Skip to main content

 

 

บทสรุปการสัมมนา "EHIA เทพาและการมีส่วนร่วมที่ยังสอบตก" เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 โดย 18 นักวิชาการนั้น น่าสนใจมาก มีบทสรุปที่สอดคล้องกัน 3 ประการครับ คือ

1. ในผลการศึกษา EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน สอบตกทั้งด้านเนื้อหาและจริยธรรม ด้านเนื้อหายังมีหลายประเด็นที่ศึกษาไม่ครอบคลุม เช่นด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การกัดเซาะชายหาด การกระจายมลพิษ ผลกระทบทางสังคมมากมาย เป็นต้น แต่ที่สำคัญมากๆคือ "สอบตกด้านจริยธรรม" โดยเฉพาะส่วนของงานศึกษาด้านชีววิทยาความอุดมสมบูรณ์ในปากแม่น้ำและทะเล พบว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนหลายสิบเท่า ผลการศึกษาบอกว่าปากแม่น้ำเทพาและคลองตุหยงแทบไม่มีลูกกุ้งลูกปลา ไม่พบกุ้งเคย ชนิดของปลามีน้อยมากๆ ผิดจากความเป็นจริง ข้อมูลป่าไม้ก็แปลกๆเหมือนป่าภาคเหนือ ข้อมูลป่าชายเลนก็มั่วๆเหมือนนักวิจัยไม่ได้มาสำรวจจริง จึงน่าจะมีปัญหาด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง สอบตกทั้งเนื้อหาและอาจจะลักไก่โกงการศึกษาวิจัยด้วย

2. ด้านการมีส่วนร่วมก็สอบตก เพราะจัดการมีส่วนร่วมแต่เพียงพิธีกรรม มีการแจกของที่เป็นเสมือนอามิสสินจ้างอย่างโจ๋งครึ่ม มีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มคัดค้าน และผู้รับทำ EHIA ซึ่งก็เป็นนักวิชาการด้วยกันไม่แม้กระทั่งคุยถกกันในประเด็นทางวิชาการกับทีมนักวิชาการที่เห็นต่าง จึงสอบตกเพราะทำการมีส่วนร่วมแบบซื้อเสียงและพอเป็นพิธีเท่านั้น

และ 3. นักวิชาการต่างเสนอว่า ควรต้องมีการปฏิรูประบบการจัดทำ EHIA ของประเทศ ต้องมีการศึกษา SEA ด้วย (การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ - คือศึกษาภาพรวมไม่ใช่ทำแต่เป็นรายโครงการ) และต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเองอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงพิธีกรรม ไม่ใช่อะไรๆก็ตัดสินใจมาจากกรุงเทพ

นี่คือ 3 ข้อสรุป ที่จะต้องมีการขับเคลื่อนต่อไป ไม่ใช่เพื่อคัดค้านถ่านหินเท่านั้น แต่เพื่อ"สิทธิชุมชน" และ "สิทธิของคนพื้นที่ที่ต้องมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตนเองด้วย"