Skip to main content

 

จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี ฉบับที่ 1.3

Assalamualikum kawan-kawan Patani yang di sayang semua.

ในคืนที่เกิดเหตุการณ์ระเบิดทั่วปาตานีนั้นเป็นเวลากลางวันที่อเมริกา ตอนนั้นผมอยู่ในห้องเรียนและกำลังเรียนเรื่อง conflict solution กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หลังเลิกเรียนก็มีเพื่อนจากปาตานีส่งข้อความมาในเฟสบุ๊คว่า “รู้ยังว่าคืนนี้มีเหตุการณ์ความไม่สงบ มีการระเบิด วางเพลิง เผายาง ปะทะ ไฟดับ ทั่วปาตานี” หลังจากนั้นผมหยุดชะงักและพูดไม่ออก ผมไม่รู้จะทำยังไง ความกลัวเริ่มมาเยือนผม ทำให้ผมอยากกลับบ้าน อยากรู้ว่าครอบครัวและเพื่อนๆของผมที่อยู่ในสถานการณ์ ณ ตอนนั้นเขาทำอะไรอยู่? หรือว่ามีใครโดนอะไร? ยังไงบ้าง? ผมได้แค่วิงวอนและระบายความในใจให้กับเพื่อนพม่าคนหนึ่ง และเขาก็บอกว่าเสียใจด้วยน่ะที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับมาตุภูมิปาตานี.

เหตุการณ์ในคำ่คืนนั้นทำให้หลายคนที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งปาตานีต้องคิด วิเคราะห์ โดยต่างคนต่างก็มีมุมมองและวิธีการวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในวงนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา นักการเมือง และรัฐบาล บ้างก็มองว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการสื่อสารของทหารฝ่ายปาตานีที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บ้างก็มองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจให้ต่างประเทศเข้ามามีส่วนได้เสียในการสร้างสันติภาพ บ้างก็มองว่าเป็นการก่อเหตุโดยกองกำลังทหารฝ่ายปาตานีรุ่นใหม่ เป็นการทดสอบการปฏิบัติของทหารมือใหม่ในการก่อเหตุ และถ้าเป็นจริงตามที่รัฐมองว่าเป็นฝีมือทหารมือใหม่ฝ่ายปาตานีนั้น ก็แสดงว่าขบวนการปฏิวัติปาตานีเพื่อเอกราชนั้นมีจำนวนทหารเพิ่มมากขึ้นและเป็นกองกำลังทหารที่ไม่ธรรมดาเพราะสามารถปฏิบัติการได้พร้อมกันทั่วปาตานีอย่างเป็นระบบ.

ในจดหมายฉบับนี้ผมจะเขียนถึงรัฐบาลไทยมากกว่ากลุ่มขบวนการปฏิวัติปาตานี. ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่นักวิเคราะห์ ผมไม่ใช่นักวิชาการ ผมไม่ใช่คนสำคัญอะไร แต่ผม คือ ประชาชนคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด. ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมแค่อยากสะท้อนความในใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ การปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังทหารฝ่ายปาตานีในครั้งนี้เป็นตัวชีวัดที่เห็นได้ชัดว่า “รัฐบาลทหารไทยนั้นมีจุดอ่อนในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนปาตานี” ทั้งๆที่ในพื้นที่นั้นมีทหารไทยที่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลทหารที่บางกอกเพื่อมาดูแลประชาชน เป็นจำนวนมาก อาจจะมากถึงหนึ่งในสามของจำนวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก็ว่าได้ และที่มากไปกว่านั้นคือ กฏหมายพิเศษ กฏอัยการศึก และกฏหมายต่างๆ ที่กำลังใช้อยู่ในพื้นที่นั้นก็ยังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้จริง. ในเมื่อการบริหารของรัฐบาลทหารนั้นมีความล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้งและอาจส่งผลกระทบต่อทรัพสิน เงินทอง ความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนที่อยู่ในสงครามที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและเวลา. ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องทบทวนการทำงานของตนเอง. ผม ครอบครัว เพื่อนๆปาตานีคนอื่นๆ เราจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลนั้นเพราะเราต้องการความคุ้มครองจากรัฐเพื่อดูแลเราและคนที่เรารัก แต่เมื่อรัฐล้มเหลวในการบริหาร ล้มเหลวในการดูแลความปลอดภัย และล้มเหลวในการดูแลความสงบสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ผมและเพื่อนๆปาตานีควรทำไง?

