Skip to main content

 

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่ง:
บทสรุปความและสนทนากับ Stuart J. Kaufman

 

อาทิตย์  ทองอินทร์
วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

       ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นบทสรุปความและสนทนากับงานของ Stuart J. Kaufman เรื่อง Symbolic Politics or Rational Choice: Testing Theories of Extreme Ethnic Violence[1] โดยผู้เขียนเล็งเห็นว่า งานชิ้นนี้ของ Kaufman เป็นเสมือน “แผนที่นำทาง” ชั้นดีให้กับการเดินทางของนักท่องเที่ยวเชิงภูมิทัศน์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่ง

       การทำความเข้าใจรากเหง้าของความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งเป็นประเด็นที่สร้างความยุ่งยากใจให้กับผู้สนใจศึกษาการเมืองมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมา มีงานวิชาการจำนวนมากพยายามให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยงานในระยะแรก มีแนวโน้มให้น้ำหนักไปที่บทบาทของ “ความเกลียดชังจากยุคบรรพกาล” (ancient hatreds) ส่วนงานในระยะต่อมาไม่ค่อยเห็นด้วยนัก ด้วยมองว่า ทัศนคติและอัตลักษณ์ของผู้คนนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มันผันแปรไปตามกาลเวลาอยู่ตลอดเวลา

       แนววิเคราะห์ที่เป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน ยืนพื้นอยู่บนทฤษฎีทางเลือกที่สมเหตุสมผล (rational choice theory) ซึ่งเข้าสู่การวิเคราะห์ประเด็นนี้โดยผสานอยู่กับชุดความคิดของนักทฤษฎีสายสัจนิยมในเรื่องสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางความมั่นคง (security dilemma) แนววิเคราะห์นี้มีแนวโน้มจะอธิบายโดยยืนยันถึงความสมเหตุสมผลของพฤติกรรม แม้จะเป็นพฤติกรรมสุดโต่งอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ปรากฏขึ้นจากการคิดอย่างสมเหตุสมผลบางประการ  ส่วนแนววิเคราะห์ที่ตรงข้ามกับท่าทีข้างต้น คือ สำนักคิดสังคมจิตวิทยา (social-psychological school) ซึ่งเสนอให้พิจารณาปัจจัยที่จับต้องไม่ได้แต่มีความสำคัญในการก่อตัวของความรุนแรง เช่น สถานะ และแรงขับทางอารมณ์/ความรู้สึก เป็นต้น

       แม้จะปรากฏงานวิชาการจำนวนมากพยายามอธิบายความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จนกระทั่งการจะเดินทางออกท่องภูมิทัศน์ความรู้ในเรื่องนี้อาจทำให้เราเดินสะเปะสะปะมากพอสมควร แต่ Kaufman ก็จัดทำแผนที่ออกมาว่า อันที่จริงแล้ว มีงานน้อยชิ้นเท่านั้นที่เป็นงานเชิงทฤษฎีโดยสมบูรณ์ (complete theories) สำหรับการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเขาสรุปว่ามีเพียง 3 ตัวแบบ (models) เท่านั้น และนั่นคือ 3 พื้นที่ที่เราควรไปสำรวจตรวจสอบภูมิทัศน์ของมัน

