Skip to main content

 

สื่อนอก - สื่อใน / จุดอ่อน - จุดแข็ง การสื่อสารชายแดนใต้

ปรากฏการณ์ สารคดี ก(ล)างเมือง เรื่องห้องเรียนเพศวิถี ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เราต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วมองไปข้างหน้าว่าการสื่อสารประเด็นจำเพาะ ละเอียนอ่อน กับพื้นที่เปราะบางอย่างชายแดนใต้ ผู้ผลิตเองถือว่าเป็นต้นทางของสื่อ ที่ส่งสารเหล่านั้นสู่สาธารณะ และพื้นที่เจ้าของประเด็น ซึ่งมีบริบททางสังคม ขนบทำเนียมประเพณี วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางความเชื่อ และศาสนา ที่แตกต่างกันออกไป เราควรมีข้อระวังอะไรบ้างในการส่งสารให้คนในพื้นที่เหล่านั้น และหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี เพราะการสื่อสารที่หนุนสร้างความเข้าใจ เคารพความหลากหลาย หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและสันติสุข มีความสำคัญมากในพื้นที่พหุวัฒนธรรมอย่างชายแดนภาคใต้

มีน้องคนหนึ่งได้เขียนโพสปรากฏการณ์นี้ว่า "ถือเป็นฮิกมะฮ์ ของพระผู้เป็นเจ้า" คำนี้ผมถือว่าเป็นคำที่ดีมากครับ ถ้าแปลอย่างกว้างๆ แล้ว ฮิกมะฮ์ คือ อนุสรณ์สติ จิตวิทยา ก่อเกิดวิทยปัญญา ทำให้เรากลับมาเรียนรู้ มองเรา มองเขา อย่างเข้าใจในความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งบนโลกใบนี้ครับ

ในฐานะผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นนักสื่อสาร ผู้ผลิตสารคดีอิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือว่าเป็นสื่อในพื้นที่ หรือสื่อใน ซึ่งเกิดและโตในพื้นที่จึงมีพื้นฐานในบริบททางสังคมของที่นี้ และปัจจุบันมีผู้ผลิตสื่อที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้มากพอสมควร พวกเขาเหล่านั้นพอที่จะเข้าใจความละเอียดอ่อนในมิติต่างๆในพื้นที่แห่งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารเรื่องราวมิติทางความเชื่อ ความศรัทธา และศาสนา มากกว่าผู้ผลิตที่อยู่นอกพื้นที่ชายแดนใต้ หรือส่วนกลาง ที่เรียกว่าสื่อนอก ซึ่งสื่อนอกและสื่อใน มีจุดแข็ง จุดอ่อน ที่แตกต่างกันออกไปครับ

 

- สื่อใน

- จุดแข็ง : มีความเข้าใจความละเอียดอ่อน มิติทางประเด็น ความซับซ้อนของเนื้อหาในพื้นที่ชายแดนใต้

- จุดอ่อน : ไม่กล้าพอที่จะนำเสนอเรื่องราวบางประเด็น หรือแตะมากพอในเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน

- สื่อนอก

- จุดแข็ง : กล้าพอที่จะนำเสนอเรื่องราวทุกประเด็น ทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็น

- จุดอ่อน : ขาดองค์ความรู้มิติทางสังคม ความเข้าใจประเด็นเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนในพื้นที่

ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ของสื่อนอกและสื่อใน ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ผลิตทั้งสองพื้นที่ ที่ต้องหาจุดร่วมกันให้เจอ เพื่อผลิตสื่อให้มีความคมในเรื่องการเล่าเรื่อง ทั้งด้านเส้นเรื่อง เนื้อหา ประเด็น ส่งสารสู่ผู้รับสื่อ ก่อเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นในอนาคต

การเล่าเรื่องของ ก(ล)างเมือง

สารคดี มีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป และมีเทคนิคที่หลากหลายเพื่อสร้างสาระ และความบันเทิงพร้อมๆ กัน บางสารคดีเล่าเรื่องด้วยบรรยาย สัมภาษณ์ ภาพ และอารมณ์ของดนตรี แต่มีความต่างจาก ข่าว ที่นำเสนอเพียงสถานการณ์ ปรากฏการณ์เท่านั้น แต่สารคดีมีมิติที่ลึก หนา มากกว่าอีกจึงต้องมีข้อมูลที่มากพอ ถูกต้อง ทุกๆด้านทุกมิติของประเด็น เพื่อมาออกแบบโครงเรื่องในการถ่ายทำ และวางเส้นเรื่องในการตัดต่อทำสารคดีหนึ่งตอน

