Skip to main content

ข้อสังเกตของผลประชามติ 2017 กับนัยยะทางการเมืองและอนาคตของตุรกี

 

ยาสมิน ซัตตาร์[1]

ที่มา : Hurriyetdailynews

 

จากการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะให้ประเทศเดินต่อไปทางใด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2017 ผลปรากฏว่า เสียงตอบรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 18 ประเด็น ชนะไปด้วยเสียงที่สูสีกันกับส่วนที่ไม่ตอบรับ ระหว่าง 51.18% และ 48.82% โดยนับช่องว่างห่างกันเป็น 1.3 ล้านเสียง ผลที่ออกมาเช่นนี้แม้ว่าจะชนะเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์แต่ก็ส่งผลให้มีความชอบธรรมเพียงพอในการดำเนินการเปลี่ยนระบบประเทศ หลังจากที่กระบวนการตรวจสอบผลที่ออกมาเสร็จสมบูรณ์ และผลนี้สามารถยอมรับได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งยังจำเป็นต้องรอดูในส่วนนี้ว่าข้ออ้างของฝ่ายค้านที่ไม่ยอมรับผล เพราะมองว่าไม่โปร่งใสจากกรณีตราในบัตรเลือกตั้งที่เพิ่งออกมาประกาศก่อนการเลือกตั้งว่าไม่จำเป็นต้องมีตราประทับก็สามารถใช้ได้ จะเป็นผลต่อการรับรองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ บทความเล็กๆ ชิ้นนี้จะมองถึงข้อสังเกตเล็กๆที่เกิดขึ้นจากผลครั้งนี้ ในมิติเชิงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งประเมินความเป็นไปได้อันใกล้นี้ของการเมืองภายในตุรกีจากข้อมูลที่มีการถกเถียงกันในประเด็นนี้

คำถามของการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

แท้จริงแล้วความพยายามและคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะในตุรกีมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่พรรคอัคจะเข้าสู่อำนาจ ด้วยกับความต้องการในการสร้างความมั่นคงของประเทศ ที่มีระบบรัฐสภาเป็นแบบผสมได้ยาก เนื่องจากเกือบทุกครั้งที่มีรัฐบาลผสมก็มักจะนำไปสู่การเกิดปฏิวัติโดยกองทัพ ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ วิพากษ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตุรกีมาตลอด และการเปลี่ยนระบอบสู่ประธานาธิบดีก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีการหยิบยกมามากที่สุด กระทั่งเริ่มเห็นชัดขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งมีผู้ออกไปใช้สิทธิ 74.13% โดยแอรโดก์อานก็ชนะไปด้วยคะแนน 51.79% หลังจากที่แอรโดก์อานเข้ามาก็เริ่มพยายามผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง และเมื่อพรรคอัคได้รับเสียงไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเดียวในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2015 ซึ่งได้ก็นำสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ที่ได้รับเสียงเพียงพอต่อการตั้งรัฐบาลได้ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็ยังคงถูกถกเถียงกัน กระทั่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ความพยายามในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ก็ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างจริงจัง ประกอบกับภาวะที่ประเทศตุรกีเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงมากขึ้น จึงมองว่าถึงช่วงเวลาที่เหมาะในการหยิบยกเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆให้สภารับรองก่อนที่จะไปสู่การลงประชามติในครั้งนี้