       ตัวแบบที่ 1: The Pure Uncertainty Security Dilemma Model

       ตัวแบบนี้ตั้งต้นว่า แม้สองกลุ่มชาติพันธุ์คู่ขัดแย้งจะมิได้ต้องการไปไกลถึงขั้นทำสงครามกัน แต่ความไม่แน่นอน (uncertainty) และความไม่มั่นคง (insecurity) จะเป็นปัจจัยที่สามารถผลักดันให้สงครามปะทุขึ้นมาได้ เหตุผลหลักคือเรื่องของความล้มเหลวทางข้อมูล (information failure) อาทิ ทั้งสองฝ่ายไม่แน่ใจเกี่ยวกับเจตนาของกันและกัน ซึ่งพวกเธอ/เขาอาจจะประเมินความเป็นปฏิปักษ์ที่ฝ่ายตรงข้ามมีต่อตนเองสูงเกินความเป็นจริง อันส่งผลให้ความขัดแย้งขยายตัวบานปลาย หรือการที่พวกเธอ/เขายังอาจไม่แน่นอนต่อผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของความขัดแย้ง ซึ่งฝ่ายที่เป็นไปได้ว่าจะพ่ายแพ้มิอาจรู้ถึงการหลีกเลี่ยงหายนะโดยการยอมอ่อนข้อตั้งแต่แรก เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้น ปฏิบัติการทางการทหารเพื่อโจมตีก่อน/ตัดไฟแต่ต้นลม (preemptive military action) จากผลของการประเมิน (ผิด) ดังกล่าว เพื่อตอบสนองความมั่นคง ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงอยู่รอดไปเสียเอง (หรือที่เรียกว่า security dilemma) ด้วยการแพร่กระจายความรุนแรงอันเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ประสงค์ต้องการ

       ตัวแบบที่ 2: The Elite-Predation Model

       ตัวแบบนี้แม้จะยืนพื้นอยู่บนแนววิเคราะห์ทางเลือกที่สมเหตุสมผลเหมือนตัวแบบแรก แต่ก็เห็นว่า ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง (security dilemma) เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการอธิบายเงื่อนไขที่พวกผู้นำหรือกลุ่มย่อยสายเหยี่ยวประสบความสำเร็จในการระดมการสนับสนุนจากผู้ฟังสาธารณชนซึ่งโดยปกติแล้วนิยมสันติภาพมากกว่าความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ตัวแบบที่ 2 ซึ่งวางอยู่บนสมมติฐานว่า “มวลชนไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่ชนชั้นนำต้องการ” จึงได้เสนอเสริมจากตรรกะว่าด้วยความไม่แน่นอนโดยสมบูรณ์ (pure-uncertainty) ของตัวแบบที่ 1 ว่า การทำความเข้าใจความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่ง จำเป็นต้องอธิบายจากมุมของ 2 ปัจจัย คือ ชนชั้นนำที่มุ่งกำจัดล้างบาง (predatory elites) กับความไม่แน่นอนของมวลชน (mass uncertainty) กล่าวคือ ผู้นำที่กลัวจะสูญเสียอำนาจอาจเลือกเล่นเกมเสี่ยงโดยใช้วิธีกำจัดล้างบางเพื่อรักษาฐานอำนาจตนเองไว้ ผ่านการที่การกำจัดที่กล่าวถึงเป็นการปลุกปั่นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เพื่อเปลี่ยนวาระของชาติไปสู่ประเด็นที่เอื้อต่อการรักษาอำนาจของเธอ/เขา ในขณะที่มวลชนซึ่งสังเกตเห็นความรุนแรงแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครยั่วยุปลุกปั่นขึ้น ก็จะมีแนวโน้มอย่างสมเหตุสมผลว่า พวกเธอ/เขาจะกังวลวิตก กลุ่มอื่น (the other group) ว่าเป็นภยันตราย และจึงสนับสนุนอย่างสมเหตุสมผลต่อนโยบายที่นำไปสู่สงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้วยคำนวณแล้วว่าต้นทุนของความรุนแรงจากสงครามน้อยกว่าต้นทุนของการเผชิญภัยคุกคามจากความรุนแรงที่ไม่อาจเตรียมการรับมือ      

