Skip to main content

ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ (PRC)

"กระบวนการสันติภาพทุกแห่งต้องใช้เวลามหาศาลที่จะลงทุนให้ออกดอกผล ซึ่งประจักษ์ชัดมาแล้วจากที่ต่างๆที่ต้องผ่านเวลาหลายปีในการพูดคุยเจรจาต่อรองกัน คู่ขัดแย้งจะเริ่มจากการเข้าสู่ช่วง 'ก่อนเจรจา' ที่แต่ละฝ่ายต่างสำรวจค้นหาเพื่อพิจารณาว่า ทั้งฝ่ายตนและอีกฝ่ายหนึ่งมีเจตนาที่จะเจรจากันจริงๆหรือไม่ และพร้อมหรือไม่ที่จะพิจารณา 'ถอย' ให้อีกฝ่ายในทางใดทางหนึ่ง ช่วงจังหวะนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะกระบวนการเจรจาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะถอยให้อีกฝ่ายบ้างนั้น มักจะเดินไปสู่ความล้มเหลวเสมอ

ในช่วงการพูดคุยก่อนการเจรจา ประเด็นที่ต้องหยิบยกขึ้นพูดคุยคือ หลักประกันความปลอดภัยของผู้ที่จะเข้าร่วมพูดคุยเจรจาทุกคน เนื่องจากมักจะมีการฆ่าทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงต่อกันในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่กล้าเข้าร่วม หลักประกันดังกล่าวจะต้องกำหนดให้ชัดเจนและเข้าใจร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหลักประกันและวิธีการติดตามว่าทั้งสองฝ่ายจะทำตามสิ่งที่ได้ตกลงกันในแต่ละครั้ง เป้าหมายในช่วงนี้คือการสร้างความไว้ใจในตัวกระบวนการ รวมถึงการตกลงร่วมกันในบทบาทของฝ่ายที่สาม และการให้การยอมรับกันและกันในฐานะคู่พูดคุยเจรจา ในส่วนของผลลัพธ์ที่ได้จากขั้นตอนนี้คือ ข้อตกลงในส่วนของกระบวนการว่าจะคุยกันอย่างไร มีข้อปฏิบัติอะไรบ้างที่ต้องยึดถือเพื่อให้การพูดคุยเจรจาเดินหน้าไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น โรดแมป หรือกรอบแนวทางการพูดคุยเจรจา

โดยรวมแล้ว กระบวนการพูดคุยเจรจาจึงจำเป็นต้องมีกรอบเวลาและแนวทางที่ต้องปฏิบัติตาม การกำหนดวาระพูดคุยเบื้องต้น กรอบความคิดหลักของโรดแมปที่ต้องเห็นร่วมกัน ตลอดจนความเข้าใจต่อปัญหาพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งหรือเห็นไม่ตรงกัน

เมื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจา (negotiation process) ทั้งสองฝ่ายจะต้องมั่นใจแล้วว่าผู้ที่ตนเจรจาด้วยเป็นตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจและขัดแย้งกับเราจริงๆ แน่นอนว่าเรามักรู้สึกสบายใจกว่าที่จะคุยกับคนที่เป็นมิตร แต่มันจะไม่เกิดประโยชน์อะไรบนโต๊ะเจรจา การเจรจากับผู้ที่ขัดแย้งกับเราจริงๆบนพื้นฐานของการตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครรู้สึกว่าแพ้จากการเจรจา จะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้จริง

หากกระบวนการเจรจาดำเนินไปได้ดี ประเด็นเนื้อหาสาระ (substance) ที่จะเป็นทางออกจากความขัดแย้งจะได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหาข้อสรุปหลังจากที่ได้ข้อตกลงในแง่กระบวนการ (process) ไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมาถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายไว้ใจกันและความสัมพันธ์ได้พัฒนาดีขึ้นแล้ว ก็อาจจะนำไปสู่การได้ข้อตกลงที่จะสร้างสันติภาพขึ้นร่วมกัน หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงการนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งก็จะต้องมีขั้นตอนการติดตามตรวจสอบ และกลไกในการแก้ไขข้อขัดแย้งใหม่ๆที่อาจเกิดตามมาในช่วงนี้"

ข้อมูลจาก Vicenç Fisas (ed.), Yearbook on Peace Processes 2014, School for a Culture of Peace, Universitat Autònoma de Barcelona (UAB) หน้า 7-9

-- โดยสรุปแล้ว คู่ขัดแย้งต้องมีหลักคิดที่จะยึดการพูดคุยเจรจาเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาก่อน ตลอดจนเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะยอมถอยให้ผู้ที่เรามองว่าเป็นศัตรูบ้างเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าตนได้ประโยชน์จากการพูดคุยเจรจากัน จากนั้นจึงค่อยเริ่มสร้างความไว้วางใจระหว่างกันจากการทำงานด้วยกันในการหาข้อสรุปว่าจะคุยกันอย่างไรและจะคุยอะไรกันบ้าง บนพื้นฐานของกรอบเวลาและแผนที่เดินทาง (roadmap) ที่เห็นพ้องร่วมกัน –