Skip to main content
แปลและเรียบเรียง นายอิสมาอีล ฮายีแวจิ
สำนักสื่อวารตานี [WARTANI]
 
เลขาธิการใหญ่ สนน.ชจต. แจ้งหวังเยาวชนนักศึกษาอย่างเดียวไม่พอ แนะเยาวชนทุกคนต้องพร้อม เปรียบเทียบสงครามใบกระท่อมที่ปาตานีกับสงครามฝิ่นที่จีนไม่แตกต่าง ฝากเพื่อนนักศึกษาทุกคนต้องมีบทบาท เพราะเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่นหากทุกคนพยายาม สันติภาพจะมาตามที่เรากำหนดเอง
 
ผู้ดำเนินรายการ : อาเต๊ฟ โซ๊ะโก
นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า
หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [YDA]
  
ต่อไปนี้ผมจะให้คุณกริยา ในฐานะที่เป็นผู้นำนักศึกษาสูงสุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือผู้นำนักศึกษาสูงสุดของปาตานี ซึ่งคำถามที่ผมได้เตรียมที่จะถามคุณกริยาก็คือ ถ้าหากจำกันได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนมาถึงช่วงกลางปี พ.ศ.2551 เดิมทีประชาชนที่ไม่พอใจต่อการกระทำของหน่วยงานภาครัฐ มักจะรวมตัวกันโดยลำพังหลายๆกรณี
แต่กรณีที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของตากใบ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบนี้มีบุรุษหรือผู้ชายเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ส่วนจำนวนผู้หญิงก็มีมากเช่นเดียวกัน และหลังจากที่ถูกปราบอย่างชัดเจนโดยหน่วยงานความมั่นคง วิธีการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมก็เปลี่ยนจากผู้ชายมาเป็นผู้หญิง
 
ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลังจากที่เกิดม็อบที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ตากใบ จากม็อบที่เรียกว่าผู้หญิงและผู้ชายที่มารวมอยู่ด้วยกัน ก็เปลี่ยนมาเป็นม็อบผู้หญิงเท่านั้น อาจจะด้วยเรื่องความปลอดภัยของผู้ชาย หรือผู้ชายไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้อีกแล้ว จึงทำให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เอง สิ่งนี้มันดำเนินมาหลายปีมาก เกิดยุทธการพิทักษ์ เกิดยุทธการพิชิต นำมาด้วยการข่มขืนผู้หญิงหลายต่อหลายคนและมากมายในพื้นที่ แต่กรณีหนึ่งที่เป็นกรณีที่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งกรณีการข่มขืนผู้หญิงที่บ้านบาซาลาแป ซึ่งมารดาผู้บังเกิดเกล้าของเหยื่อผู้หญิงคนนั้นเชื่อโดยสนิทใจว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย
 
หลังจากเหตุการณ์การข่มขืนผู้หญิงที่บ้านบาซาลาแปในครั้งนั้นก็เกิดขบวนการนักศึกษาที่ไม่ใช่ขบวนการนักศึกษาจากกรุงเทพมหานคร แต่เป็นขบวนการนักศึกษาที่มีเชื้อสายของคนในพื้นที่ หรือเป็นขบวนการนักศึกษาปาตานี ตลอดระยะเวลานั้นกลุ่มนักศึกษาก็ได้จัดทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างชัดเจน มีการลงพื้นที่และพยายามนำเสนอข้อเท็จจริง เป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ดีที่สุด
 
เรายังจำกันได้ว่าถ้าจากการทำโพลสำรวจ ณ ตอนนั้น หากถามว่ากลุ่มบุคคลใดที่ประชาชนปาตานีไม่ไว้ใจมากที่สุด และให้ความไว้วางใจน้อยที่สุดคำตอบก็คือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย แต่กลุ่มบุคคลที่ประชาชนปาตานีให้ความไว้วางใจมากที่สุดนอกเหนือจากหน่วยงานด้านกฎหมายหรือทนายความนั้นก็คือ นักศึกษาเพราะอะไรนั้นหรือ ก็คงเป็นเพราะบทบาท ณ ตอนนั้นค่อนข้างชัดเจน
 
แต่ช่วงเวลานั้นล่วงเวลามามากแล้ว ตอนแรกจะเห็นได้ว่านักศึกษาจะเป็นคนนำหลักๆในประเด็นความเป็นธรรม และในประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆในพื้นที่ แต่หลังจากนั้นนักศึกษาหายไปไหน ? นักศึกษาปล่อยให้ใครนำ ? ทำไมสภาพนักศึกษาของคนปาตานี ณ ตอนนี้ถึงเป็นแบบนี้ ?
 
