Skip to main content


 

 

หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่อาจจะมิใช่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นว่ามีโครงสร้างแห่งความรุนแรงแทรกอยู่ด้วยอย่างชัดเจน ความรุนแรงอย่างมีโครงสร้างในที่นี้หมายถึงตัวของปฏิบัติการความรุนแรงเองที่มีระบบ มีการจัดการ การเตรียมการและกำหนดเป้าหมายและการเตือนล่วงหน้าอย่างค่อนข้างชัดเจนและเป็นระบบ รวมทั้งมีชุดของแนวความคิดรองรับอยู่ด้วย

การจะต่อสู้กับความรุนแรงที่มีโครงสร้างอาจจะต้องเข้าใจแบบแผนของความคิดความเชื่อและชุดของเหตุผลรองรับปฏิบัติการเหล่านี้รัฐมิใช่ผู้ผูกขาดโครงสร้างของความรุนแรงในกรณีนี้พลังความรุนแรงจึงมีภาวะสถิต ต่อเนื่อง มีภาวะการเคลื่อนตัว และขยายออกได้อย่างน่ากลัวหากการจัดการของรัฐด้วยความรุนแรงอย่างเดียว

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในรอบ 2 ปี.doc
ดาวน์โหลดเอกสาร .PDF (11.18Mb)

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2547-2548)
ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เสนอต่อ
คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)
1 กุมภาพันธ์ 2549

ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษของแบบแผนการพัฒนาการ เป็นที่ยอมรับกันว่าวิวัฒนาการของปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางห้วงเวลาแห่งการพัฒนาการ ความคลี่คลายขยายตัวของความขัดแย้งและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มีเงื่อนไขและเหตุปัจจัยเสริมต่างๆที่กลายมาเป็นองค์ประกอบเพิ่มขึ้น หรือตัวเร่งปัญหาอีกมากมายหลายชนิด นี่เป็นเหตุที่ทำให้ปัญหายิ่งมีความซับซ้อน หลากหลายและ "สับสน" มากขึ้น การแยกแยะและหาเส้นขีดแบ่งระหว่างสาเหตุหลัก ปัจจัยเสริม และประเด็นแทรกซ้อนซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆที่สุมรุมกันไปและนำมาสู่การปะทุของความรุนแรงที่น่าสะพรึงกลัว ลักษณะความซับซ้อนของปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นในการวิเคราะห์ทางวิชาการ

ความยากลำบากในการแยกแยะชี้ปัญหายิ่งสะท้อนออกให้เห็นในทางนโยบาย ในทางยุทธศาสตร์และยิ่งยากสำหรับนักปฏิบัติที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดทันเวลา ดังนั้น ในการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบสองปีที่ผ่านมาคือปี พ.ศ. 2547 และ 2548 จึงแยกไม่ออกจากการเข้าใจลักษณะของปัญหาและแบบแผนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงและตีความเพื่อความเข้าใจ "ความหมาย" ที่ซ่อนเร้นอยู่ในความรุนแรงที่เกิดขึ้น จุดที่สำคัญของการวิเคราะห์ดังกล่าวก็คือ "ข้อมูล" ในการวิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้นั้นข้อมูลเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ข้อมูลนี้จะต้องมีการแสดงให้เห็นภาพขององค์ประกอบของปัญหาอย่างชัดเจน ในอีกด้านหนึ่งการวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าว ข้อมูลที่ดียังไม่พอ เรายังจะต้องอาศัยความเข้าใจ มีกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีในการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลด้วย