โดยหลักแล้วสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ การเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นระบบประธานาธิบดี ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ทุกๆ 5 ปี, การเพิ่มจำนวนสมาชิกสภา จาก 550 เป็น 600, ประธานาธิบดีสามารถเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งได้ สามารถแต่งตั้งและถอดถอนรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีได้ สามารถประกาศกฤษฎีกาได้ตราบที่ไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ และเป็นผู้เสนองบประมาณให้สภา, สภาสามารถส่งเรื่องขึ้นศาลหากประธานาธิบดีทำผิดด้วยเสียง 2 ใน 3 ในระหว่างการสอบสวนไม่สามารถตัดสินใจใดๆได้และจะสิ้นสุดวาระหากทำผิดจริง, เสียง 3 ใน 5 ของสภาและประธานาธิบดีสามารถร้องให้มีการเลือกตั้งได้, สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ไม่เกินช่วงเวลา 6 เดือน โดยต้องตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการและเสนอต่อสภาให้โหวต, ยกเลิกศาลทหาร, สมาชิกสภาอัยการและผู้พิพากษาจะมาจากการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสี่คนและจากสภาเจ็ดคน เป็นต้น

โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็นำมาซึ่งข้อวิพากษ์ว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จหรือเปล่า โดยที่หลายฝ่ายก็มองว่าจะให้อำนาจเพิ่มขึ้นจริง หากแต่กระบวนการตรวจสอบยังมี ไม่ถึงขั้นเบ็ดเสร็จ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าการตรวจสอบที่ไม่ชัดเจนจะไม่สามารถคานอำนาจได้นั่นเอง

ข้อสังเกตจากผลการลงประชามติ

ผลจากการลงประชามติในครั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่สามารถมองได้คร่าวๆ อยู่ 8   ประการ ดังนี้

1. จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิครั้งนี้ นับเป็น 88.71% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง หากเปรียบกับจำนวนผู้มาออกเสียงในการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2007 ในเรื่องการปฏิรูปการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 67.49% และการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2010 เรื่องการปรับมาตรฐานต่างๆของประเทศให้สอดรับกับสหภาพยุโรปพร้อมทั้งเรื่องการพยายามเป็นสมาชิกของอียู ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ 73.71% แม้ว่าผลของทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ก็ได้รับเสียงตอบรับที่มากกว่า คือ 68.95% และ 57.88% ตามลำดับ จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสาธารณะมาก อีกทั้งด้วยจำนวนนี้ก็สามารถแสดงผลที่ยอมรับได้ว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่

2. ผลของ”รับ” และ “ไม่รับ” มีความใกล้เคียงกันมาก ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นผลมาจากการที่หลายคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยึดติดกับแอรโดก์อาน หากรับคือสนับสนุน และไม่รับคือคัดค้าน จึงทำให้บางส่วนที่ไม่พอใจรัฐบาลจากช่วงที่ผ่านมาที่สภาวะประเทศอยู่ในความไม่มั่นคงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงแสดงจุดยืนคัดค้าน นอกจากนั้นก็อาจเป็นผลจากความไม่มั่นใจ ทั้งต่อเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร จะส่งผลที่แย่ลงหรือไม่ ต่อแอรโดก์อานเองที่อาจมีท่าทีแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา หรือต่อพรรคอัค ที่เกิดปัญหาภายใน ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่ดาวุดโอก์ลูประกาศลาออก

3. คนในเมืองใหญ่สะท้อนเสียงว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ในครั้งนี้ ซึ่งน่าสนใจว่าคนในเมืองใหญ่ๆ อย่างอิสตันบูล หรือ อังการ่า ที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคอัค ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นักวิเคราะห์บางท่านมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนได้รับการศึกษาในระดับหนึ่ง และเป็นกลุ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะเห็นถึงมุมมองที่หลากหลาย จึงทำให้ยังคงสงวนท่าทีเพราะไม่มั่นใจว่าท้ายสุดจะส่งผลแย่ลงหรือไม่ บางการวิเคราะห์ก็กล่าวว่าเป็นเพราะปัญหาผู้อพยพซีเรียและการก่อการร้ายที่มีขึ้นบ่อยครั้งส่งผลกระทบในเชิงการจ้างงานและเศรษฐกิจ จึงทำให้ความนิยมในพรรครัฐบาลลดลง