นายกริยา มูซอ
เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)
 
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านขอให้สลามแด่ชนชาติที่ถูกกดขี่ ผมในฐานะตัวแทนของนักศึกษาทุกคน มาวันนี้มาเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่เราจะไปหลังจากนี้ ว่าจะเป็นกันอย่างไรต่อไป ? กับคำถามที่ผู้ดำเนินรายการถามมาว่า ทำไมวันนี้กลุ่มขบวนการนักศึกษายิ่งวันยิ่งอ่อนแอ ? เพราะอะไร ?
 
สิ่งที่ผมสามารถสรุปได้จากการบรรยายโดยวิทยากรสามท่านแรกนั้นก็คือ การพูดถึงแนวทางที่จะไปหลังจากนี้ว่าจะไปกันอย่างไร ? ซึ่งอาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ ก็มีแนวทางหนึ่ง คุณตูแวดานียา ก็มีอีกแนวทางหนึ่ง ส่วนคุณสุพัฒน์ ก็พยามพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น เหตุการณ์ที่ตากใบ คงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆจะมีประชาชนออกมาชุมนุมโดยไร้เหตุผล
 
ถึงอย่างไรมันจะต้องมีต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น อย่างที่เขาเรียกว่า ตามพฤติกรรมทางสังคมศาสตร์มันจะต้องมีที่มาที่ไป มันจะต้องมีต้นเหตุ มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็เกิดขึ้น มันต้องมีหลักการและเหตุผล วันนี้ที่กลุ่มนักศึกษาอ่อนแอก็เช่นเดียวกัน มันจะต้องมีที่มาที่ไปของมัน
 
แต่สำหรับงานวันนี้แล้ว ผมอยากกล่าวขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อเพื่อนนักศึกษาที่มาร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ทุกคนมาจากหลากหลายพื้นที่ จากหลายมหาวิทยาลัย จากหลายจังหวัด ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตรัง และจากรุงเทพมหานคร หากจะพูดถึงความพยายามที่จะรวมตัวมาร่วมจัดงานในครั้งนี้ก็ถือว่าไม่ง่ายเลย แต่ทุกคนก็สามารถมาร่วมกันจัดได้ ผมรู้สึกประทับใจที่สุด
 
วันนี้ผมขอพูดถึงปัญหาของพวกเรา ปัญหาของเราในวันนี้คือ หลังจากนี้ต่อไปเราจะร่วมกันไปอย่างไร ? ผมขอพูดเป็นการสรุปแล้วกัน เมื่อสักครู่ทั้งสามวิทยากรก็พูดถึงวิธีการแล้ว ต่อไปนี้ผมจะพูดถึงเรื่องของต้นทุนทางการเมืองที่พวกเราจะต้องมี ผมรู้สึกว่าวันนี้หนุ่มสาวในหมู่บ้าน หรือบทบาทของหนุ่มสาวในหมู่บ้านนั้นไม่มี หรืออาจจะมีแต่ไม่กล้าเปิดเผย ที่พวกเขาไม่กล้านั้นมันต้องมีสาเหตุ ต้องมีที่มาที่ไป และผมคิดว่าเหตุผลที่ไม่กล้านั้นก็อาจจะเป็นเพราะ พวกเราไม่รู้และไม่มีข้อมูล
 
พ่อแม่พี่น้องและผู้เข้าร่วมทุกคนรู้หรือไม่ว่า หนุ่มสาวที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาและต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษานั้นมีจำนวน 1 แสนคนที่หายออกไปจากระบบการศึกษาในประเทศ เพราะเหตุใดหรือ ? ผมขอตอบว่าเพราะไม่มีเงิน จ่ายค่าเล่าเรียน จ่ายค่าเทอม และจ่ายค่าครองชีพ นี่คือเพียงแค่หนึ่งเหตุผลเท่านั้น ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปศึกษาเล่าเรียนต่อได้ และนั่นคือการกดขี่ อาจเป็นเพราะพวกเขากลัวจะมีผู้รู้เกิดขึ้นในพื้นที่ มันเป็นสิ่งที่พวกเขากลัวที่สุด พวกเขาเลยคิดใช้วิธีการต่างๆที่จะไม่ให้หนุ่มสาวบ้านเราฉลาดกว่านี้
 
สำหรับหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาในวันนี้ พวกคุณต้องมีบทบาท เพราะพวกคุณได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ถ้าหากวันนี้พวกคุณมาเรียนอย่างเดียว เรียนเพื่อความสนุกสนาน เรียนเพื่อตนเองแล้ว คุณคือพวกที่ทรยศต่อพี่น้องบ้านเกิดตนเอง ทรยศต่อศาสนาของตนเองผมขอยกตัวอย่างที่อยู่ใกล้ๆกับพวกเราในวันนี้ อย่างใน มอ.ปัตตานี ยังมีนักศึกษาอีกจำนวนมากที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น
 
พวกเขาคิดเพียงอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่ได้ไปวันๆจะทำอย่างไรให้ตนเองได้วุฒการศึกษาเพื่อไปรับใช้ระบบต่อไป โดยไม่สนใจคนรอบข้างตนเองเสียเลย 
สำหรับวันนี้แล้วหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่พวกเราได้จัดทำโครงการครั้งนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการที่จะวิพากษ์ระหว่างกัน วิทยากรท่านอื่นๆเขาก็วิพากษ์บทบาทของผู้นำ วิพากษ์บทบาทของผู้ใหญ่ และแนวทางที่เราจะไป ส่วนผมวันนี้ขอวิพากษ์ถึงบทบาทของนักศึกษา หรือของคนหนุ่มสาว เพราะอะไรนั้นหรือที่ผมจำเป็นต้องวิพากษ์ ก็เพราะพวกเราคือความหวังไง อีกสิบปีข้างหน้าพวกเราจะไปทำอะไรได้บ้าง นอกเสียจากแต่งงาน เลี้ยงชีพ มีลูกแล้วยังไงต่อ ?
 
สำหรับหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ณ เวลานี้จะต้องรู้และรู้จริง เราจะต้องศึกษาและเล่าเรียนต่อไป จะเป็นในรูปแบบไหนก็ได้
 
ถ้าหากวันนี้หนุ่มสาวทุกคนพยายามสร้างสังคมที่เป็นปัจเจก ผมขอบอกเลยว่าสังคมปาตานีเละเทะ เน่าเฟะแน่นอน เพราะอะไรนั้นหรือ ก็เพราะพวกเราพยายามรณรงค์ให้มีการแตกแยกขึ้นมาเอง พวกเราไม่ยอมที่จะร่วมกันเกาะกลุ่มเป็นก้อน
 
วันนี้เราจำเป็นต้องมาร่วมกันตั้งคำถามขึ้นมาทุกวันว่า วันนี้เราจะเคลื่อนไหวไปอย่างไร ? เหมือนอีกหนึ่งบทบาทของนักศึกษาที่พยายามเดินทางออกไปต่างประเทศ เพื่อบอกเล่าให้แก่คนต่างชาติรับรู้ว่าวันนี้ประชาชนบ้านผมยังถูกกดขี่ ที่นี่มีการกดขี่ และปาตานียังมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นอีก
 
และกลุ่มจับอาวุธเอง ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการจับอาวุธเลย แต่คงเป็นเพราะพวกเขาอาจมีเหตุผลที่พวกเขาต้องมาจับอาวุธ เพราะทุกการกระทำมันย่อมมีเหตุผลของมัน
 
สำหรับบทบาทของประชาชนเองก็ต้องมีเช่นเดียวกัน เมื่อสักครู่คุณตูแวดานียา ก็ได้บรรยายไปแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันค่อนข้างชัดเจนมาก สำหรับบทบาทของประชาชนวันนี้คือ ประชาชนจะต้องกำหนดสถานะของตนเอง ประชาชนจะต้องมีสถานะของตนเอง ไม่ใช่เป็นประชาชนที่ไร้สถานะ ใครจะจูงไปทางไหนก็เฉย นั่นแหละคือบทบาทของพวกเรา พวกเราจะต้องออกมาพูดเอง วันนี้สำหรับนโยบายต่างๆหลายๆนโยบายที่มันส่งผลกระทบต่อพวกเรา หากเราวิพากษ์ออกไปแล้วก็อาจจะเป็นคนผิด นั่นมันอาจจะเป็นเพราะเราไม่มีสถานะของตนเองไง
 
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะพูดคือ เรื่องยาเสพติด ลองเรากลับไปย้อนดูประวัติศาสตร์สงครามฝิ่น อย่าเชื่อตามที่ผมพูด ลองกลับไปหาข้อมูลดูเอง ลองไปศึกษาดูว่าระหว่างสงครามฝิ่นกับสงครามกระท่อมมันเหมือนกันหรือไม่ ? หากถามผมแล้ว ผมขอตอบว่าเหมือนกัน ถอดแบบมาเหมือนกัน เพราะเจตนามันพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว และกลุ่มที่มีคุณภาพทางความคิดสูงสุด
 
