศมุสลิมด้วยกันจนถึงวันนี้รวม 8 ประเทศแล้ว

ข้อกล่าวหาต่อมานั้นก็คือ กาตาร์สนิทสนมกับอิหร่านมากจนเกินไป ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าซาอุดีอาราเบียกับอิหร่านนั้นไม่ถูกชะตากัน ทั้งสองประเทศนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมา เป็นคู่ปรับตลอดกาลกันเลยก็ว่าได้ ในวันที่ประธานาธิบดีฮาซันโรฮานีของอิหร่านได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมทีผ่านมานั้น ทางประมุขแห่งกาตาร์ได้แสดงความยินดีกับทางอิหร่าน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีโดนัลทรัมป์และมีการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกากับโลกอาหรับและประเทศมุสลิมในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการประชุมในวันนั้นทางผู้นำสหรัฐอเมริกาได้กล่าวในที่ประชุมว่าให้ชาติอาหรับและโลกมุสลิมร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและกล่าวโจมตีอิหร่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความไม่สงบที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ในกรณีนี้เองจึงวิเคราะห์ได้ว่า สหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ชอบอิหร่านด้วยเช่นเดียวกันกับที่ซาอุดีอาราเบียไม่ชอบอิหร่านแถมยังบังเอิญว่าทางเจ้าผู้ปกครองกาตาร์ได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับนโยบายอเมริกาที่มีต่ออิหร่านจนเป็นข่าวออกมาให้รับรู้กัน และหวาดหวั่นกันว่าบทบาทของอิหร่านในยุคของประธานาธิบดีโรฮานีสมัยที่สองนี้นั้นจะมีบทบาทเหนือกว่าพันธมิตรของตนเองไม่ว่าจะเป็นซาอุดีฯหรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นี้คือผลพวงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการที่รัฐกาตาร์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ซึ่งเป็นอีกข้อกล่าวหาหนึ่งที่มีการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์

รัฐบาลกาตาร์และประชาชนชาวกาตาร์เดือดร้อนกันเลยล่ะคราวนี้......

ผู้นำพญาอินทรีย์ โดนัลทรัมป์จะมีท่าทีอย่างไร ซาอุดีอาระเบียพร้อมชาติพันธมิตรที่ร่วมบอคคอตกาตาร์จะเอากันอย่างไร กาตาร์เองจะแก้ปัญหานี้กันแบบไหน

ละครเรื่องนี้ยังคงไม่จบลงง่ายๆ โปรดติดตามตอนต่อไป