Skip to main content

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11/2):

ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

ซาอุดิอาระเบียถือเป็นประเทศพันธมิตรมุสลิมที่มีความที่สำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งของสหรัฐอเมริกาตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา การดำเนินความสัมพันธ์ของสองประเทศสะท้อนลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจโลกกับมหาอำนาจด้านพลังงาน เป็นความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานระหว่างประเทศเสรีประชาธิปไตยกับประเทศที่ปกครอบด้วยระบอบกษัตริย์ เป็นคู่ค้าที่พึงพาอาศัยระหว่างกัน การพึงพิงสนับสนุนกันด้านความมั่นคงหรือที่เรียกว่า “น้ำมันแลกความมั่นคง” (Oil for Security)

แม้จะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมาตลอด แต่ก็มีหลายปัจจัยและสถานการณ์ที่ท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นระยะ ๆ โดยบางเรื่องเป็นเหตุปัจจัยในอดีต เช่น กรณีจุดยืนที่ต่างกันในปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กรณีวิกฤตราคาน้ำมันในค.ศ. 1973 และการที่โอเปกไม่ขายน้ำมันให้สหรัฐ (oil embargo) สงครามอาหรับ-อิสราเอล ค.ศ. 1973 จนมาถึงกรณีเหตุการณ์ 9/11 ที่ดูเหมือนจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกกดดันจากภายในต่อการสานต่อความเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบีย แม้สหรัฐจะยืนยันว่าผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดิอาระเบียหรือกระทั้งกระแสภายในประเทศที่เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่สหรัฐฯก็ไม่ได้กดดันหรือดำเนินการอันใดที่จะกระทบต่อความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยของโอบาม่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียเริ่มปรากฏความร้าวฉานให้เห็นชัดเจนในหลาย ๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสหรัฐฯต่อเหตุการณ์อาหรับสปริง นโยบายของโอบาม่าต่ออิหร่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่วุฒิสภาของสหรัฐมีมติเอกฉันท์อนุมัติร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อความยุติธรรมต่อต้านผู้สนับสนุนการก่อการร้าย” (Justice Against Sponsors of Terrorism Act) หรือ JASTA อันมีสาระสำคัญคือการให้สิทธิผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ 9/11 สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับรัฐบาลต่างชาติหรือรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ แม้ว่ากฎหมายนี้จะไม่ได้เจาะจงสำหรับการฟ้องร้องซาอุดิอาระเบีย แต่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียก็แสดงการต่อต้านอย่างรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าจากปัญหาและความร้าวฉานดังกล่าวได้ฉุดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ทั้งหมดนี้จึงมีประเด็นที่น่าศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบีย

แต่ด้วยกับบริบททางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความจำเป็นในการคงไว้ซึ่งความเป็นพันธ์มิตร

สหรัฐฯกับราชวงศ์ซาอูด ความสัมพันธ์มหามิตร 7 ทศวรรษ

สหรัฐอเมริกาได้สร้างสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและราชวงศ์ซาอูดของกษัตริย์อับดุล อาซิซ อัล ซาอูด (Abdul Aziz Al Saud) ครั้งแรกผ่านการติดต่อเรื่องธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมัน จากนั้นจึงยกระดับเป็นการติดต่อสถาปนาความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลและสานสัมพันธ์กันมาอย่างแนบแน่นแม้จะมีแนวความคิดและรูปแบบการปกครองที่ต่างกันก็ตาม นักธุรกิจอเมริกันเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมันตั้งแต่ ค.ศ. 1933 โดย Standard Oil of California (ปัจจุบันคือ Chevron) ได้สัมปทานในการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในภาคตะวันออกของซาอุดิอาระเบีย

การพบกันครั้งแรกระหว่าง ประธานาธิบดี แฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) กับกษัตริย์อับดุล อาซิซ บนเรื่อ USS Murply ที่อียิปต์ใน ค.ศ. 1945 ได้นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น แม้ว่าในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซาอุดิอาระเบียจะวางตัวเป็นกลางแต่ก็อนุญาตให้ฝ่ายพันธมิตรใช้น่านฟ้าของตนได้ ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดกับวอชิงตันเริ่มมีความแนบแน่นใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลประโยชน์ร่วมกันมายาวนาน สหรัฐก็ให้ความสำคัญกับซาอุดิอาระเบียมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีทุกคนของสหรัฐต่างก็เดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย ทั้งสองประเทศสามารถดำรงความเป็นพันธมิตรไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในลักษระที่ต่างฝ่ายต่างพึงพิงกัน