4. จุดยืนไม่ตอบรับของชาวเคิร์ด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในช่วงหลังจากกระบวนการสันติภาพล้มเหลวลง และกลับเข้าสู่การใช้ความรุนแรงอีกครั้งที่ส่งผลให้ความนิยมในพรรคอัคลดลง ขณะเดียวกันจุดยืนของชาวเคิร์ดต่อรัฐธรรมนูญตุรกีไม่ว่าจะครั้งก่อนหน้านี้ในประเด็นอื่นๆ หรือประเด็นนี้ก็ตามก็ยังคงคัดค้านเนื่องจากในรัฐธรรมนูญยังคงระบุความเป็นเติร์กที่ควบไว้อยู่

5. ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรค MPH แม้ว่าหัวหน้าของพรรคจะเห็นด้วยกับพรรคอัคในสภาที่ร่วมกันเสนอยื่นเรื่องและให้ประเด็นต่างๆ ผ่าน แต่ด้วยเสียงของสองพรรครวมกันไม่พอให้เปลี่ยนได้ทันที จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติ แต่ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของ MPH ก็ยังคงมีความเป็นชาตินิยมสูง ความเป็นชาตินิยมตรงนี้ก็อาจจะมีส่วนหนึ่งที่คล้ายกับฝ่ายเคมาลิสต์ที่กังวลว่าความเป็นเซคิวล่าร์ของตุรกีจะหายไปหากแอรโดก์อานหรือพรรคอัคมาเป็นผู้นำ ประกอบกับข่าวลือที่อ้างว่าจะปรับให้ประเทศเป็นแบบสหพันธรัฐก็ยิ่งส่งผลให้กลุ่มชาตินิยมกังวลมากขึ้น

6. ความสับสนของชุดวิเคราะห์ผ่านข่าวสารที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะสื่อของฝ่ายใดก็พยายามถ่ายทอดชุดข้อมูลที่แม้จะเป็นตัวฐานของการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่ให้คำอธิบายที่ต่างกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยก็พยายามให้ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดการมีประธานาธิบดีที่มีอำนาจเพียงพอจึงสำคัญ ในขณะที่อีกฝ่ายก็เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การทำให้ตุรกีกลายเป็นเผด็จการและถอยหลังลง ด้วยชุดข้อมูลที่ปะทะกันไปมา บางส่วนก็อาจเลือกตัดสินใจ ขณะที่อีกหลายส่วนเองก็สงวนท่าทีและมองว่าอาจต้องมีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมประกอบมากกว่านี้เสียก่อน กระทั่งนักวิเคราะห์บางคนก็มองว่าหากมีช่องไม่ออกเสียงด้วยอาจจะเห็นเปอร์เซ็นต์ส่วนนี้ในจำนวนหนึ่งก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีก็มีข้ออ้างจากฝ่ายค้านว่าถูกจำกัดในการเผยแพร่ข้อมูลในฝั่งคัดค้าน แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างนี้เพราะพื้นที่ของการนำเสนอก็มีอยู่ก็ตาม

7. การวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศที่เป็นไปอย่างดุเดือด เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการวิพากษ์จากสื่อตะวันตกมักจะเอนเอียงไปด้วยการใช้คำว่าเผด็จการแอรโดอาน มาพร้อมๆ กับประเด็นการนำเสนอข่าวเรื่องการทำประชามตินี้ บางข่าวก็พาดหัวข่าวว่าการทำประชามติครั้งก็จะทำให้แอรโดก์อานมีอำนาจถึงปี 2029 ซึ่งในความจริงเป็นการตีความที่มาจากส่วนที่ระบุว่าจะเลือกตั้งในปี 2019 และคนที่เป็นประธานาธิบดีเดิมสามารถเป็นต่อได้อีกสมัยหากชนะการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น ขณะที่สื่อในโลกมุสลิมก็ร่วมสนับสนุน โดยมีบางสื่ออย่างอัลจาซีร่าที่ยังคงนำเสนอกลางๆ แน่นอนว่าการวิพากษ์ของตะวันตกก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตุรกีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากตุรกีที่ผ่านมาก็ยังสนับสนุนให้ผ่านร่างในครั้งนี้

