Skip to main content

 

ยาเสพติด: อีกภัยร้ายของคนปลายด้ามขวาน

 

 

ไม่เพียงปัญหาการก่อความไม่สงบรายวันที่สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด อย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนยังสร้างภาระให้ชาวบ้านที่ปลายด้ามขวานทั้งพุทธและมุสลิมไม่น้อย พร้อมคำถาม ใครคือผู้ที่ "มอมเมา" เยาวชน

ผลสำรวจของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ระบุว่า 1 ใน 5 ของเยาวชนในกว่า 2,000 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอใน จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อย ติดยาเสพติด

ควันบุหรี่ออกจากปากของผู้สูบImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพเยาวชนจำนวนมากในพ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะน้ำต้มกระท่อม

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 พืชกระท่อม เป็นยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ต้องหาในคดีพืชกระท่อมทั้งหมด 4,646 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำมาจำหน่ายในพื้นที่เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมของยาเสพติดยอดนิยม "สี่คูณร้อย" ซึ่งยังคงมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในทุกพื้นที่

นายฮากีมเดินอยู่กลางสวนยางImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพนายฮากีมประเมินว่าวัยรุ่นเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านติดยาเสพติด ซึ่งส่วนมากจะเป็นน้ำต้มพืชกระท่อม

นายฮากีม* พ่อเลี้ยงของ นายอานัส* บอกว่ายาเสพติด คือ ปัญหา ที่ทำให้ลูกเลี้ยงของเขาต้องเลิกกับภรรยา

"พ่อไปบอกแม่สื่อ เพราะกลัวจะเป็นเรื่อง แต่แม่สื่อไม่ได้บอกต่อ...หลังจากแต่งงานก็ได้บอก [ภรรยาลูกเลี้ยง] แต่เขาก็ยังรักกัน" นายฮากีมกล่าวกับบีบีซีไทย ที่บ้านใน ต.มะรือโยตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

หลังจากอยู่กินกับภรรยามาปีเศษ ทั้งคู่ก็ต้องหย่าร้างกันหลังจากที่แม่ของฝ่ายหญิงรู้ว่านายอานัส อายุ 37 ปี ติดยาบ้า

นายฮากีมเล่าว่า ลูกชายเริ่มเสพยามาตั้งแต่อายุ 9 ปี โดยเริ่มจากทินเนอร์ กัญชา และต่อมายาบ้า ทำให้เขาต้องหยุดเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากนั้นพออายุ 16 ปี ถูกส่งตัวไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 2 ปี

นายฮากีมและภรรยานั่งอยู่ในบ้านImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพลูกชายของนายฮากีมติดยาเสพติดตั้งแต่อายุ 9 ปี

เกิดเหตุไม่คาดคิดกับครอบครัวอีกครั้ง เมื่อลูกชายกลับบ้านพร้อมแผลที่ถูกฟันที่ศีรษะ 2 แผลและหน้าผาก 1 แผล จนถูกเย็บไป 14 เข็ม ซึ่งผู้เป็นพ่อคาดว่าน่าจะมาจากเรื่องยาเสพติด

นายฮากีมประเมินว่าวัยรุ่นเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านติดยาเสพติด ซึ่งส่วนมากจะเป็นน้ำต้มพืชกระท่อม โดยชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างพูดตรงกันกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาที่สำคัญที่พบเห็นได้เกือบทุกหมู่บ้าน คือ เมื่อไม่มีเงิน ผู้เสพก็ต้องใช้วิธีการขโมยของเพื่อนำเงินไปซื้อยา

"เคยร้องเรียนให้ผู้ใหญ่บ้านช่วย ว่าอยู่บ้านอยู่ไม่เป็นสุข มีขโมยแต่เขาก็ไม่ทำอะไร...ชุมชนไม่มีการพูดเลย ทางรัฐก็ไม่เข้ามา" นายฮากีม อายุ 59 ปี กล่าว

หน้าตึกสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI

ปัญหาครอบครัว

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานีระบุว่า ปัญหาสามีติดยาเสพติดกลายเป็นสาเหตุหลักของการหย่าร้าง ของครอบครัวไทย มุสลิมใน จ. ปัตตานี แซงหน้าเรื่องชู้สาว ที่เคยเป็นสาเหตุของการฟ้องหย่าอันดับต้นๆ ในอดีต

สถิติจากสำนักงานฯ ระบุว่า 80% ของการฟ้องหย่าทั้งหมด 525 ครั้ง ในปี 2559 มาจากการติดยาเสพติด

"ตอนนี้ถ้าไปขอเจ้าสาวแต่งงาน คุณพ่อจะถามเจ้าสาวข้อแรกว่า เล่นยาเสพติดด้วยไหม" นายอ๊ะหามะ หะยีดือราแม เลขานุการสำนักงานฯ กล่าวกับบีบีซีไทย