ทางด้านความมั่นคง ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบีย พึงพิงความช่วยเหลือและการสนับสนุนของสหรัฐฯมาหลายทศวรรษเพื่อประกันความมั่นคงของราชวงศ์ซาอูด ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐจะให้ความสำคัญต่อนโยบายให้การสนับสนุนด้านความมั่นคงแก่ประเทศร่ำรวยน้ำมันในแถบอ่าวเปอร์เซีย และหลังจากที่ซาอุดิอาระเบียได้เข้าควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันให้เป็นของชาติในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียมีรายได้มหาศาล เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติอิหร่านใน ค.ศ. 1979

ความร่วมมือและความช่วยเหลือทางทหารที่สำคัญเห็นได้ชัดจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในค.ศ. 1991 ที่สหรัฐนำกองกำลังผสมขับไล่กองทัพอิรักออกจากคูเวต ครั้งนั้นสหรัฐฯได้ส่งทหารมากกว่า 5 แสนนายเข้ามายังภูมิภาคนี้และตั้งฐานทัพหลายแห่งในซาอุดิอาระเบีย

ในช่วงสงครามอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย และปากีสถาน ร่วมกันสนับสนุนการต่อต้านสหภาพโซเวียตตั้งแต่ค.ศ.1979-1989 มีการสนับสนุนเงินและอาวุธจำนวนมากไปยังนักรบมูญาฮิดีน (Mujahedeen) ในอัฟกานิสถาน ซึ่งสามารถดึงดูดนักรบทั้งจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเข้าร่วม หนึ่งในนั้นคือ อุซามะห์ บิน ลาเดน (Osama Bin Laden) ลูกชายมหาเศรษฐีบริษัทก่อสร้างรายใหญ่แห่งภูมิภาคที่ผันตัวเป็นนักรบและกลายมาเป็นหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะฮ์

ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ประเทศซาอุดิอาระถูกมองว่าเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการบ่มเพาะและขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายโลก เกิดกระแสต่อต้านซาอุดิอาระเบียในสหรัฐฯซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบียมีปัญหา แต่ก็ส่งผลต่อความร่วมมือบางด้าน เช่น ในปี ค.ศ. 2003 สหรัฐต้องประกาศยุติกิจกรรมทางทหารในซาอุดิอาระเบียเพื่อลดกระแสต่อต้านผู้ปกครองซาอุดิอาระเบีย จากนั้นซาอุดิอาระเบียจึงหันมามุ่งสานสัมพันธ์ด้านข่าวกรองกับสหรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ

ในด้านการซื้อขายอาวุธ ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยระหว่างค.ศ. 2011-2015 มีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ซาอุดิอาระเบียนำมาใช้โจมตีเยเมนอย่างหนัก จนถูกวิจารณ์มากจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้สหรัฐยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมและให้คำปรึกษากองกำลังรักษาความมั่นคงของซาอุดิอาระเบียเพื่อทำหน้าที่ปกป้องบ่อน้ำมันในประเทศ

ในด้านธุรกิจยิ่งสะท้อนการผูกมัดกันอย่างมากทางด้านการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราชวงศ์หรือสามัญชนต่างมีความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสหรัฐฯ รัฐมนตรีหลายคนในกระทรวงสำคัญๆอย่าง กระทรวงพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจ การเงิน ต่างจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ เช่น ผู้ว่าการธนาคารกลาง ท่านฟาฮัด อัล มุบาร็อก (Fahad Al Mubarak) ผู้ซึ่งควบคุมเงินสำรองกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เคยดำรงตำแหน่งประธานบริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) สาขาซาอุดิอาระเบีย อีกคนหนึ่งที่สำคัญคือเจ้าชาย อัลวาวีด บิน ฎอลาล (Alwaleed bin Talal) มหาเศรษฐีนักลงทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของราชอาณาจักร ซึ่งมีหุ้นอยู่ในซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) และทวิตเตอร์ (Twitter)