       ตัวแบบที่ 3: The Symbolist Model of Ethnic War and Genocide

       ตัวแบบนี้ต่างออกไปจาก 2 ตัวแบบแรก คือ มิได้ยืนพื้นอยู่บนสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ หากแต่เป็นสังคมศาสตร์ ทฤษฎีของตัวแบบที่ 3 นี้ ตระหนักว่า ธรรมชาติของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่มากกว่าประเภทหรือการจัดประเภททางสังคมที่ถูกครอบงำจัดการโดยชนชั้นนำ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ถูกนิยามขึ้นโดยระบบที่ซับซ้อนของสัญลักษณ์และชุดคติความเชื่อ ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่ระบุองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่แชร์ร่วมกัน รวมไปถึงการตีความประวัติศาสตร์ที่มุ่งโอบกอดสมาชิกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกันและจำแนกแยกกั้นให้ต่างไปจากกลุ่มอื่น ด้วยเหตุที่ระบบที่ซับซ้อนของสัญลักษณ์และชุดคติความเชื่อนี้ลงรากอยู่ในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ “ผู้ประกอบการวัฒนธรรม” (cultural entrepreneur) ผู้ส่งเสริมการตีความอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์จึงมักมิใช่บุคคลคนเดียวกับนักการเมืองที่ใช้สอยมัน และมากกว่านั้นคือ ศักยภาพของนักการเมืองในการใช้ความเป็นชาติพันธุ์ในฐานะเครื่องมือ (อันเป็นข้อถกเถียงสำคัญของตัวแบบที่ 2) ก็ถูกจำกัดโดยบริบททางวัฒนธรรมที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ภายใน

       การประกอบสร้างชุดคติความเชื่อของกลุ่ม นอกจากจะฉายภาพของการเอาชาติพันธุ์ตนเป็นศูนย์กลาง (ethnocentrism) แล้ว ยังมุ่งเน้นวาดภาพกลุ่มอื่นให้เป็นศัตรูของกลุ่มตนด้วย ข้อนี้เองนำมาสู่สมมติฐานหลักประการแรกของทฤษฎีสัญลักษณ์ คือ ยิ่งระบบที่ซับซ้อนของสัญลักษณ์และชุดคติความเชื่อของกลุ่มพุ่งเป้าความเป็นปฏิปักษ์ไปยังกลุ่มศัตรูอย่างเฉพาะเจาะจงมากเท่าใด ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะความรุนแรง และความเข้มข้นของความรุนแรงต่อกลุ่มศัตรูนั้น ก็ยิ่งจะมากตามไปเท่านั้น

       ทฤษฎีการเมืองสัญลักษณ์พัฒนาขึ้นจากข้อค้นพบทางประสาทวิทยา (neuroscience) ที่ว่า การกระทำของมนุษย์ไม่ได้ถูกขับด้วยการคำนวณอย่างสมเหตุสมผล หากแต่เป็นอารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้ อารมณ์/ความรู้สึกยังทำหน้าที่ขับดันให้มนุษย์จัดลำดับความสำคัญระหว่างเป้าหมายในชีวิตต่าง ๆ เช่น ความหวาดกลัว เป็นสาเหตุให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะให้ความสำคัญลำดับแรกกับความมั่นคงมาก่อนคุณค่าอื่นอย่างความมั่งคั่ง เป็นต้น และงานศึกษาส่วนหนึ่งก็สะท้อนว่า ทัศนคติที่ถูกก่อรูปขึ้นจากความรู้สึกดังที่ยกตัวอย่างมานี้ “จะทำงานตอบสนอง” กับสิ่งเร้าทางอารมณ์/ความรู้สึกมากกว่าสิ่งเร้าทางปัญญาเหตุผล

       ตรงนี้เอง ทฤษฎีการเมืองสัญลักษณ์เสนอว่า ผู้คนทั่วไปจะเลือกค่านิยมและผู้นำอย่างใช้ความรู้สึกโดยตอบสนองกับสัญลักษณ์ที่ชวนระลึกถึงภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเคยปรากฏนำเสนอต่อพวกเขาเอง สัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่มีพลัง ด้วยมันอ้างอิงอยู่กับผลประโยชน์และมายาคติอันกอปรด้วยอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง และมักตีกรอบให้ภาพความขัดแย้งของผลประโยชน์ในภาพของการต่อสู้กับปฏิปักษ์ ปีศาจร้าย หรือพลังอำนาจที่ต่ำตมกว่าความเป็นคน ซึ่งสัญลักษณ์ทางชาติ และชาติพันธุ์ก็มีพลังมหาศาลจากบริบทลักษณะดังกล่าวนี้ อันเปิดทางให้นักการเมืองสามารถตีความใหม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไปให้เห็นในภาพของการต่อสู้เพื่อความมั่นคง สถานะ และอนาคตของกลุ่ม ทั้งนี้ การใช้สัญลักษณ์เพื่อปลุกตื่นความรู้สึก คือ แนวทางที่นักการเมืองใช้จูงใจผู้สนับสนุนให้กระทำการบางอย่างนั่นเอง

