Skip to main content

 

มองกระบวนการยุติธรรมชุมชนบ้าน (ของ) เรา : ข้อเสนอในงานวิจัยบางแง่มุม[1]

 

สุรชัย (ฟูอ๊าด)  ไวยวรรณจิตร[2]: สะท้อนย้อนคิด

 

...กระบวนการยุติธรรมชุมชนที่ผ่านมา เป็นวิธีการจัดการของคนในชุมชนกันเอง โดยไม่ผ่านโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการ ซึ่งสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ในชุมชน โดยใช้วิธีจากการเรียนรู้และรับรู้ทางศาสนา และจากวิถีที่บรรพชนคนรุ่นก่อนนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการชุมชน หรือ “กำปง” โดยใช้หลักการทางศาสนาที่คนในชุมชนนับถือเป็นหลัก ผ่านการให้คำปรึกษาจากโต๊ะอิหม่าม ผู้ซึ่งคนในชุมชนทุกคนต่างเคารพนับถือ และยอมรับ แต่ปัจจุบันสมาชิกในชุมชนกลับให้ความเคารพนับถือโต๊ะอิหม่ามลดน้อยลง และหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักแทน พร้อมกับระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีช่องโหว่ ทำให้แต่ละชุมชนมีการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน และไม่มีความชัดเจน ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามบทบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม ๒๕๔๐

ฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมชุมชนต้องมีระบบการไกล่เกลี่ยในการทำงานของคณะกรรมการอิสลาม มีระบบชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการลำเอียง และต้องทำให้ศูนย์ยุติธรรมชุมชนมีการเคลื่อนไหวเป็นกระบวนการ (Movement) โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการความขัดแย้ง โดยคนทำงานยุติธรรมชุมชนต้องมีความพร้อมในด้านกฎหมาย ด้านการไกล่เกลี่ย และเป็นคนกลางในการจัดการความขัดแย้งได้ดี

แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชุมชน ภายใต้สังคมที่มีความหลากหลาย ศาสนาและวัฒนธรรม จนทำให้คนในพื้นที่แห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีอัตลักษณ์ของตัวเอง คงไม่จำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างเป็นทางการ แต่จำเป็นต้องอาศัย “ความเข้าใจในบริบทสังคม” ของแต่ละชุมชนเป็นหลักผ่านกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อสร้างความเข้าใจของชุมชนต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น

๑. กระบวนการยุติธรรมควรที่จะมีความชัดเจน ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลายครั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งความแตกแยก และแบ่งฝ่ายระหว่างรัฐกับประชาชน ฉะนั้นการมีส่วนร่วมทั้งผู้ที่ทำงานด้านยุติธรรมชุมชนกับประชาชนต้องยกระดับความความสำคัญให้มากขึ้น และต้อง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

๒. การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมในชุมชนควรเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง โดยให้ประชาชนในชุมชนแก้ปัญหาตนเองก่อน จนนำไปสู่ศาลยุติธรรม และต้องไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญชุมชนต้องศึกษาปัญหาให้ชุมชนเองก่อน เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงประเด็นความต้องการของประชาชน

๓. กระบวนการยุติธรรมชุมชนต้องเริ่มมาจากผู้นำชุมชนที่ดี มีความรู้ความสามารถในการไกล่เกลี่ย มีการศึกษา มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และไม่นำความขัดแย้งไปสู่การฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรม

๔. กระบวนการยุติธรรมชุมชนควรทำงานเคียงข้างกับอำเภอ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ เมื่อชาวบ้านไปที่อำเภอเพื่อขอความช่วยเหลือจะต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขามีตัวตนสามารถพึ่งได้จริง ขณะเดียวกันยุติธรรมชุมชนจะต้องมีการติดตามสถานการณ์จนสิ้นสุดด้วยเช่นกัน มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่หมดไปตามวาระของ ข้าราชการที่รับผิดชอบ หรือหมดไปพร้อมกับรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไป

...วัลลอฮฺอะลัม...

 



[1] ส่วนหนึ่งจากบทความวิจัย “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๙ นำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย

[2] นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / ผู้บริหารโรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์

อ.จะนะ จ.สงขลา / นักวิชาการ-วิจัยอิสระ