Skip to main content

 

หนังสือ 

อนาคตกฎหมายอิสลามในประเทศไทย

The Future of Islamic Law in Thailand

 

โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ) 

Ustaz Abd. Shakur Bin Shafi-e (Abdulsuko Din-a)

 

 

 

 

                       การศึกษาอนาคตกฎหมายอิสลามในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักกฎหมายอิสลามเบื้องต้น พัฒนาการการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทยโดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก และปัญหาการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกเพื่อกำหนดการใช้กฎหมายอิสลามในอนาคตของประเทศไทย

การศึกษาในครั้งนี้เป็นผลมาจากการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ประกอบกับการเก็บรวบรวมข้อมูลจากอบรมสัมมนา การสัมภาษณ์ในพื้นที่กลุ่มตัวอย่าง

สำหรับการวิจัยเอกสาร  (Documentary Research) มาจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ เอกสารขั้นปฐมภูมิ  ทั้งคัมภีร์อัลกุรอาน  และวัจนะศาสดาและเอกสารขั้นทุติยภูมิ  ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ เอกสาร สื่ออิเล็กโทรนิคที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกฎหมายอิสลามและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   ส่วนการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นมาจากอบรมสัมมนา  การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลจนได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอนาคตกฎหมายอิสลามในประเทศไทย

                  ผลการศึกษาพบว่า

1. กฎหมายอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของมุสลิมที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามโดยมีแหล่งที่มาหลักจากคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนะศาสดาในขณะเดียวกันมีพัฒนาการการใช้กฎหมายแต่ละยุค แต่ละสมัยที่แตกต่างกันเพื่อปรับปรนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมแต่อยู่บนพื้นฐานของแหล่งที่มาของกฎหมายอิสลาม

2. ประเทศไทยได้มีพัฒนาการการใช้กฎหมายอิสลามสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 แต่ก็ยังประสบปัญหาหลายประการในการนำมาปฏิบัติ

3. อนาคตการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทยมีดังต่อไปนี้

3. 1    คนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่สนับสนุนแต่คนพุทธมีความกังวล

3.2     รัฐบาลและหน่วยงานราชการจัดเวทีเพื่อหาทางออกในการใช้กฎหมายอิสลาม

3.3     นักวิชาการสนับสนุนการจัดตั้งศาลชารีอะห์เพื่อความสมบูรณ์ในการใช้กฎหมายแต่รัฐบาลปฏิเสธ

3.4     ควรนำบทเรียนการใช้กฎหมายอิสลามในต่างประเทศปรับใช้ในประเทศไทยอย่างเหมาะสม

 

ปัญหาและข้อเสนอแนะ

                   จากสภาพปัญหาการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในประเทศไทย  รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรดำเนินการดังนี้

(1) ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 เพราะกฎหมายฉบับนี้เมื่อนำสู่ปฏิบัติจะพบปัญหาดังนี้

                      1.1  ในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมพิจารณาคดีพร้อมด้วย ผู้พิพากษาโดยดะโต๊ะยุติธรรมทำหน้าที่วินิจฉัยในหลักของกฎหมายอิสลามส่วนข้อเท็จจริง หรือปัญหา ข้อกฎหมายอื่น อำนาจการวินิจฉัย และ การพิพากษาเป็นอำนาจของผู้พิพากษา

                      1.2 การนำหลักกฎหมายอิสลามมาวินิจฉัย เป็นการใช้กฎหมายอิสลามเฉพาะการตัดสินคดีในศาลไม่มีสภาพบังคับนอกศาล ขณะเดียวกันคู่กรณีสามารถเลือกใช้กฎหมายได้ทำให้เกิดความลักลั่นและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนมุสลิม และทำให้เกิดความแตกต่างในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่

                     1.3 คำวินิจฉัยชี้ขาด ของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นเด็ดขาดคดีนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ หรือฏีกาได้ ทำให้คู่กรณีเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะหากมีข้อผิดพลาดก็ไม่สามารถ อุทธรณ์ หรือ ฏีกาได้

                     1.4 ปัญหาเรื่องอายุความในเรื่องมรดกยังมีความลักลั่น เพราะการบังคับมรดกใช้ อายุความในเรื่องมรดก 1 ปีความในประมวลแพ่งและพาณิชย์ ไม่ตรงกับอายุความมรดกของหลักกฎหมายอิสลาม

                    1.5 ปัญหาเรื่องจำเลยที่เป็นชายไทยมุสลิมย้ายภูมิลำเนาออกนอกเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถนำกฎหมายอิสลามไปบังคับใช้ได้ เพราะเมื่อหากคู่กรณีหากย้ายออกนอกเขตการบังคับใช้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกกลัวศาลไม่สามารถบังคับคู่ กรณีออกนอกเขตอำนาจศาลได้

                    1.6 อันเนื่องมาจากมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือทั่วประเทศปัจจุบันมีทั้งนิกายซุนนีย์และชีอะห์ หรือยึดถือมัซฮับแตกต่างกันและไม่นับถือมัซฮับซึ่งกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกบางประเด็นมีทัศนะที่แตกต่างกันอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับกฎหมายฉบับปัจจุบันและเกิดปัญหาสังคมขึ้นได้ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายควรคำนึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

                   1.7  ปัจจุบันมีการแต่งงานระหว่างมุสลิมชาวไทยและต่างประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะกับชาวมาเลเซียในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีปัญหาฟ้องร้องกับประเทศมาเลเซียจำนวนมาก  ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายอิสลามดังกล่าวควรคำนึงประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

 

 (2)  จัดทำประมวลวิธีพิจารณาความ และกฎหมายลักษณะพยานขึ้นเฉพาะ เพราะการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในการพิจารณาคดีได้ใช้กฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง และกฎหมายลักษณะพยาน ซึ่งถือได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลาม ปัญหานี้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้เสนอว่า ให้จัดทำกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกที่ครอบคลุมถึงกฎหมายวิธีพิจารณาความ การอุทธรณ์ ฎีกาและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขัดกันของกฎหมายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงศาลที่มีลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา เป็นต้น[1]

 (3)  หากจะมีการขยายการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกทั่วทุกภูมิภาค   ในเบื้องต้นไม่ต้องมีดะโต๊ะยุติธรรม (ผู้วินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลาม) ในศาลทุกจังหวัด แต่ให้อยู่ประจำศาลในภูมิภาค เช่นเดียวกับกรณีของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค ศาลล้มละลายกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลางโดยพิจาณาจากข้อเสนอแนะของประคอง เตกฉัตร  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา

 (4)  ออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารกฎหมายอิสลามและกิจการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสลามมารองรับ เพื่อให้การใช้กฎหมายอิสลามมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เช่น พระราชบัญญัติการบริหารกฎหมายอิสลามขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติองค์กรบริหารศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน

  (5)  จัดตั้งสำนักงานทะเบียนอิสลามขึ้นมาทำหน้าที่ด้านทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่าหรือเพิกถอนการหย่า และการเปลี่ยนแปลงศาสนาอิสลาม เพื่อให้การใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกมีความชัดเจนเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องใช้บทบัญญัติของกฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกกับบุคคลที่ใช้บทบัญญัติของกฎหมายกฎหมายแพ่ง เพราะในเรื่องของการนับถือศาสนานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้   อีกทั้งยังมีการสมรสระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน (ซึ่งบทบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นมีความศรัทธาในศาสนาอิสลามเสียก่อนจึงจะสมรสกันได้) จึงสมควรจัดตั้งสำนักงานทะเบียนอิสลามเพื่อให้กระบวนการใช้กฎหมายอิสลามทั้งในและนอกศาลให้มีเอกภาพไม่ให้เกิดปัญหากรณีการเปลี่ยนแปลงศาสนา

 (6) ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากผลการประชุมของผู้ทรงคุณวุฒิในแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบศาลอิสลามที่เหมาะสมกับประเทศไทย