8. ผลการลงประชามติใน เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ที่มีปัญหาต่อกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตอบรับการเปลี่ยนแปลงระบบมากกว่า ประเด็นนี้น่าสนใจตรงที่ว่าในหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ หรือ ประเทศอื่นๆ อีกหลายๆ ประเทศ (หากไม่นับในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอชียกลาง) เสียงที่ไม่สนับสนุนมีมากกว่า แต่เนื่องจากว่าจำนวนคนตุรกีที่อยู่ในเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ รวมถึงฝรั่งเศสและออสเตรีย ที่ล้วนแล้วแต่มีปัญหากับตุรกีในช่วงที่ผ่านมา หลังจากมีการห้ามไม่ให้รัฐมนตรีของตุรกีเข้าประเทศ กลับกลายเป็นส่วนที่เสียงตอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีมากกว่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของชาวตุรกี ทำให้กลุ่มนี้ต้องการแสดงจุดยืนและสัญญะบางประการออกมาก็อาจเป็นได้

ก้าวเดินต่อไปของตุรกีท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์

แน่นอนว่าหลังจากนี้ก็จะมีข้อท้าทายใหม่ๆทีเข้ามา หากผลของประชามติครั้งนี้นำไปสู่การประยุกต์ใช้จริง ท่ามกลางระบบประเทศที่แบ่งเป็นขั้วของความเห็นที่ต่างกันในจำนวนที่ไล่เลี่ยกันประกอบกับคนในเมืองใหญ่และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เห็นด้วยนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์ทีกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่รัฐบาลจะต้องรับมืออีกมาก อาจนำไปสู่การแสดงสัญญะคัดค้านในหลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นต่อไป การกดดันจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกก็ยังคงเป็นข้อท้าทายสำคัญที่ตุรกีจะต้องพบเจอ อย่างไรก็ดี วิธีการที่ตุรกีจะใช้ในเวลานี้และอันใกล้ก็จะยังคงเป็นการต่อสู้ในแนวทางการเมือง ด้วยเครื่องมือของประชาธิปไตยนั่นคือการเลือกตั้ง จะยังคงมีหลายพรรคที่ยังสามารถต่อสู้ในกระบวนการเดียวกันเพื่อเข้าสู่อำนาจ มิใช้ปิดกั้นการดำเนินการของพรรคการเมือง แน่นอนว่าด้วยมิตินี้ก็ยังอาจไม่สามารถใช้คำว่าก้าวสู่เผด็จการได้อย่างเต็มปากนัก เพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆ โดยเฉพาะความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังคงเป็นหมุดหลักในการเดิน แต่กระนั้นก็ดี ความย้อนแย้งระหว่างหลักคิดแบบประชาธิปไตยกับการยอมรับเสียงข้างมากก็ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิก เฉกเช่นที่ Tocqueville ได้หยิบยกขึ้นมาถกเถียงในเรื่องเผด็จการโดยเสียงส่วนมาก ก็เป็นจุดที่ตุรกีกำลังถูกวิพากษ์ ขณะเดียวกันแนวคิดแบบอิสลามการเมืองที่ตุรกีถูกให้คำนิยามมาตลอดก็ถูกวิพากษ์ว่าถึงที่สุดแล้วจะเป็นไปได้หรือที่อิสลามจะประยุกต์กับระบบประชาธิปไตย ที่ทั้งมุสลิมเองก็ไม่ยอมรับกับระบบการปกครองเช่นนี้ ขณะเดียวกันตะวันตกที่อิงกับแนวคิดประชาธิปไตยเองก็ไม่ยอมรับกับการนำความเชื่อเข้ามาสู่การเมือง ประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงถกเถียงกันต่อไป