นี่คือสิ่งที่พวกเราเองก็รู้ เรารู้อยู่แก่ใจ แต่เราก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้นอีก หากพูดถึงหลักการอิสลามก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พูดถึงหลักการอิสลามแล้วปัญหานี้บทบาทของผู้รู้ศาสนาอยู่ตรงไหน แต่ผมเชื่อว่าผู้รู้ศาสนาพร้อมที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม แต่คงเป็นเพราะประวัติศาสตร์เคยสอนเรามาแล้ว อย่างฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือวีรบุรุษผู้กล้าของพวกเรา เขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำอย่างไร ? นั่นอาจจะเป็นหนึ่งสาเหตุ
ที่ผมจะบอกวันนี้คือหลักๆเลยเรื่องต้นทุนของพวกเรา โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจำเป็นจะต้องเกิดการรวมกลุ่ม หากจะหวังเฉพาะขบวนนักศึกษาอย่างเดียวนั้นผมว่าคงมีพลังไม่พอ ฉะนั้นขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาวมันจะต้องเกิดถึงแม้เราไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือก็อย่ากลัว อย่าคิดว่าเพราะเราไม่เรียนจึงทำให้เราโง่ มันไม่ใช่ และอย่าคิดว่าเราไม่มีคุณภาพ ถ้าคุณคิดอย่างนั้นถือว่าเข้าทางกลุ่มคนที่ต้องการจะทำลายอนาคตของพวกคุณเอง
ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ คือ สิ่งที่คุณฮัมซะห์ โกมลซัง วิทยากรจากบังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์ได้บอกผมไว้ พวกเขาก็ทำสงครามมาหลายปีแล้ว บทบาททางการเมืองของพวกเขาชัดเจน พวกเขาต้องการเอกราช เพราะเหตุผลของพวกเขาชัดเจน หากพวกเขายังอยู่ภายใต้รัฐบาลมะนิลาของประเทศฟิลิปปินส์ การกดขี่มันก็ยังคงต้องเกิดขึ้นอีกไปเรื่อยๆ หากจะให้บังซาโมโรมีความก้าวหน้าก็ต้องมอบเขตปกครองพิเศษและเอกราชคืนมา คือจริงๆแล้วบังซาโมโรมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศฟิลิปปินส์ เพราะฟิลิปปินส์มันยังมีการคอรัปชั่น มีความอยุติธรรม สำหรับฟิลิปปินส์และประเทศไทยผมว่าก็ไม่ต่างกันหรอกน่ะ มันเหมือนกับว่าเป็นพี่น้องกันอ่ะน่ะ มีอะไรที่ชัดเจนเหมือนกัน
 
สำหรับวันนี้อีกครั้งหนึ่งเราลองกลับไปดูต้นทุน ต้นทุนที่อยู่ในหมู่บ้านของเราเอง ไม่ต้องมากก็ได้ แต่ต่างคนต่างหมู่บ้านกลับไปสร้างต้นทุนในหมู่บ้านของตนเอง ก่อนที่อาเซียนจะเข้ามา หากอาเซียนเข้ามาแล้วพวกเรายังนิ่งเฉยอยู่เหมือนเดิมผมเชื่อว่าสังคมบ้านเราเละเทะแน่นอน เพราะระหว่างรัฐบาลของประเทศต่างๆเขาร่วมมือกัน ร่วมมือกันทำอะไรนั้นหรือ ก็ร่วมกันกดขี่ไง
 
ลองทุกคนคิดดูว่าหากวันนั้นมาถึง รัฐบาลในประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนตัดสินใจร่วมกันว่าปัญหาในปาตานีจะต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีเผด็จการแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ? มันอาจจะเป็นไปได้เพราะปาตานีคือประตูสู่อาเซียนในเรื่องเศรษฐกิจ หากการร่วมทำเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนติดขัดหรือเป็นปัญหาเพราะเหตุจากการทำสงครามระหว่างกลุ่มติดอาวุธปาตานีกับรัฐไทย แน่นอนพวกเขาต้องร่วมมือกัน ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สงครามสงบลงเพื่อง่ายต่อการทำเศรษฐกิจของพวกเขา
 
แล้วคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ประชาชนปาตานีจะมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ฟังดูแล้วมันไม่ง่ายเลย แต่เพื่อให้ปาตานีเกิดสันติภาพโดยเร็ววันนั้น ต้องสนับสนุนหนุ่มสาวลูกหลานของเราเรียนรู้ให้มาก ไม่อย่างนั้นก็จบเห่เลย เพราะวันนั้นรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่เราจะต้องออกมากำหนดชะตากรรมตนเองนั้นทุกคนต้องมี หรือพวกเราคิดว่าวันนั้นเราพอใจกับความเป็นอยู่แบบเดิมแล้ว ? แต่ถ้าทุกคนรู้สึกพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วเหตุการณ์ต่างๆมันคงไม่เกิดขึ้น หรือว่าอย่างไร ? บทบาทของประชาชนวันนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ? จะต้องทำอย่างไร ?
 
สิ่งสำคัญวันนี้แนวทางที่จะนำเราไปสู่สันติภาพ วันนี้เราทุกคนต้องพูด ไม่ว่าในร้านน้ำชาเองก็ตาม ในตลาดนัดเองก็ต้องพูด ต้องมาร่วมกันแบ่งปันความรู้ว่า Right to Self Determination [RSD]คืออะไร ? อนาคตลูกหลานของพวกเราข้างหน้าเราจะออกแบบมันให้เป็นอย่างไรดี ? หากพวกเราไม่เริ่มพูดแล้วใครจะเป็นคนพูด ?  หากเราไม่พูดก็เสมือนกับเรายอมที่จะให้รัฐพูดแทน แต่นั้นมันไม่ใช่  มันเป็นหน้าที่ของพวกเรา คือหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องมาออกแบบ หรือออกมากำหนดชะตากรรมของตนเอง
 
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาวิพากษ์ตนเอง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาพูดกับตัวเองว่าตกลงเราจะเอากันอย่างไร ? หากเรามาร่วมกันพยายามหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อกำหนดชะตากรรมตนเองแล้ว ความสำเร็จที่พวกเราวาดฝันเอาไว้แน่นอนมันจะนำไปสู่สันติภาพที่เราเป็นคนกำหนดด้วยมือของเราเอง
ผู้ดำเนินรายการ
 
อันที่จริงผมเองมีหลายคำถามพอสมควรที่ต้องการถามคุณกริยา แต่คำนวณเวลาดูแล้วคงไม่มีโอกาสได้ตอบ เพราะเวลาที่เหลืออยู่มีค่อนข้างน้อย ผมคิดว่าคุณกริยาคงเป็นหนึ่งในเจ้าภาพที่จัดงานและคงได้ฟังคำถามจากผมอีก แต่สำหรับวันนี้ผมจะไม่ถามคุณกริยาอีก
 
            หากเราสังเกตที่นั่งตรงที่หายไปดีๆแล้วจะเห็นที่ว่างอยู่อีกหนึ่งที่ซึ่งเป็นที่ของเลขานุการ ศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [PERKASA]คือ สมาคมที่รวมโรงเรียนตาดีกาทั้งห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านมีชื่อว่าอุสตาส อับดุลรอนิง เด็งสาแม ซึ่งท่านเป็นเลขานุการ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไมท่านถึงไม่มาและผู้ประสานงานเองก็ไม่ได้แจ้งมากับผม น่าเสียดายที่เราไม่ได้มีโอกาสฟังท่านตอบเกี่ยวกับคำถามที่ผมเตรียมมาว่า ตกลงท่านคิดอย่างไรกับการที่โรงเรียนตาดีการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสถานที่แหล่งบ่มเพาะของผู้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช ? นี่คือคำถาม แต่คงไม่มีโอกาสได้ตอบให้เราฟังเพราะท่านไม่อยู่ แต่ไม่รู้ว่าที่ไม่อยู่นี้เพราะอะไร ถูกอุ้มไปแล้วหรือเปล่า ? หรือว่าหายไปไหน ? สำหรับคำถามนี้คงหาคำตอบบนเวทีนี้ไม่ได้ แต่เพื่อให้เวทีเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้หลังจากนี้ เราคงได้ฟังจากเพื่อนอีกหนึ่งท่าน
 

 บทเสวนาที่เกี่ยวข้อง
  1. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [1] อาจารย์อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
  2. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [2] ตูแวดานียา ตูแวแมแง
  3. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [3] สุพัฒน์ อาษาศรี 
  4. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [4] กริยา มูซอ
  5. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [5] ฮัมซะห์ โกมลซัง ลัยดายัน
  6. ถอดบทเสวนา : สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ? [6]
 
วิดีโอเสวนา