Skip to main content

 

รัฐบาลยืนยันไม่ใช้ ม.44 แก้ปัญหาชายแดนใต้

ม.44, รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, กระทรวงการต่างประเทศ, สหรัฐฯ, 2016, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มาตรา 44, รัฐธรรมนูญ, ชั่วคราว, 2557Image copyrightMADAREE TOHLALA/AFP/GETTY IMAGES

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายปกติในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ แม้เครือข่ายชาวพุทธฯ ในพื้นที่จะเรียกร้องให้ใช้ ม.44 ขณะที่สหรัฐฯ ชี้ว่า ม.44 อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงวันนี้ (4 มี.ค.) กรณีเครือข่ายชาวพุทธภาคใต้ต้องการให้รัฐใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขปัญหาหรือปราบปรามคนร้ายที่ก่อเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ พล.ท.สรรเสริญระบุว่า "การแก้ปัญหาโดยใช้กำลังหรือความรุนแรงเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ" เพราะสาเหตุของปัญหาในพื้นที่มีหลายมิติ จำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน ซึ่งรัฐบาลจะใช้กฎหมายปกติและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้รัฐบาลใช้ ม.44 แก้ปัญหาความไม่สงบ เกิดขึ้นหลังมีผู้ก่อเหตุยิงทหารพรานที่ตลาดใน จ.ปัตตานี และยิงรถกระบะของผู้ใหญ่บ้านใน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 7 คน ซึ่ง พล.ท.สรรเสริญ ระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว ยาเสพติด การเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่าง จึงอาจทำให้สังคมหลงเข้าใจผิดว่าเหตุการณ์นั้นเป็นผลมาจากการพูดคุย แต่ที่จริงแล้วกระบวนการพูดคุยเป็นแนวทางสันติวิธีที่รัฐบาลต้องการลดความรุนแรงและความสูญเสียทั้งปวง

ม.44, รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, กระทรวงการต่างประเทศ, สหรัฐฯ, 2016, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มาตรา 44, รัฐธรรมนูญ, ชั่วคราว, 2557Image copyrightCHAIWAT SUBPRASOM/REUTERS
คำบรรยายภาพโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงประชาชนในภาคใต้ และขอให้หยุดเชื่อมโยงการก่อเหตุกับการพูดคุยสันติสุข

ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกช่วงปี 2016 (พ.ศ.2559) โดยเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ชี้ว่า มาตรา 44 เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ทั้งยังมีการจับกุม ควบคุมตัว กดดันและคุกคามครอบครัวของผู้วิจารณ์หรือผู้เห็นต่างจากรัฐทั่วประเทศ

นอกจากนี้ รายงานของสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในชายแดนใต้ของไทยยังไม่ดีขึ้นนัก เมื่อเทียบกับรายงานที่สำรวจเมื่อปี 2015 เพราะประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่วนองค์กรเอกชนในท้องถิ่นระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือทางวินัยในทุกกรณี ทั้งยังมีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย และมีรายงานว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกชักชวนเข้าร่วมเครือข่ายกองกำลังที่ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ข้อมูลของไทยที่ระบุในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นการสัมภาษณ์ บันทึกปากคำ และสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ อ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติจากหน่วยงานรัฐของไทย รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ม.44, รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, กระทรวงการต่างประเทศ, สหรัฐฯ, 2016, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มาตรา 44, รัฐธรรมนูญ, ชั่วคราว, 2557Image copyrightBANGKOK POLL

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,279 คนจากทั่วประเทศ เรื่อง "ม.44 กับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย" ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-3 มี.ค. 2560 พบว่า 72.3% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ม.44 "ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด" ส่วน 24.0% มีความรู้ความเข้าใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และอีก 3.7% ตอบว่าไม่แน่ใจ แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 62.6% ระบุว่า เชื่อมั่นต่อการใช้ ม.44 ว่าจะสามารถทำให้ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปได้สำเร็จมากถึงมากที่สุด และอีก 78.4% มีความคิดเห็นว่า ควรใช้ ม.44 ควบคุมสถานการณ์ต่อไปจนถึงหลังเลือกตั้ง และผู้ตอบแบบสอบถาม 50.9% มองว่าเรื่องที่ใช้ ม.44 แล้วได้ผลที่สุด คือ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนอีก 45.7% มองว่าใช้ในการห้ามชุมนุมประท้วง

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39164967?ocid=socialflow_facebook