การเลือกตั้งในปี 2019 ที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการที่จะหันประเทศไปสู่ทิศทางใดภายใต้ระบบประเทศใหม่ที่มีผู้นำเพียงคนเดียวที่มีอำนาจจัดการกับประเด็นต่างๆมากขึ้นแต่ก็จะยังคงมีขอบเขตที่จะต้องผ่านการตรวจสอบจากสภา หากแอรโดก์อานจะลงและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าเขาจะใช้อำนาจหน้าที่นั้นอย่างไร โดยมิอาจจะสรุปก่อนได้ว่าจะเป็นเผด็จการ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในลักษณะดังกล่าว แต่หากแอรโดก์อานไม่ได้ลงเลือกตั้งก็อาจจะเป็นการแสดงจุดยืนของความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อประเทศไม่ใช่เพื่ออำนาจของตนเองได้ชัดขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วพรรคอัคเองก็อาจจะยังไม่มีตัวเลือกที่แข็งแรงในภาพของการเป็นผู้นำได้ดีเท่าแอรโดก์อานก็ตาม ฉะนั้นแล้วผลจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็อาจเผยคำตอบบางส่วนของการที่ว่าสรุปแล้วผลประชามติในครั้งนี้เป็นไปโดยใช้เกณฑ์วัดจากตัวแอรโดก์อานเองหรือจากเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากพิจารณาแล้วพรรคอัคก็ยังคงมีแต้มต่อในเรื่องของฐานเสียง ซึ่งหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบประเทศแต่ยังคงนิยมชมชอบในแอรโดก์อานและพรรคอัคก็ยังมีอยู่ แม้ว่าจะเป็นช่วงโอกาสของฝ่ายค้านในการทำคะแนนเพื่อเรียกเสียงโหวตก็ตามที สิ่งหนึ่งที่พรรคอัคเองต้องทำและพิจารณาในช่วงนี้แน่นอนว่าคือการปรับนโยบายและท่าทีที่มีอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนได้มากขึ้นว่าจะไม่เปลี่ยนตุรกีให้ถอยหลังไป โดยอาจจะเปลี่ยนแนวทางกลับสู่จุดที่มีการประนีประนอมกับทุกฝ่ายมากขึ้นเช่นตอนที่ดาวุดโอก์ลูยังคงอยู่ แต่หากแอรโดก์อานดำเนินสิ่งใดที่เกิดขอบเขตมากไปกว่านี้ แน่นอนว่าก็อาจจะไม่ต่างจากที่ทางตะวันตกวิพากษ์เอาไว้ อย่างไรก็ดี ผลในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดให้คนในพรรคอัคเองต้องปรึกษาหารือและวางแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตามในอนาคต ก็อาจจะมีการทำประชามติในประเด็นปลีกย่อยเพื่อปรับทางต่อไปได้อีก ซึ่งจำเป็นต้องติดตามต่อไป ก่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปใดๆ ที่มากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้

 

ท้ายสุดนี้ หากลองพิจารณาในมิติของพื้นที่ขัดแย้งแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นบทสะท้อนจากกรณีคล้ายคลึงเช่นกรณีของชาวเคิร์ดเอง ก็อาจทำให้เห็นได้ว่า หากรัฐยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้น แรงต้านก็จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน และแรงต้านที่ถูกนำมาสู่มิติทางการเมืองเช่นนี้ก็อาจส่งผลต่อภาพรวมของการเมืองระดับประเทศได้เอง ซึ่งต่างจากช่วงที่มีการพูดคุยระหว่างกัน ที่ทำให้เสียงของพรรครัฐบาลเองสามารถได้จากชาวเคิร์ดด้วยเช่นกัน ถึงที่สุดแล้ว มิติตรงนี้ก็อาจมีลักษณะของการที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ที่จะสามารถต่อรองกันได้มากขึ้น ฉะนั้นเครื่องมือทางการเมืองบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้หากจะจัดการความขัดแย้งที่จะเอื้อผลให้แก่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย



[1] นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกี