Skip to main content

                                                                                                                                                      อิมรอน  โสะสัน

                                                                                                                                                      สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

                                                                                                                                                     คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

                                                                                                                                                     มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

 

ในขณะนั่งปั่นบทความนี้หลายจังหวัดภาคใต้ของไทยประสบกับมรสุมหลายระลอกทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ผู้ใหญ่บางท่านถึงกับปรารภออกมาว่าไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน แสดงว่าน้ำท่วมหนนี้หนักหน่วงเอาการ

“น้ำท่วม” ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หลายๆอย่าง เราเห็นความทุขก์ยาก ความลำบาก อาการสิ้นหวัง การรอคอย เด็กๆเล่นน้ำปนรอยยิ้ม การช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ  ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นชินตาผ่านสื่อต่างๆทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิพม์ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เห็นการทำงานของคนที่กระโดดเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบส่วนตัว องค์กร เครือข่าย มีการรายงานสดตรงจากหลายพื้นที่ผ่าน facebook ด้วยความคึกคักและรวดเร็ว

ผมนั่งติดตามและให้กำลังใจทุกคนที่สละเวลา แรงกาย กำลังทรัพย์ กำลังความสามารถเข้ามาทำงานนี้ด้วยความชื่นชม พวกเขาต้องทิ้งครอบครัว ชุมชนของตนเดินทางไปช่วยเหลือคนอื่น ทั้งๆที่บ้าน ชุมชนของพวกเขาก็ประสบกับน้ำท่วมไม่แพ้กัน แต่พวกเขาเห็นว่าคนอื่น พื้นที่อื่นต้องการความช่วยเหลือมากกว่า....เหล่านี้เป็น “ความเมตตา” ที่ทุกคนได้พยายามช่วยกันส่งผ่านไปยังเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบนความเห็นอกเห็นใจและพร้อมจะมอบกำลังใจให้แก่กัน.....

ดร.ตอริก อัสสุวัยดาน กูรูด้านการจัดการและภาวะผู้นำของโลกมุสลิม เคยกล่าวไว้ว่า “.....“ภาวะผู้นำ” คือปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิมยุคปัจจุบัน (Leadership is the topmost problem of present Muslim world) โลกมุสลิมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ (strategic plan) สำหรับการสร้างภาวะผู้นำเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการฟื้นฟูประชาชาตินี้ขึ้นมาอีกครั้ง (for the revival of the Muslim Ummah)”

....ตามทัศนะของท่านแล้ว “ภาวะผู้นำ” หมายถึง  ความสามารถในการนำผู้คนเพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกเขา      ( “the ability to move people towards goals”) ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ปรึกษากับ ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวี ปราชญ์มุสลิมที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้ เกี่ยวกับประเด็นว่า ต้องทำอย่างไรที่จะนำแผนยุทธศาสตร์เข้ามาช่วยเพื่อการฟื้นฟูประชาชาติมุสลิม?  ซึ่งคำตอบที่ท่านได้จากปราชญ์แห่งยุคมีว่า “ท่าน ดร.ตอริก ข้าพเจ้ามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านจะต้องเป็นผู้นำด้านนี้ ข้าพเจ้าจะช่วยท่านหาบรรดานักวิชาการเพื่อเข้าร่วมอบรมกับท่าน โปรดช่วยอบรมพวกเขาด้วย”     เมื่อรับฟังคำตอบ ดร.ตอริกถึงกับอึ้ง เขาไม่คิดว่าจะได้ยินแบบนั้นด้วยซ้ำ...เพราะนี่คือ ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวี....ปราชญ์แห่งยุคของเรา....

“แผนยุทธศาสตร์” ที่ ดร.ตอริก ได้กล่าวถึงนั้นมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 ประการ ดังนี้ ประการแรก ประชาชาติมุสลิมจะต้องมีความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันให้ออกและตกผลึก (understanding the present) ประการที่สอง ประชาชาติมุสลิมต้องวางภาพอนาคตให้ชัดเจน (putting a clear picture of the future) ประการที่สาม ประชาชาติมุสลิมต้องมีแผนการทำงานที่จะขับเคลื่อนสถานะจากปัจจุบันไปสู่อนาคต (have a plan to move from present to future) และ ประการสุดท้าย ประชาชาติมุสลิมต้องเข้าใจถึง “แรงต้าน” ที่ขัดขวางไม่ให้ไปถึงอนาคตและต้องเอาชนะแรงต้านที่ท้าทายเหล่านั้นให้ได้ (understanding the resistance that will stop you from reaching that future and overcoming that resistance)

การสร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อประชาชาติ ขั้นตอนการวิเคราะห์ถึงสาเหตุในการฟื้นฟูประชาชาติขึ้นมาอีกครั้งถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น มันคล้ายกับการวินิจฉัยโรคของหมอ ในการนี้ ดร.ตอริก จึงวินิจฉัยสภาวะปัจจุบันของประชาชาติไว้ว่า ขณะนี้ประชาชาติมุสลิมกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายยิ่ง 5 ประการด้วยกัน ดังนี้

ประการที่หนึ่ง พฤติกรรมที่ไม่ได้ใช้แนวทางอิสลามในการดำเนินชีวิต (Un-Islamic Behaviour) ท่านกล่าวว่า “อิสลามคือวิถีชีวิต” ด้วยเหตุนี้ อิสลามจะต้องอยู่ในทุกส่วนของชีวิตมุสลิม เท่าที่เราเข้าใจครอบครัวของเรา คู่ครองของเรา ลูกหลานของเรามีพฤติกรรมหลายอย่างที่ดูแล้วขัดกับทัศนะอิสลาม เราอาจมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ในทุกอิริยาบทของพวกเขา ขอให้ทุกคนช่วยกันพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นให้จงหนัก

ประการที่สอง ความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency) ข้อนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อประชาชาติอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้  ดร.ตอริก ย้ำว่า มุสลิมควรเป็นประชาชาติที่มี “คุณภาพ” และ “มีประสิทธิภาพ” ในทุกมิติการดำเนินชีวิต ดังนั้น คุณภาพและประสิทธิภาพของประชาชาติจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว สถาบัน และระดับประเทศ ปัจจุบันเราเองไม่สามารถแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ประการที่สาม ความล้าหลังในการพัฒนา (Backwardness) ประชาชาตินี้ต้องเป็นกลุ่มชนที่มีความเจริญก้าวหน้า พวกเราควรแสดงบทบาทผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้ การศึกษา เศรษฐกิจ และผู้นำเชิงการแข่งขัน ฯ สิ่งเหล่านี้ คือหน้าประวัติศาสตร์ของประชาชาตินี้ เราเคยเป็นผู้นำ ขณะนี้ เราไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นอดีต เรากำลังก้าวถอยหลังเกือบทุกด้าน แน่นอน เราต้องมีความหวังที่จะทวงคืนความเป็นผู้นำให้กลับมาโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าเราสามารถก้าวไปยืนในจุดเดิมของประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้ ประชาคมโลกย่อมได้ประโยชน์สูงสุดด้วยเช่นกัน

            ประการที่สี่ ความเข้าใจทางปัญญา (Intellectual understanding-Al-Fikr) ความเข้าใจทางปัญญา มีองค์ประกอบดังนี้ กล่าวคือ ความเข้าใจในความเชื่อ ความศรัทธาที่ถูกต้อง  ความเข้าใจเรื่องคุณค่าและจริยศาสตร์ ความเข้าใจเหตุการณ์ทางสังคมรอบตัว ความเข้าใจตัวเองและบทบาทของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลและความเข้าใจที่ว่า ชีวิตของคนเราจำเป็นต้องมี “แผนชีวิต” (a life plan) ดังนั้น ถ้ามุสลิมมีความเข้าใจทางปัญญาที่ถูกต้อง มุสลิมจะเข้าใจทันทีว่า “มุสลิมจำเป็นต้องมีการวางแผนชีวิตในที่สุด”

