Skip to main content

             

 

               โหม่ง กรับ ฉาบ กลองยาว ฉิ่ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บรรเลงในวงกลองยาว แต่ละเสียงมีความไพเราะที่แตกต่างกัน และสามารถประสานเสียงของความแตกต่างนี้ให้ มีความครื้นเครง เพลิดเพลิน และสนุกสนานตามจังหวะการขึ้น ลง ของเสียงดนตรีกลองยาว

               เยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคมโรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ จังหวัดยะลา รุ่นที่ 1  ได้ดำเนิน โครงการ กลองยาวเล่าเรื่องชุมชนลำพะยา  ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทักษะในห้องเรียน ,การลงพื้นที่ทำแผนที่เดินดิน ,การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ ความเป็นมาของกลองยาวลำพะยา และ ฝึกฝนการละเล่นกลองยาวตามต้นฉบับเดิมของกลองยาวลำพะยา  ซึ่งการซ้อมกลองยาวได้รับความร่วมมือจาก ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความชำนาญด้าน การเล่นกลองยาวในชุมชนลำพะยา มาเป็นครูฝึกซ้อมให้กับเยาวชน

ประวัติกลองยาวของไทย

 เชื่อกันว่ากลองยาวของไทยได้แบบอย่างมากจากประเทศพม่า ในสมัยกรุงธนบุรีหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ประเทศไทยกับประเทศพม่ากำลังทำสงคราม ช่วงหยุดพักสงครามกองทัพทหารของพม่าจะเล่น "กลองยาว" เพื่อความสนุกสนาน เมื่อชาวไทยได้เห็นการละเล่นกลองยาวของพม่าจึงจำต้นแบบในการเล่นและนำมาประยุกต์เล่นต่อ แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม มี ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "เถิดเทิง" หรือ "เทิงกลองยาว" ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่าเรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว

กลองยาวของพม่าเรียกว่า "โอสิ" (OZI) และของชาวไทยอาหมในแคว้นอัสสัมก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่กลองยาวของชาวไทยอาหมรูปร่างคล้ายตะโพน คือ หัวท้ายเล็กป่องกลางและเล็กกว่าตะโพน ขึ้นหนังทั้งสองข้าง ผูกสายตีได้ ทั้งกลองยาวของพม่าและกลองของชาวไทยอาหม มีวิธีการเล่นเป็นแบบเดียวกัน

ที่มากลองยาวลำพะยา จังหวัดยะลา

ชมรมกลองยาวลำพะยา ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา ถูกก่อตั้งปี พ.ศ. 2538 โดยนายเลือน ยอดคง ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกในชมรม  12 คน หลังจากนั้นนายอำนวย ลายเจียร เข้ารับช่วงต่อเป็นผู้ดูแลชมรมกลองยาวรุ่นที่สอง โดยมีสมาชิกในชมรมทั้งหมด 25 คน และต่อมาในรุ่นปัจจุบันผู้ที่ดูแลชมรม คือ นายสุชล พรหมณี โดยมีสมาชิก 25 คน เช่นเดียวกัน

การดำเนินกิจกรรมกลองยาวในชุมชน

กิจกรรมการแสดงกลองยาวในชุมชนยังคงมีให้เห็นตามเทศกาลต่างๆในชุมชน เพื่อสร้างความสนุกสนานและสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสืบทอดการเล่นกลองยาว นอกจากนี้เยาวชนในโครงการเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม โรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ ได้เรียนรู้การแสดงกลองยาวลำพะยา โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาฝึกสอนเพื่อให้เกิดความชำนาญและพร้อมที่จะสืบสานการเล่นกลองยาวในชุมชนลำพะยาต่อไป

ความพิเศษของกลองยาวลำพะยา

กลองยาวลำพะยามีความพิเศษคือ กลองยาวลำพะยาสามารถเล่นได้สองจังหวะ คือ จังหวะเร็ว และ จังหวะช้า แตกต่างจากกลองยาวในพื้นที่อื่นซึ่งเล่นเพียงจังหวะเดียว และความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของกลองยาวลำพะยาคือการประยุกต์ท่ารำที่หลากหลาย ได้แก่ ท่ารำมโนราห์  ท่ารำอินเดีย ท่ารำชะชะช่า และท่ารำแบบเซิ้งของแต่ละภาค

การแสดงกลองยาวลำพะยา

การแสดงกลองยาวลำพะยาจะแสดงตามวันสำคัญๆของศาสนาและวันเฉลิมฉลองของคนในชุมชน เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เป็นต้น

(สามารถเข้าชมการเเสดงการเล่นกลองยาวของน้องๆได้ตามลิงค์ด้านล่าง)

https://www.youtube.com/watch?v=LPjbRZdkpYE&feature=youtu.be