       ส่วนธรรมชาติของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้น ตัวแบบที่ 3 ก็มองต่างออกไปจากตัวแบบที่ 1 และ 2 โดยมองว่า ผลประโยชน์ของปัจเจกหรือกลุ่มมิใช่ข้อพิจารณาหลักในความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หากแต่ข้อพิจารณาหรือประเด็นศูนย์ดุลหลักวางอยู่ในการต่อสู้เพื่อคุณค่าของกลุ่ม ซึ่งมิใช่คุณค่าเชิงสัมบูรณ์ในตัวเอง หากแต่เป็นคุณค่าในเชิงสัมพัทธ์ หรือเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ต่อสู้ขัดแย้งด้วย (relative group worth)

       จากที่กล่าวมาแล้วนั้น Kaufman จึงชี้ทางเดินของความรู้ขยายออกไปว่าเงื่อนไขเบื้องต้นของสงครามทางชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กอปรขึ้นจากอิฐ 3 ก้อน คือ (1) ชุดคติความเชื่อของกลุ่มที่ให้เหตุผลกับความเป็นปฏิปักษ์ อันเป็นเงื่อนไขแรกเริ่มของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ใช้ความรุนแรงต่อกัน อิฐก้อนนี้วางเป็นฐานตั้งขึ้นมาก่อนหน้านักการเมืองจะหยิบจับฉวยใช้เสียด้วยซ้ำ (2) ความหวาดกลัวว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มกำลังถูกคุกคาม ซึ่งข้อนี้นับเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นทางความรู้สึก และ (3) โอกาสทางการเมือง ซึ่งหมายถึง การมีพื้นที่ทางการเมืองที่กว้างพอที่จะระดมรวมหมู่มวลชนและเข้าถึงการใช้กลไกสถาบันของกลุ่มในการปฏิบัติการ และการมีฐานทางเขตอาณาในเชิงกายกายภาพ (territorial base)

       เงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าว สามารถพาไปสู่สงครามทางชาติพันธุ์หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้โดยผ่านกระบวนการ 3 จังหวะ คือ (1) ความเป็นปฏิปักษ์ของมวลชน (2) การระดมรวมหมู่ทางการเมืองแบบคลั่งชาติ และ (3) ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง (security dilemma) ซึ่งทั้งสามจังหวะนี้จะทำงานปฏิสัมพันธ์กันสร้างเกลียวหมุน (spiral) ของการขยายความขัดแย้งรุนแรงให้เข้มข้นขึ้นไป บนบริบทที่เงื่อนไขเบื้องต้นก่อตัวขึ้นเรียบร้อยแล้ว  

       ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจพิจารณา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเกลียวหมุนของความขัดแย้งที่ขยายลุกลามดังกล่าว กับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง (security dilemma) กล่าวคือ ในมุมของ security dilemma นั้น อันที่จริงจะมี 2 แบบแผนด้วยกันเมื่อมองจากประเด็นเรื่องเป้าหมายการกำจัดกวาดล้างของชนชั้นนำ คือ (1) แรงจูงใจที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นสาเหตุแรกเริ่มของความหวาดกลัว และความไม่มั่นคงเสียเอง หรือ (2) ในทางกลับกัน ความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงเป็นเหตุให้ต้องดำเนินนโยบายกำจัดกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เมื่อชนชั้นนำดำเนินนโยบายกำจัดกวาดล้างนั้น เธอ/เขากระทำด้วยแรงขับทางความมั่นคงหรือความโลภกระหายอำนาจกันแน่ ในประเด็นนี้ นักทฤษฎีสายการเมืองสัญลักษณ์เสนอว่า ในกรณีของสงครามกลางเมืองระหว่างชาติพันธุ์นั้น แรงขับด้านความโลภ (greed) กับด้านความมั่นคง เป็นอะไรที่แยกจากกันได้ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่กลุ่มมากกว่าสองกลุ่มขึ้นไปรู้สึกจำเป็นต้องครอบงำเหนือดินแดนเขตเดียวกัน ผลลัพธ์ก็จะเป็นเรื่องของภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้านความมั่นคง (security dilemma)

       อย่างไรก็ตาม ตัวแบบของ Kaufman ยังคงมีจุดที่น่าวิพากษ์สำคัญอยู่ตรงที่การพุ่งเป้าความสนใจไปที่บทบาทของชนชั้นนำเป็นสำคัญ เพราะแท้ที่จริงแล้วมวลชนไม่ได้ไร้เดียงสา เป็นเป้าที่ถูกชักใยโดยสัญลักษณ์เพียงฝ่ายเดียว มวลชนเองมีศักยภาพที่จะใช้สอยและประดิษฐ์สัญลักษณ์ขึ้นต่อสู้ต่อรองด้วยเช่นกัน นี้ยืนยันให้เห็นว่า วัฒนธรรมในฐานะโยงใยความเชื่อความหมาย (web of meaning) นั้นยุ่งเหยิงพอสมควร และไม่ได้เป็นแบบแผนเชิงกลไกชัดเจนราวเครื่องจักร หากแต่มนุษย์วางตัวเองไว้ใน “หลาย web” แล้ว “Pick & Choose” อย่างแตกต่างกันในบริบทต่าง ๆ [2]

        งานของ Nancy Bermio ดูจะเข้ามาช่วยถักทอบทสนทนาตรงนี้ได้ดีมาก เธอเสนอว่า แท้ที่จริงแล้ว มวลชนนั้นไม่ได้แตกแยกแบ่งขั้วกันขนาดนั้น แต่ถูกทำให้รู้สึกเช่นนั้นขึ้นอย่างจงใจและบิดเบือนด้วยยุทธศาสตร์ของชนชั้นนำ หรือเป็นการแบ่งขั้วเทียม ๆ ที่ถูกขยายผล[3] ทรรศนะตรงนี้สอดคล้องกับ Kaufman เช่นกันที่มองว่า อัตลักษณ์ร่วมระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้นมิได้ต่างกันมากขนาดที่เรารู้สึก แต่เด่นชัดผ่านการไฮไลท์ความเหมือนภายในกลุ่ม และขับเน้นความแตกต่างไปจากภายนอก[4] การเมืองวัฒนธรรมจึงควรถูกปฏิบัติในฐานะปฏิสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่มวลชนมั่นใจในตนเองที่จะเลือกสลายเส้นแบ่ง ก้าวข้ามกำแพง และเชื่อมต่ออย่างหลากหลาย รุ่มรวย เพื่อเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ทางการเมืองให้กว้างขวาง รองรับและโอบกอดความแตกต่างหลากหลายเข้ามาร่วมส่วนในพื้นที่ทางการเมือง แทนที่การเมืองแบบแบ่งขั้วผ่านการทำงานของสัญลักษณ์อันประดิษฐ์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของการเผชิญหน้า

 

หากมิใช่มาก่อนกาล ก็หวังว่า แผนที่นำการเดินทางของความรู้อย่างสังเขปชิ้นนี้ ..จะมาทันกาลนะครับ

 

--------------------------------------------

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ



[1] Stuart J. Kaufman. “Symbolic Politics or Rational Choice: Testing Theories of Extreme Ethnic Violence”, in International Security. Vol.30, No.4, Spring 2006. pp.45-86.

[2] Clifford Geertz. “The Impact of the Concept of Culture on the Concept of Man”.

[3] Nancy Bermeo. Ordinary People in Extraordinary Times: The Citizenry and the Breakdown of Democracy. N.J.: Princeton University Press, 2003, ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ. “ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะนำหนังสือที่เอ็นจีโอควรอ่าน: สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย”, ใน ประชาไท (ออนไลน์). https://prachatai.com/ journal/2008/06/17022. เข้าถึงเมื่อ 28 พ.ค. 60.

[4] Stuart J. Kaufman. “Symbolic Politics or Rational Choice? Testing Theories of Extreme Ethnic Violence”.

          ขอบคุณภาพจาก https://twitter.com/pnc2017