นอกจากฐานข้อมูลและกรอบการวิเคราะห์จะมีความสำคัญ การจะได้การวิเคราะห์ที่สมบูรณ์ วิธีการศึกษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ในที่นี้การวิเคราะห์สถานการณ์ในรอบสองปีของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอาศัยวิธีการเก็บข้อมูลทุติยภูมิซึ่งได้มาจากการเก็บข้อมูลเอกสาร จากรายงานข่าวประจำวันในสื่อมวลชน สถิติและรายงานของทางราชการโดยการตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ในอีกด้านหนึ่ง แหล่งข้อมูลก็ได้มาจากงานภาคสนามซึ่งได้มาจากการออกแบบวิจัยเชิงสำรวจ และสัมภาษณ์เชิงลึกจากประชาชนในพื้นที่ โดยมีการตรวจสอบซ้ำจากผู้เชี่ยวชาญหรือทีมวิจัย ดังนั้น การศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ในที่นี้ โจทย์การวิจัยที่จะต้องหาคำตอบก็คือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแบบแผน ลักษณะพิเศษและแนวโน้มอย่างไรในรอบสองปีที่ผ่านมา (ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548) แบบแผนและลักษณะความรุนแรงดังกล่าวมีโครงสร้างที่สามารถจะเข้าใจได้หรือไม่ ? โครงสร้างความรุนแรงเหล่านี้ชี้ให้เห็นธรรมชาติและลักษณะของความรุนแรงที่เราสามารถจะทำความเข้าใจและคาดการณ์พัฒนาการในอนาคตได้อย่างไร ? เหตุปัจจัยแห่งความรุนแรงมีองค์ประกอบอย่างไร หรืออะไรเป็นสาเหตุสำคัญและสาเหตุแทรกซ้อนที่ทำให้ความรุนแรงขยายตัวไป ? สุดท้ายก็คือข้อมูลเชิงประจักษ์สามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า ใคร บุคคลกลุ่มใดและพลังทางสังคมอะไรที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดเหตุความรุนแรงอย่างมากมายและซับซ้อนในพื้นที่แห่งนี้ ?

ลักษณะพิเศษและแนวโน้มสถานการณ์ในรอบสองปี (พ.ศ. 2547 และ 2548)

วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดเริ่มของแรงเหวี่ยงแห่งความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติใหม่ เกิดคดีบุกเข้าโจมตีปล้นปืนทหารเกือบ 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หลังจากนั้นความรุนแรงหรือที่เรียกว่า "ความไม่สงบ" ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความไม่สงบหรือความรุนแรงแสดงออกมาในรูปของการลอบยิง การโจมตี การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อกวนด้วยวิธีการต่างๆ ความรุนแรงดังกล่าวนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต การหลั่งเลือด ความตายและการบาดเจ็บสูญเสีย รวมทั้งบังเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทั้งทางราชการและส่วนบุคคล

สิ่งที่น่าจะให้ความสนใจก็คือแบบแผนของการเกิดความรุนแรงที่มีลักษณะความเข้มข้น (intensity) อย่างเห็นได้ชัดเจนในปี พ.ศ. 2547 และปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้แล้ว ลักษณะพิเศษความความรุนแรงที่มีลักษณะเข้มข้นดังกล่าว เกิดขึ้นทั้งจากการกระทำของฝ่ายที่มิใช่รัฐและความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ถ้าเริ่มนับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (รวมทั้งสงขลาและสตูลในบางครั้ง) ในรอบ 11 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2536-2546 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 748 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 68 ครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2547 และ 2548 เหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน

กล่าวคือในปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 1,843 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุ 1,703 ครั้ง รวมทั้งสองปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความไม่สงบ 3,546 ครั้ง โดยเฉลี่ยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาปีละ 1,773 ครั้งหรือเดือนละ 147.75 ครั้ง กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547-2548 นี้นับเป็นอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 374 ของเหตุความไม่สงบในรอบ 11 ปีก่อนหน้านั้น

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือระหว่างปี พ.ศ. 2536 ถึง 2548 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมทั้งพื้นที่จังหวัดสงขลาในบางส่วน เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่เรียกว่าความไม่สงบ เช่น การยิง การฆ่า การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อเหตุร้ายด้วยเจตนาทางการเมือง รวมทั้งสิ้น 4,294 ครั้ง ในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2536-2546 รวม 748 ครั้งหรือคิดเป็นเหตุการณ์ร้อยละ 17 ของเหตุการณ์ทั้งหมด

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ,ศ, 2547 และ 2548 มีจำนวนถึง 3,546 ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของเหตุการณ์ที่เกิดทั้งหมดในรอบ 13 ปี นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราควรตั้งข้อสังเกตถึงความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในระดับสูงอย่างโดดเด่น ฉับพลันและรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในรอบ 13 ปีดังกล่าวถ้านับเอาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2548 อันเป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมโจมตีตึก World Trade Center ที่กรุงนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่เรียกว่าอัลกอดิดะห์ เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปีดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2548 เกิดขึ้นถึง 3,828 ครั้งหรือร้อยละ 89 ของเหตุการณ์ในรอบ 13 ปี นัยสำคัญของการพิจารณาแบ่งช่วงเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก

กล่าวในอีกแง่หนึ่งสถานการณ์สากล ปัญหาอุดมการณ์ทางศาสนาอาจจะมีผลกระทบตามมาอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลมีการยุบเลิกหน่วยงานประสานนโยบายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจัยทั้งสองอาจจะมีผลต่อความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยมีเหตุปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเสริมเช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ความยากจนด้อยโอกาส และปัญหาการศึกษา รวมทั้งปัจจัยอื่นๆเช่นปัญหายาเสพติด เศรษฐกิจนอกระบบและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เป็นต้น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระแสความรุนแรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาวิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกำหนดตัวแบบทางนโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

เป้าหมายและเหยื่อของความรุนแรง

ความหมายของความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็คือการตายและบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีคนตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสองปีระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้ตาย 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือจำนวนคนตายจากเหตุการณ์ทั้งสองปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังการนับถือศาสนา คนไทยมุสลิมกลับเป็นผู้เสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ

กล่าวคือคนมุสลิมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 จำนวน 607 คนหรือเป็นจำนวนร้อยละ 51.7 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนคนพุทธเสียชีวิตจำนวน 538 คนหรือเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบสองปี (จำนวนที่เหลือไม่สามารถระบุได้) ในส่วนของผู้บาดเจ็บนั้น คนไทยพุทธมีจำนวนมากกว่า กล่าวคือคนพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,085 คน หรือร้อยละ 61.5 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดส่วนคนมุสลิมได้รับบาดเจ็บจำนวน 498 ตนหรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 การที่คนมุสลิมเสียชีวิตค่อนข้างมากกว่าคนพุทธมีความหมายที่น่าพิจารณาก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมีเป้าหมายที่รวมทั้งคนไทยพุทธ และไทยมุสลิม แต่เมือสถานการณ์เปลี่ยนไปคนมุสลิมกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงค่อนข้างมากกว่า คนพุทธก็เป็นเหยื่อความรุนแรงเช่นเดียวกันแต่จะได้รับบาดเจ็บมากกว่า

จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่แสดงในที่นี้รวมถึงเหตุการณ์ในกรณีวันที่ 28 เมษายน 2547 และกรณีตากใบในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ปัญหาที่ว่าทำไมคนมุสลิมมากกว่านั้น จะได้วิเคราะห์ในตอนต่อไป

นอกจากคนมุสลิมจะมากกว่าแล้ว ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังด้านอาชีพของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต คนที่กลายเป็นเหยื่อหรือเป้าหมายของการก่อความรุนแรงส่วนมากที่สุดจะเป็นประชาชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำหรือผู้ประกอบอาชีพที่มิใช่ข้าราชการ จำนวน 471 คนในปี พ.ศ. 2547 และจำนวน 564 คนในปี พ.ศ. 2548 รองลงมาคือกลุ่มตำรวจจำนวน 247 คนไนปี 2547 และ 154 คนในปี 2548 กลุ่มที่ถูกกระทำเป็นกลุ่มที่สามคือทหาร การที่เป้าหมายสำคัญของผู้ที่ถูกกระทำที่กลายเป็นประชาชนทั่วไปแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นทหารหรือตำรวจ แสดงว่าการก่อเหตุความรุนแรงมีเป้าที่มิใช่อำนาจรัฐโดยตรง ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนในวงกว้าง

ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากการก่อการร้ายโดยทั่วไปที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่เป้าหมายการโจมตีมักจะเป็นกลไกของรัฐ ความหมายในทางการเมืองของความรุนแรงจึงน่าจะกว้างและลึกกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่ยุคของการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นี่เป็นเหตุที่ทำให้เราต้องให้ความสนใจสนใจต่อสิ่งที่เป็นเป้าหมายและคุณค่าทางการเมืองของการก่อความรุนแรงครั้งนี้ว่าจะต้องมีแรงขับดันอย่างอย่างเป็นระบบ รุนแรงและชัดเจนยิ่งกว่าการต่อสู้ในอดีต

นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตด้วยว่าเหยื่อของความรุนแรงที่เป็นประชาชนทั่วไปในปี พ.ศ. 2548 ยังมีจำนวนสูงขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2547 อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงในปี พ.ศ. 2548 ได้มีแนวโน้มขยายเป้าหมายไปสู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้นด้วย