ประการที่ห้า ภาวะผู้นำ (ผ่านการฝึกอบรม การสั่งสอน) หากมุสลิมมีภาวะผู้นำที่ผิด เขาย่อมนำผู้อื่นในทางที่ผิด และไร้ทิศทาง การสร้างภาวะผู้นำ ประชาชาตินี้ต้องเข้าใจความหมาย และหลักการของภาวะผู้นำอย่างถ่องแท้ ดร.ตอริก อธิบายว่า ท่านได้อุทิศการทำงานด้านนี้จนเข้าใจว่า ภาวะผู้นำไม่ใช่การเข้าใจทฤษฎีเดียวแล้วสรุปว่าเราเข้าใจมัน มันต้องอาศัยการผสมผสานของหลักการทางทฤษฎีต่างๆเข้าด้วยกัน จากประสบการณ์ของท่าน ท่านค้นพบว่า “การฝึกอบรม” และ “การสอน” ทั้งสองวิธีการที่นำมาใช้ในการพัฒนาภาวะผู้นำนี้มีความแตกต่างกัน เมื่อเราสอนเรากำลังผ่องถ่ายความรู้ แต่เวลาเราอบรมเรากำลังทำสามสิ่งในเวลาเดียวกัน คือ เรากำลังถ่ายทอดความรู้ (transfer knowledge) เราพัฒนาทักษะ (improve skills) และสุดท้ายทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนความคิดและความสามารถทางปัญญา (change mentalities) เพราะเป้าหมายของมันคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปฏิบัติของประชาชาติ

ความเป็นจริงอาจไม่ง่ายอย่างที่กล่าวไว้ ยกตัวอย่างเช่น คนสูงวัยเราอาจถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะพวกเขาได้ไม่ยากนัก ส่วนจะเปลี่ยนความคิด ทัศนคติของพวกเราในเรื่องต่างๆย่อมต้องอาศัยเวลา หรืออาจยากไปเลย ด้วยเหตุนี้ การนำกระบวนการเหล่านี้ไปใช้กับเยาวชนและคนหนุ่มสาวย่อมมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า“ถ้าต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประชาชาตินี้เราต้องเริ่มทำการสร้างภาวะผู้นำตั้งแต่ระหว่างสองถึงหกขวบกันทีเดียว” ...ดร.ตอริก อัสสุวัยดานเน้นถึงความสำคัญของภาวะผู้นำในประชาชาติมุสลิม....

 หากคิดอย่างถี่ถ้วน การเตรียมตัวเพื่อฟื้นฟูประชาชาติต้องทำกันในทุกระดับ จากบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ  “การมีส่วนร่วมของประชาชาติ” ในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูประชาชาติคือหัวใจสำคัญ ละเลยไม่ได้ ไม่มีใคร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาวาดภาพอนาคตให้ทุกคนได้ดีเท่ากับทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันตัดสินใจเส้นทางแห่งประชาชาติ แผนยุทธศาสตร์ในแต่ละระดับจึงเป็น “วาระสำคัญ” สำหรับประชาชาตินี้ เพราะผลผลิตแห่งการฟื้นฟูประชาชาติต้องอาศัยเวลา ความอดทน ความมุ่งมั่น อาศัยการบริหารจัดการ ความหวัง และทางนำจากผู้ทรงสร้าง ต้องไม่ลืมว่า..การสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของประชาชาติจนกลายเป็น “ผู้เมตตา” และ “ผู้ให้”แก่มนุษยชาติทั้งมวลนั้น คือ “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” หากประชาชาตินี้ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักและไม่จริงจังต่อภารกิจเหล่านี้ นั่นหมายถึง...ประชาชาติได้เขียนแผนยุทธศาสตร์อนาคตของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน........

....วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะห์กัม...