ความสัมพันธ์ของนักธุรกิจมหาเศรษฐีซาอุดิอาระเบียได้นำไปสู่การลงทุนอย่างมหาศาลในบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และการเปิดตลาดหุ้นสำหรับนักลงทุนในปีค.ศ. 2015 ทำให้ธนาคารยุโรปและอเมริกาหลายแห่งเข้ามาขยายกิจการลงทุนในซาอุดิอาระเบียมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐเองเตรียมการสำหรับการเปิดตลาดซาอุดิอาระเบียมาก่อนแล้วหลายปี บริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ และบริษัทหลักทรัพย์เครดิต (Credit Suisse) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็ได้ย้ายพนักงานจำนวนมากจากดูไบไปประจำที่ริยาด นอกจากนี้ ยังมีกองทุนเพื่อการลงทุนของสหรัฐหลายแห่ง เช่น Providence Equity Partners และ Apollo Global Management ที่กำลังพยายามเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ของซาอุดิอาระเบีย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการยึดโยงกันในหลายมิติระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบีย แม้จะมีจุดยืนต่างกันในบางประเด็น แต่เพราะผลประโยชน์ในลักษณะต่างตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ทั้งสองประเทศดำรงรักษาความสัมพันธ์และความเป็นพันธมิตรกันมาได้อย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพของความเป็นมหามิตรที่ยืนยาวระหว่างทั้งสองประเทศ กลับปรากฏความร้าวฉานลึก ๆ อยู่เบื้องหลัง และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากหลายหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในซาอุดิอาระเบีย สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคที่เปลี่ยนไป นโยบายของมหาอำนาจที่เข้ามามีส่วนได้เสียมากขึ้นในลักษณะของสงครามตัวแทนนั้น เป็นต้น

กษัตริย์องค์ใหม่กับ “หลักการซัลมาน” (Salman Doctrine)

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2015 พระเชษฐาต่างพระมารดา เจ้าชายซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด (Price Salman bin Abdul Aziz Al Saud) ได้ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 25 ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ตำแหน่งผู้ว่ากรุงริยาด 48 ปี ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการปิโตรเลียม เป็นต้น เจ้าชายซัลมานหลังขึ้นเป็นกษัตริย์ได้แต่งตั้งลูกชายของพระองค์ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Muhammad bin Salman) ซึ่งมีพระชนม์มายุเพียง 29 ชันษาขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งรองมกุฎราชกุมาร จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติของพระองค์ โดยเฉพาะในเรื่องพระชนม์มายุที่ยังน้อยกับตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคงของซาอุดิอาระเบีย ภายใต้กษัตริย์ซัลมาน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากต่อบทบาทของซาอุดิอาระเบียในภูมิภาคนี้ โดยเน้นการพึงพาตนเอง (self-reliance) โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงที่ ญะมัล คาโชกี (Jamal Khashoggi) นักวิเคราะห์เรียกว่า “หลักการซัลมาน” ซึ่งเน้นการพึงพาตนเองในภูมิภาค กล่าวคือไม่รอการช่วยเหลือจากมหาอำนาจภายนอกอย่างสหรัฐฯ โดยจะเห็นได้ว่าหลังจากเจ้าชายซัลมานขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ไม่ถึง 2 เดือน ก็ได้รวมพันธมิตร 10 ประเทศโจมตีเยเมน และทำทุกวิถีทางเพื่อลดอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในซีเรียเพื่อโค่นล้มระบอบบาชัร อัล อัสซาด (Bashar Al Assad)

คาโชกี วิเคราะห์ว่า “หากซาอุดิอาระเบีย จะต้องปฏิบัติการโดยลำพัง ซาอุดิอาระเบียก็จะต้องทำและแน่นอนว่าซาอุดิอาระเบียต้องการที่จะให้พันธมิตรเก่าแก่ (อย่างสหรัฐ) ร่วมด้วย แต่ก็ไม่อาจที่จะปล่อยชะตากรรมของประเทศให้ขึ้นอยู่กับพันธมิตรเดิมอีกต่อไป ซาอุดิอาระเบียจึงต้องการจะรวมกลุ่มพันธมิตรกับประเทศพี่น้องอาหรับและโลกมุสลิมเป็นทางเลือกแรก และไม่สนใจอีกต่อไปสำหรับการนิ่งเฉยของสหรัฐฯ ภายใต้ความอ่อนแอของประธานาธิบดีที่กำลังจะหมดวาระลงไป”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าซาอุดิอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมานมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงนโยบายต่างประเทศจากนโยบายแบบไม่ปะทะ (non-confrontation foreign policy) มาเป็นนโยบายที่มีความเด็ดขาดและใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างดุดันแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) : นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่งๆ กลางๆ

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11) : ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์ (1)