ก(ล)างเมือง มีการออบแบบการเล่าเรื่องเฉพาะของตัวเองเช่นกัน เป็นลักษณะเชิงหนังสารคดี หรือหนังเชิงสารคดี โดยการเอาบทสัมภาษณ์ ที่คนทำสารคดีเรียกว่า การสัมภาษณ์ฉากหลัก มาปูเรื่อง ห่อเรื่อง เพื่อเล่าเรื่องทั้งหมด และมีเสียงจากการสัมภาษณ์ On Location คือ ทำกิจกรรมไปพร้อมๆกับการพูดคุยประเด็นนั้นๆ มาเสริมอีกชุดหนึ่ง และสารคดีชุดนี้ไม่มีการบรรยาย ทำให้มีความสด ของเนื้อหาประเด็น จึงต้องเอาบทสัมภาษณ์เหล่านั้นมาปะติดปะต่อเป็นเส้นเรื่อง ในการเล่าเรื่องเป็นสารคดี ถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรในการนำคำพูด นำประโยคที่พูดออกไป มาวางประเด็นเนื้อหาเพื่อเชื่อมต่อในแต่ละก้อน โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน คนถอดเทปและตนตัดต่อต้องคำนึงอย่างมากในการเล่าเรื่องของสารคดีชุดนี้

- จุดแข็ง : สามารถเล่าเรื่องได้อย่างตรงไปตรงมา มีความสด ดิบๆทั้งเนื้อหาและประเด็น

- จุดอ่อน : ไม่มีคำบรรยาย การขมวด สรุป เชื่อมต่อเส้นเรื่องยากขึ้น อาจคาดเคลื่อนความเข้าใจในประเด็นที่นำเสนอ

เป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับผู้ผลิตที่จะเล่าเรื่องอย่างไรดีสามารถเข้าถึงผู้รับสาร โดยเฉพาะพื้นที่เจ้าของประเด็นจะเข้าใจอย่างที่เราวางไว้ ในมิติภาพรวมของความเป็นสากล เรื่องความเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชน วิถีความเชื่อ ชาติพันธ์ ศาสนา ซึ่งก็ไม่ผิดจะเสนอเรื่องราวเหล่านั้น หากแต่ประเด็นและเคส ผูกโยงกับพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีความละเอียดอ่อนอยู่แล้วในบางประเด็น อย่างความเชื่อ และศาสนา ทำให้ผู้ผลิตเองต้องคิดมากกว่านั้น ผู้ผลิตเองสมควรเล่าเรื่องทุกมิติ ทุกๆ ด้านของประเด็น อย่าเสนอเพียงมิติเดียว เอาข้อมูลองค์ความรู้ชุดเดียวมาประกอบเล่าเรื่องทั้งหมดในหนึ่งตอน โดยไม่มีข้อมูลองค์ความรู้อีกชุดหนึ่งมาประกอบ อีกมิติหนึ่งของความคิดเห็นที่ต่างจากประเด็นเขาว่าอย่างไร หรือคนที่นี้เขามีความเห็นอย่างไรต่อประเด็น นอกเหนือจากเคสหลัก มาคลี่ขยายวางน้ำหนักให้สมดุล เรื่องนั้นอาจสร้างความเข้าใจ อย่างสมเหตุสมผลต่อผู้คนมากกว่านี้ จริงๆการเล่าเรื่องมีวิธีการมากกว่านี้ หากเข้าใจบริบททางสังคมของพื้นที่ เพราะการเล่าเรื่องคือศิลปะแขนงหนึ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ครับ

ประเด็นและเคส คือหัวใจสำคัญของสารคดี

ประเด็นและเคส เป็นองค์ประกอบสำคัญของสารคดี การเปิดเนื้อหาสาระและตัวละครให้คนดูได้ติดตามเรื่องราวเหล่านั้น บางครั้งประเด็นต้องอยู่ในกระแส หรือนอกกระแส แต่น่าสนใจ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนให้เห็นและรับรู้ และเคสเองก็ต้องมีความเกี่ยวโยง หรือเป็นเจ้าของประเด็นเอง แล้วส่วนใหญ่เขาคือตัวละครที่จะต้องเล่าในเรื่องราวเหล่านั้น มันเป็นเรื่องปกติที่คนดูต้องรับรู้ข้อมูลชุดเดียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่ความสมดุลของเรื่องต้องมีมากกว่าหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาตัวละครอื่นๆมาสมทบ ประกอบเรื่อง จะได้ข้อมูลอีกชุดมาประกอบกันทำให้มีเรื่องราวหลายๆด้าน หลายมิติ ทำให้คนดูมีข้อมูลในการตัดสินใจ และเข้าใจต่อเรื่องราวเหล่านั้นดีขึ้น อย่างเท่าเทียมกัน

ผมได้อ่านบทความหนึ่งของสำนักข่าวอิศรา การเสวนาเรื่อง "สื่อเปลี่ยนคน หรื่อ คนเปลี่ยนสื่อ" สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้วย ‘นิติธรรม’ มีวรรคหนึ่งที่น่าสนใจ