ประเภทและแนวโน้มความรุนแรงในรอบ 24 เดือน

เมื่อมองโดยภาพรวม สิ่งที่น่าสนใจก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองปีนี้มีแนวโน้มของความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร การกระจายตัวไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นอย่างไร และมีลักษณะยุทธวิธีการใช้ความรุนแรงอย่างไร ประเภทความรุนแรงที่ใช้มากที่สุดก็คือการยิงซึ่งในรอบสองปีมี 1486 ครั้งหรือร้อยละ 42 ของเหตุการณ์ทั้งหมด ตามมาด้วยการวางเพลิงมีจำนวน 736 ครั้งหรือร้อยละ 20 การวางระเบิดและขว้างระเบิด 510 ครั้งหรือร้อยละ 14

นอกจากนี้ยังมีการก่อกวนและสร้างสถานการณ์อีก 331 ครั้งหรือร้อยละ 9 การก่อกวนนี้หมายถึงการวางตะปูเรือใบตามถนนและการทำลายข้าวของ เช่นพ่นสีตามป้ายสาธารณะหรือทุบทำลายเสาหลักกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีวิธีการฆ่าสร้างความสยองขวัญโดยวิธีฆ่าตัดคอ จำนวน 16 ครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาแต่ก็สร้างข่าวคึกโครมและสร้างผลสะเทือนต่อจิตใจผู้คนมากแม้จะมีเพียงไม่กี่ครั้ง

เมื่อแยกรายจังหวัดและยุทธวิธีการก่อเหตุรุนแรง นราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีความรุนแรงสูงสุด มีเหตุการณ์การยิง 635 ครั้ง วาง เพลิง 305 ครั้ง และวางระเบิด 266 ครั้ง ตามมาด้วยปัตตานีมีการยิง 498 ครั้ง การวางเพลิง 243 ครั้ง และวางระเบิด 44 ครั้ง และยะลาเป็นจังหวัดที่มีการยิง 326 ครั้ง การวางเพลิง 183 ครั้งและวางระเบิด 129 ครั้ง น่าสนใจว่าจังหวัดยะลามีการวางระเบิดเกิดขึ้นมากกว่าปัตตานีในระยะหลังโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2548

เมื่อดูเหตุการณ์ในภาพรวมและแยกเป็นรายเดือนในวงรอบ 24 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึง ธันวาคม 2548 การยิงเป็นยุทธวิธีการก่อเหตุที่มากที่สุดในทุกเดือนในรอบสองปี การฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นก็คือการยิง ซึ่งยุทธวิธีหลักก็คือขี่รถมอเตอร์ใซด์มีมือสังหารซ้อนท้ายและปฏิบัติการล่าเหยื่อ การวางเพลิงเป็นยุทธวิธีที่ใช้มากเป็นอันดับสองแทบจะทุกเดือน

แต่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่มิถุนายน พ.ศ. 2548 มีเหตุการณ์การวางระเบิดเกิดขึ้นสูงอันดับสอง จุดเด่นที่เกิดขึ้นก็คือที่จังหวัดยะลา การวางระเบิดทำให้มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น ถึงแม้ว่าผลการวางระเบิดนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มากนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการก่อเหตุวางระเบิดยังไม่ถึงกับใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่หวังผลการทำลายที่รุนแรงสูงสุดเช่นการระเบิดพลีชีพ หรือเป้าหมายในพื้นที่สาธารณะ เป้าหมายที่สำคัญของการก่อเหตุระเบิดจึงน่าจะอยู่ที่เป็นอีกยุทธวิธีหนึ่งในการโจมตีเป้าหมายเฉพาะ สร้างความหวาดกลัวและตาดหวังผลทางการเมืองมากกว่า

เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกในแง่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการก่อเหตุเป็นรายอำเภอ ในจังหวัดปัตตานีพื้นที่เกิดเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรกก็คืออำเภอเมืองปัตตานี อำเภอยะรังและอำเภอหนองจิก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ในเขตเมืองปัตตานีในรอบปี พ.ศ. 2548 กลับลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบจากปี 2547 เหตุการณ์ที่อำเภอยะรังและหนองจิกก็ลดลงเมื่อเทียบระหว่างปี 2547 กับปี 2548 เช่นกัน แต่ระดับความรุนแรงของทั้งสองอำเภอก็ยังคงมากอยู่เช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกันพื้นที่เกิดเหตุในระดับสูงขึ้นมากในปี 2548 คืออำเภอยะหริ่งและมายอ ส่วนที่จังหวัดยะลาอำเภอที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงสูงสุด 3 ลำดับแรกคืออำเภอเมืองยะลา อำเภอรามันและอำเภอบันนังสตา โดยทั้งสามพื้นที่ดังกล่าวมีเหตุการณ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบสถิติปี พ.ศ. 2547 กับปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองยะลา และอำเภอรามัน ที่อำเภอรามันเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 133 ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสพื้นที่ที่มีเหตุการณ์มากที่สุด 3 ลำดับแรกคืออำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดีและอำเภอรือเสาะ เหตุการณ์ที่อำเภอระแงะมีจำนวนลดลงกว่าเดิมเมื่อดูสถิติในปี 2548 แต่ที่อำเภอรือเสาะกับอำเภอสุไหงปาดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นในปี 2548 โดยเฉพาะที่อำเภอสุไหงปาดีซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นมากกว่าปี พ.ศ. 2547 ถึงร้อยละ 131