และการพัฒนาระบบให้ดะโต๊ะยุติธรรมไปสู่การเป็นกอฎี รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ระบบสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สนับสนุนช่วยเหลือและ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดภาคใต้เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านข้อมูลระดับพื้นที่ดังนี้

6.1  กระบวนการขับเคลื่อนเบื้องต้นทั้งรูปแบบข้อเสนอการได้มาซึ่งรูปแบบของศาล ยุติธรรมที่เหมาะสมกับสภาพการเมืองการปกครองของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาระบบดะโต๊ะยุติธรรมไปสู่การเป็นกอฎี (ผู้พิพากษา) ตามบทบัญญัติในคำภีร์อัลกุรอาน ซึ่งนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ

6.2  กลไกตามข้อ 1 ต้องเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอรูปแบบศาลอิสลามที่เหมาะสม ให้รัฐบาลได้พิจารณาเพื่อจะตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการ พัฒนาระบบศาลอิสลาม (ครอบครัวและมรดก)

6.3 สำหรับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการะแสการตอบรับ สะท้อนความต้องการและสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ศอ.บต.ต้องเป็นหน่วยอำนวยการและดำเนินงานในพื้นที่พร้อมทั้งการสนับสนุน ข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอ

6.4  กระบวนการวางกลไกการบริหารและวางระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยเฉพาะกระบวนการไกล่เกลี่ย (Mediation) ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพื่อจะให้เกิดการระงับข้อพิพาทกันอย่างสมานฉันท์โดยไม่ต้องฟ้องคดีหรือไม่ต้องให้ศาลมีคำวินิจฉัยโดยการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการควบคู่กับกระบวนการพัฒนาและ จัดตั้งศาลอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

6.5 ให้สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขนำข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาระบบ ศาลอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกผ่าน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเรียนนายกรัฐมนตรีโดยตรง

                ข้อเสนอแนะที่กล่าวมาสามารถนำกรณีศึกษาของสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา เป็นต้นมาพิจารณาเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ ในขณะเดียวกันการปรับกระบวนทัศน์ภายในตัวมุสลิมเองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกล่าวคือ  หนังสือหลักกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยครอบครัวและมรดก  จะต้องมีสถานภาพเช่นเดียวกับมาตราต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี  นราธิวาส  ยะลาและสตูล  และสมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบแก้ไขเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์  โดยคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไข  จะต้องประกอบด้วย  ผู้พิพากษา  ดาโต๊ะยุติธรรม  และนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามก่อนที่จะขยายขอบเขตการใช้กฎหมายอิสลามให้ครอบคลุมมุสลิมทั้งหมดในประเทศไทย

                 (7)  การจัดตั้งชารีอะห์มีความจำเป็นในอนาคตสำหรับประเทศไทยแต่ควรมีประเด็นต้องพิจารณาดังนี้

                   ก. รูปแบบศาลควรเป็นเอกเทศ

                    ข. ลำดับชั้นของศาลโดยรวม คดีที่เสร็จจากศาลชะรีอะฮฺจะอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา(Supreme Court) หรืออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์โดยให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดดังนั้นในศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์จะต้องจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวและมรดกอิสลามโดยเฉพาะ

                   ค. ระบบผู้พิพากษา ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญศาลนอกจากผู้พิพากษาแล้ว ศาลชะรีอะฮฺควรแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ระบบการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าผู้พิพากษาจะมีความรู้ในหลักกฎหมายแต่ก็ยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น การมาประจำเดือนของสตรี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยอิดดะฮฺของสตรี

                  (8) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยวิทยาลัยอิสลามศึกษาควรพัฒนาวิชาการของอาจารย์และบัณทิต ในเอกกฎหมายอิสลามในระดับปริญญาตรี  โทและเอก ซึ่งสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความเข้าใจกฎหมายอิสลามและมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมท้องถิ่นเป็นอย่างดีด้วย