"ตราบใดก็ตามถ้าทั้งคนทำสื่อและคนรับสื่อไม่มีความเท่าทัน และขาดเรื่องนิติธรรม การจะรักษาความมั่นคงหรือการเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ยาก ผมคิดว่าการใช้สื่อเพื่อการต่อสู้หรือเรียกร้องในเรื่องใด เราควรนำสิ่งที่เรียกว่านิติธรรมเข้ามาบรรจุอยู่ในแนวคิด ในหลัก ในแก่น หรือในสาระด้วย”

จริงๆแล้วหลักนิติธรรม คือ ว่าด้วยกฏหมาย ความถูกต้องในกฏระเบียบของบ้าน ของผู้คน ของการอยู่ร่วมกันของคนบนโลกนี้ และสิ่งนั้นคือความถูกต้องและเหมาะสมที่สุด หรือเรียกว่า "นิติธรรมสากล"

แต่ ในพื้นที่ชายแดนใต้เองมีพี่น้องมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาเองก็มีกฏแห่งนิติธรรมอีกชุดหนึ่งนั้นคือ "นิติธรรมแห่งอิสลาม" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและต้องตระหนักเช่นกัน บางครั้งในสารคดีหลายๆเรื่อง เราเองมองข้ามกฏนิติธรรมเหล่านี้ ซึ่งบางตอนมีประโยคบางประโยค และบางคีย์เวิร์ดของคำพูดของเคสในสารคดีได้พูด ซึ่งคนทั่วไปอาจเป็นเรื่องปกติ และเป็นคำเด็ด แต่หารู้ไม่ว่านั้นมันข้ามเส้นบางๆของความรู้สึกของคนดูในอีกพื้นที่หนึ่งแล้ว และอาจเป็นหยดน้ำผึ้งหยดเดียวที่สร้างความแตกแยกในวงกว้าง อย่างคาดไม่ถึงก็ว่าได้ บางทีผู้ผลิตเองยากที่จะเข้าถึง เข้าใจ ประโยคเหล่านั้นเพราะเป็นองค์ความรู้เฉพาะ ที่ต้องมีคนตรวจทานอย่างลึกซึ่ง

ปัจจุบันเองการที่สารคดีตอนหนึ่งจะออกต่อสาธารณะชน ออกอากาศให้คนดูทั่วประเทศนั้น ต้องผ่านกระบวนการมากมาย ท้ายสุดสารคดีชุดนั้นต้องผ่านการสกรีนมิ่ง หรือระบบการตรวจเทป หรือภาษาคนผลิตสารคดีเรียกว่า ตรวจเซ็นเซอร์ แต่ที่ผ่านมาการตรวจเทปเพียงความถูกต้องของสารคดี เช่น มีโลโก้สินค้าไหม มีตัวหนังสือตัวอักษรที่ผิดกับราชบัณฑิตยสถานไหม มีผิดต่อกฎหมาย หรือ ศิลธรรมหรือเปล่า หรือแม้แต่ตัวหนังสือผิดแม้แต่สระเดียว สารคดีชุดนั้นต้องตีกลับมาแก้ไขใหม่อีกครั้ง แต่ยังไม่มีการตรวจทานเรื่องราวจำเพาะ ที่ลึกกว่านั้น เช่นการตรวจว่าเทปนี้มีอะไรบ้างที่ผิดต่อศิลธรรมศาสนา นิติธรรมเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น จริงๆแล้วการตรวจเทปต้องมีการตรวจทานเรื่องจำเพาะด้วย และทุกระดับตั้งแต่ผู้ผลิต จนถึงสถานีส่วนกลาง เพราะประเทศไทยเองก็มีความหลากหลายของผู้คน เชื้อชาติ และศาสนา และเราเองกำลังก้าวยุคแห่ง 4.0 เห็นหลายๆคนกล่าวไว้เช่นนั้นครับ

ปรากฏการณ์สารคดี ก(ล)างเมือง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ให้ผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้เปิดมุมมอง เปิดประเด็น ถกเถียง พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ แล้วกลับมองเรา มองเขา แล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่ออนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า ผมเชื่อพลังของพี่น้องในพื้นที่ และพี่น้องนอกพื้นที่เช่นกัน และความเป็นคนมลายูปาตานี ที่พร้อมจะ "ตรีมอ กาเซะ" ขอบคุณในสิ่งที่ถูก และ "มาอัฟ" ในสิ่งที่ผิด เพราะเราคือพี่น้องเดียวกันครับ

ถึงตอนนี้พวกเรา ทั้งผู้ทำสื่อ และผู้รับสื่อ ต้องคิดแล้วละครับว่า สื่อเปลี่ยนคน หรื่อ คนเปลี่ยนสื่อ ทุกคนมีจุดอ่อน และจุดแข็ง แล้วพวกเราจะเดินไปข้างหน้าในทิศทางใด เพื่อก่อเกิดสันติภาพและสันติสุขบนพื้นแผ่นดินนี้ครับ

วัสลาม

ขอความสังติสุขจงมีแด่ท่าน

SEA SLOW / เฌอบูโด