(คุณอาจมองว่าผมกำลังปลุกระดมประชาชน; ใช่, ผมกำลังปลุกระดมประชาชน ปลุกให้ประชาชนตื่นจากความฝันลมๆแล้งๆ แล้วมาระดมความคิดต่อการสร้างสังคมที่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเป็นจริง)

และวันนี้รัฐต้องวิพากษ์ วิจารณ์ระบบการทำงานและการบริหารของตนให้มาก ลดความอคติต่อคนที่คิดเห็นต่าง รัฐต้องกล้าที่จะยอมรับว่ารัฐนั้นล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ปัญหาไฟใต้. ผมจะเรียกร้องแค่จากฝ่ายรัฐ เหตุผลทำไมต้องมาตั้งคำถาม เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ (State) ฝ่ายเดียว แล้วฝ่ายขบวนการปฏิวัติเพื่อเอกราชปาตานี (Non-State) ล่ะ? ไม่เห็นมีกลุ่มไหน ฝ่ายไหน ออกมาเรียกร้องเลย. ผมตอบได้คำเดียวว่า ถ้าผมเรียกร้องจากกลุ่มขบวนการปฏิวัติปาตานีก็เป็นการแสดงความชอบธรรมต่อขบวนการในการยกสถานะตัวเองให้เทียบเท่ากับสถานะของความเป็นรัฐ (State) แต่ถ้ารัฐบอกว่าผมต้องเรียกร้องต่อกลุ่มขบวนการปฏิวัติปาตานีเพื่อเอกราช ผมก็จะเรียกร้องจากกลุ่มขบวนการด้วย และถ้าวันนั้นมาถึงจริงก็แสดงว่า กลุ่มขบวนการปฏิวัติปาตานีก็มีสถานะเท่าเทียมกับรัฐหรือว่ารัฐนั่นเอง.

สุดท้ายนี้ ขบวนการปฏิวัติปาตานีเพื่อเอกราชมีการพัฒนาในด้านการทหาร มีการต่อสู้ในกฏระเบียบ ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการโจมตี นั่น คือ ทหารกับทหาร เช่น เหตุการณ์ที่กรงปินัง ชี้ให้เห็นได้ชัดว่ากลุ่มกองกำลังทหารฝ่ายขบวนการนั้นโจมตีฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ประชาชน แต่ขบวนการปฏิวัติปาตานีเพื่อเอกราชนั้นยังขาดการสื่อสารทางการเมือง ผมมองว่ามันจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารที่ไม่ใช่แค่วิธีการทางหารอย่างเดียว. ขบวนการปฏิวัติปาตานีเพื่อเอกราช คือ หน่วยทางการเมืองที่ใหญ่ที่ประกอบด้วยฝ่ายการทหารในขบวน ดังนั้นทบทวน รวนคิด และปรับเปลี่ยนการดำเนินการยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการสูญเสียที่น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้.

ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่ผมมองว่าทุกๆคนนั้นมีสิทธิเท่าเทียมกัน ต่างคนต่างก็มีจุดยืนเป็นของตนเอง มีความคิดเป็นของตนเอง มีความฝันที่ตนเองอยากทำ และสุดท้ายนี้ผมอยากจะแบ่งปั่นสิ่งเล็กๆจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม Conflict Solution Study คือ All conflicts are from an inner conflict. The way to solve the conflict is trying to make an inner peace (ทุกๆความขัดแย้งนั้นมาจากความขัดแย้งภายในตัวของเราเอง ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นคือ พยายามสร้างความสันติให้บังเกิดภายในตัวของเราเอง)

Wassalamualaikum Warahmatullah Hiwabarokatuh.

Arfan Wattana

Foreign Relations of Patani Institue (PI)

4/08/2017 | 12.01 AM [Portland local time]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี

จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี ฉบับที่ 1.1

จดหมายจากสหรัฐอเมริกาถึงปาตานี ฉบับที่ 1.2

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังนั่ง และ สถานที่ในร่ม