หญิงชาวมุสลิมเดินออกจากห้องร้องเรียน ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพหญิงชาวมุสลิมเดินออกจากห้องร้องเรียน ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

เมื่อมีการร้องเรียนมาที่สำนักงานฯ ฝ่ายชายจะถูกเรียกมาสอบถามข้อเท็จจริง หลังจากนั้นก็จะมีการประนีประนอม แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากฝ่ายชายไม่ยอมมาตามนัด ซึ่งถ้าไม่มาภายในสามครั้ง คณะกรรมการจะดำเนินการหย่าร้างให้ เนื่องจากหนึ่งในสัญญาซึ่งมีระบุไว้ในทะเบียนสมรส ของชาวมุสลิม คือ ไม่ให้สามีละทิ้งภรรยา หรือทำให้ภรรยาได้รับความเดือดร้อน

นอกจากในมิติสังคมจะไม่ยอมรับผู้เสพยาแล้ว ยาเสพติดและของมึนเมาถือว่าเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลาม ส่วนการละหมาดนั้นจะไม่นับว่าเป็นผลบุญเมื่อผู้ละหมาดอยู่ในอาการมึนเมา โดยบางหมู่บ้านมีการออก "ฮูกุมปากัต" หรือ กฎแห่งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกฎที่ตกลงกันเอง เช่น หากใครในหมู่บ้านติดยา หรือมีลูกติดยา เวลาทำกิจกรรมอะไร ผู้นำศาสนาในหมู่บ้านจะไม่ไปร่วมด้วย หรือเวลาเสียชีวิต ผู้นำศาสนาจะไปจัดการศพได้แค่คนเดียว

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีนั่งประชุมกันในห้องไกล่เกลี่ยImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพการฟ้องหย่ามักจะไกล่เกลี่ยไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายชายไม่มาไกล่เกลี่ยตามนัด ทำให้ลงเอยด้วยการหย่าร้างในที่สุด

นายอ๊ะหามะกล่าวว่า การเสพกระท่อมนั้นเริ่มเป็นปัญหาหนักขึ้นเมื่อปี 2555 และประเมินว่าเกือบ 90% ของหมู่บ้านทั้งหมดใน จ.ปัตตานี มีการใช้ยาเสพติด ซึ่งส่วนมากเป็นวัยรุ่น

"เป็นเรื่องหนักมาก เป็นข้อหนึ่งที่แก้ไม่ตก...เคยถามทหารว่ายาในปัตตานีมาก มันหลุดด่านได้ไง เขาก็ไม่มีคำตอบ เขาบอกว่าไม่ใช่ทหาร" นายอ๊ะหามะกล่าว "คำตอบหาไม่ได้ว่าทำไมมีมาก แต่ทุกวันยิ่งมาก เพิ่มไปเรื่อยๆ ลดไม่มี"

กระท่อมกลางสวนยางของนายมะแอImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพนายมะแอและเพื่อนๆ มักเสพ "สี่คูณร้อย" เพื่อให้หายจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

บ่อเกิดแห่งขโมย

กระท่อมไม้เล็กๆ กลางสวนยาง เป็นที่ที่นายมะแอ* อายุ 28 ปี และเพื่อน ใช้เสพสารเสพติดซึ่งรู้จักกันในชื่อ "สี่คูณร้อย"

"แต่ก่อนต้มเอง แต่เดี๋ยวนี้ซื้อน้ำสำเร็จรูป" นายมะแอกล่าวกับบีบีซีไทย ที่กระท่อมที่มีร่องรอยของกระป๋องเครื่องดื่มโค้ก หนึ่งในส่วนผสมของ "สี่คูณร้อย" ซึ่งเหตุที่ได้ชื่อนี้ เพราะส่วนผสมหลักสี่อย่าง คือ น้ำกระท่อม โค้ก ยาแก้ไอหรือยานอนหลับ และน้ำแข็ง

นายมะแอกำลังจุดไฟเพื่อต้มน้ำImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพการลักลอบนำเข้าพืชกระท่อมจากมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น

นายมะแอติดยาเสพติดมา 11 ปีแล้ว ทั้งน้ำต้มใบกระท่อม ยาไอซ์ และยาบ้า โดยเมื่อก่อนที่เขาเสพยาบ้า 5 เม็ดต่อวัน ต้องกรีดยางเพื่อหาเงินมาซื้อยา และบางครั้งต้องขโมยหมากแห้งเพื่อนำไปขายเป็นจำนวนเงิน 200 บาทต่อครั้ง เพื่อนำเงินมาซื้อยาบ้าที่ขายอยู่เม็ดละประมาณ 100 บาท ส่วนน้ำต้มใบกระท่อมขายชุดละ 100 บาท

ปัจจุบันนายมะแอเสพยาบ้าน้อยลง เหลือทุกๆ สองวัน ส่วนน้ำกระท่อมจะดื่มสามครั้งต่อสัปดาห์เมื่อเหนื่อยล้าจากการทำงาน

นายมะแอนอนในกระท่อมImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพนายมะแอติดยาเสพติดมา 11 ปีแล้ว ทั้งน้ำต้มใบกระท่อม ยาไอซ์ และยาบ้า

ทั้งนี้ ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา การลักลอบนำเข้าพืชกระท่อมจากมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการนำเข้ายังคงเป็นรูปแบบการนำเข้ามาพร้อมตัวบุคคลและซุกซ่อนในยานพาหนะ

นายสามารถ ละกะเต็บ พนักงานคุมประพฤติชำนาญการ สำนักคุมประพฤติจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ความผิดจากการลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ติดยาเสพติดที่มักขโมยของไปซื้อยา

"อาชีพหลักของคนแถวนี้เป็นเกษตรกร พอกลับไปนอน ไม่มีคนเฝ้าสวน คนขโมยง่าย ปัญหาคือผู้รับซื้อด้วย รู้ทั้งรู้ว่าติดยาก็ยังรับซื้อ" เขากล่าว

นายมะแอถืออุปกรณ์ในการต้มร้ำกระท่อมให้ผู้สื่อข่าวดูImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพ"สี่คูณร้อย" ได้ชื่อจากส่วนผสมหลักสี่อย่าง คือ น้ำกระท่อม โค้ก ยาแก้ไอหรือยานอนหลับ และน้ำแข็ง

เช่นเดียวกับที่บ้านอูยิบ หมู่ 4 ต. ลาโละ อ. รือเสาะ จ. นราธิวาส มีการขโมยของทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเศษเหล็ก ลวดไฟฟ้า มอเตอร์น้ำ หรือแม้กระทั่งหมาก มะพร้าว กล้วย สะตอ และขี้ยาง

ปัญหาดังกล่าวได้นำไปสู่การออกกฎของหมู่บ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ว่าหากกระทำผิดฐานลักทรัพย์และรับซื้อของโจร จะปรับผู้กระทำผิดเท่าจำนวนทรัพย์สินที่เสียหายและดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎดังกล่าวได้มีการพิมพ์บนป้ายไวนิล และตั้งไว้ที่มัสยิด ก่อนมีการบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยนายรอซาร์ลี หะยียิเต๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน อ้างว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการขโมยของเกิดขึ้นอีกเลย

ชาวบ้านถือป้ายไวนิลที่แสดงกฎระเบียบของหมู่บ้านImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพบ้านอูยิบได้ออกกฎระเบียบหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาขโมยเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

"ปัญหาสังคม แก้ด้วยชุมชน"

ที่ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชาวบ้าน 145 คนอัดแน่นอยู่ในห้องอบรมของศูนย์ฯ มีการร้องเพลง กล่าวคำปฏิญาณด้วยสีหน้าจริงจัง

"ทำไงก็ได้ให้เด็กเกลียดยาเสพติดที่สุด เหมือนเกลียดเนื้อหมูเลย" พ.อ.สุวรรณ เฉิดฉาย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวกับชาวบ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้าน อดีตผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด ที่เข้าร่วมโครงการจิตอาสา "ญาลันนันบารู" ซึ่งภาษายาวีแปลว่า ทางสายใหม่

ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการญาลานันบารู ขึ้นกล่าวบนเวทีImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพอาสาสมัครโครงการ "ญาลานันบารู" จะเดินสายให้ความรู้ในหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยไม่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายแต่อย่างใด

โครงการญาลันนันบารูเดิม เริ่มจากการฝึกอบรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโดยตรงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และมีการฝึกอบรมเพื่อป้องกันเด็กก่อนวัยเสี่ยง อายุ 10-14 ปี ต่อมาในปี 2558 ได้ส่งเสริมให้อาสาสมัครที่มีจิตอาสาในแต่ละหมู่บ้านเดินสายให้ความรู้ในหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โดยไม่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายแต่อย่างใด

ปัจจุบันมีอาสาสมัครทั้งหมด 2,512 คน ใน 352 หมู่บ้าน และภายในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 20,750 คน เพื่อดูและหมู่บ้านทั้งหมด 2,075 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอใน จ.สงขลา

ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการญาลานันบารู นั่งฟังบรรยายImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพปัจจุบันโครงการ "ญาลานันบารู" มีอาสาสมัครทั้งหมด 2,512 คน ใน 352 หมู่บ้าน

"เมื่องานปราบปรามทำได้น้อยมาก มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเลิกเพราะหาซื้อได้ยาก เพราะเขาติดไปแล้ว นอกจากนั้น รัฐมักจะเป็นปลายเหตุโดยการช่วยปราบปรามและบำบัด และรัฐไม่สามารถเข้าถึงผู้เสพได้" พ.อ.สุวรรณกล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า อีก 2-3 ปี คาดว่าจำนวนคนเสพจะไม่เพิ่มขึ้น

ตัวเลขจากศูนย์ฯ บ่งชี้ว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ใช้ยาเสพติด 80,000-100,000 คน จากประชากรกว่า 2 ล้านคน หรือประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในการแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศ โดยผู้เสพส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 14-30 ปี

น.ส.ลัดดา นิเงาะ ผู้ประสานงานภาคใต้ มูลนิธิโอโซน ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานด้านยาเสพติด กล่าวว่า กระบวนการหลักของโครงการแก้ไขปัญหาด้านยาเสพติดของภาครัฐ คือ พยายามเอาอาชีพเข้าไปเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย แต่มีหลายคนที่ไม่ได้อยากทำอาชีพ หรือมีอาชีพของเขาอยู่แล้ว

วิทยากรบรรยายเรื่องโทษของยาเสพติดแก่ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการญาลานันบารูImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ใช้ยาเสพติด 80,000-100,000 คน จากประชากรกว่า 2 ล้านคน หรือประมาณ 5% ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่

"การที่เอาอาชีพใหม่ไปให้เขาเพื่อตอบโจทย์ของโครงการ ว่าประสบความสำเร็จเท่านั้นเท่านี้คน ก็ไม่ค่อยตรงไปตรงมา เพราะบางคนกรีดยางแต่ก็ต้องไปเรียนตัดผม พยายามประกอบกิจการเรื่องตัดผม จะได้ตอบสนองเป้าหมายของรัฐ" น.ส.ลัดดากล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า ยังมีเรื่องการติดตามผลโดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชน

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,570 คน ใน จังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. - 22 ส.ค. 2559 ต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ครั้งที่ 2 ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสถานบันพระปกเกล้า พบว่า 81.3% อยากให้มีการเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดมากที่สุด

ยาเสพติดกับความมั่นคง

รัฐไทยพยายามอธิบายว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การเสนอรายงาน "ลับ" ของสภาความมั่นคงแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี ในปี 2552 ซึ่งได้ระบุว่า กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยาเสพติดเพื่อดึงดูดเยาวชนให้เข้ามาร่วมขบวนการ รวมถึงใช้เงินจากการค้ายาเสพติดสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง

"หลายครั้งที่จับขบวนการยาเสพติดรายใหญ่ได้ครั้งใด จะเจออาวุธสงครามทุกครั้ง" พ.อ.สุวรรณ แห่ง กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าว

"มันมีข้อมูลหลายครั้งที่มีการโอนเงินจากผู้ที่ค้ายาให้กับขบวนการที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่...และเด็กที่ฝ่ายมั่นคงจับได้ บอกว่าถูกจ้างด้วยยาเสพติด" พ.อ.สุวรรณกล่าว

พ.อ.สุวรรณImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพพ.อ.สุวรรณ กล่าวว่า มีหลายครั้งที่ยาเสพติดเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่

แต่ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับข้อมูลของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในระหว่างปี 2550-2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามกล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติด ไม่เคยมีผู้ใช้ยาคนไหนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มความไม่สงบ

"วาทกรรมของรัฐเองจะบอกว่าคนที่เอายาเสพติดมาแพร่ระบาดคือ พวกขบวนการ...แต่เขา [ประชาชนในพื้นที่] รู้สึกว่ารัฐเป็นคนเอาเข้ามา คำถามเดียวคือ ด่านเยอะขนาดนี้ โผล่มาได้อย่างไร" ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้อ "ชีวิตมุสลิมในรังยาเสพติด: ความปกติที่ต้องต่อรองในชุมชน แห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย" กล่าว

ทหารกำลังตรวจรถยนต์ที่ขับผ่านด่านImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN / BBC THAI
คำบรรยายภาพประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตั้งข้อสงสัยว่ายาเสพติดเข้ามาได้อย่างไรในเมื่อมีด่านเป็นจำนวนมาก

พ.อ.สุวรรณกล่าวว่า แม้จะมีด่านเป็นจำนวนมากตั้งแต่ชุมพรลงมาก็ตาม แต่การทำงานของด่านเป็นการสุ่มตรวจเพื่อเป็นการป้องปราม หรือเป็นการตรวจตามฐานข่าว

"ต้องบอกข่าวมาถึงจะตรวจละเอียด เพราะฉะนั้นที่จะหลุดมาคือรถทั่วไปที่เราไม่ได้ตรวจทุกคัน"

*ชื่อมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องแหล่งข่าว

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/40024683