กล่าวโดยสรุป เมื่อดูภาพรวมทุกอำเภอในทั้งสามจังหวัด พื้นที่ 5 ลำดับแรกที่มีความถี่ของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นสูงสุดในรอบสองปี ปรากฏว่าอำเภอเมืองยะลากลายเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากที่สุด (305 ครั้ง) รองลงมาคืออำเภอรามันจังหวัดยะลา (240 ครั้ง) อำเภอระแงะ (230 ครั้ง) และ อำเภอสุไหงปาดีจังหวัดนราธิวาส (222 ครั้ง) อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี (198 ครั้ง) ลักษณะเด่นของเหตุการณ์สะท้อนลักษณะของสังคม มีจุดเน้นต่างกันตามเงื่อนไขสังคม เหตุความรุนแรงในจังหวัดยะลาและปัตตานี เกิดขึ้นหนักในพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองและกึ่งเมือง ส่วนเหตุการณ์ในนราธิวาสเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในพื้นที่ชนบทมากกว่าเขตเมือง

ผลพวงของความรุนแรงและปฏิกิริยาตอบโต้

การที่เหตุการณ์เคลื่อนตัวไปตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในลักษณะที่ต่างกันภายในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาอาจจะแสดงให้เห็นอิทธิพลของตัวแปรสองกลุ่มคือ ลักษณะโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ องค์ประกอบในด้านเครือข่ายการเคลื่อนไหว ทิศทางการเคลื่อนไหวและจุดเน้นของผู้ก่อเหตุความรุนแรง พื้นที่ที่มีระดับของการเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการมากอาจเป็นจุดที่มีลักษณะพิเศษของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจและโครงสร้างของการปฏิบัติการหรือฐานการสนับสนุนรองรับอยู่มากกว่าหรือเข้มแข็งกว่าที่อื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งตัวแปรด้านนโยบายและมาตรการของรัฐในการปราบปรามและจัดการกับวิกฤติก็อาจจะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดผันแปรของพื้นที่และระดับความรุนแรงในรอบสองปีที่ผ่านมาด้วย เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของตัวแปรทั้งเชิงโครงสร้าง และพลังสองฝ่าย (อำนาจรัฐและฝ่ายต่อต้าน) ที่ก่อปฏิกิริยาตอบโต้กัน

ตัวอย่างเช่นการปรับยุทธวิธีการปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายรัฐ มาตรการทางการทหาร การไล่ล่าจับกุม รวมทั้งมาตรการการเมือง การเยียวยาผู้เสียหาย งานมวลชนในพื้นที่และการใช้นโยบายสมานฉันท์ในบางสถานการณ์อาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเปลี่ยนรูปแบบไป มีการขยับเคลื่อนพื้นที่ของการก่อเหตุความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงระดับความรุนแรงในต่างพื้นที่ ดังนั้น สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายในระดับท้องถิ่นจึงเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างมากในการเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่น่าจะต้องให้ความสนใจอย่างมากก็คือนอกจากปฏิบัติการที่รุนแรงของฝ่ายต่อต้าน มาตรการตอบโต้ของฝ่ายรัฐก็น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นกัน มาตรการนี้แสดงออกในสองลักษณะ ด้านหนึ่ง การใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามและกำจัดฝ่ายตรงข้ามอาจจะยับยั้งปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่เฉพาะได้บางระดับและชั่วคราว แต่ถ้ากระทำเกินเหตุ ไม่มีเหตุผล ผิดพลาดหรือไม่มีความชอบธรรมจะทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนสูงและมีผลทำให้การขยายตัวของความรุนแรงลุกลามบานปลายออกไป เนื่องจากปฏิบัติการของรัฐไปกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ และมีผลทางจิตใจต่อประชาชนซึ่งมีพื้นฐานความไม่พอใจต่อรัฐไทยอยู่แล้ว โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวจะสูงมากทุกๆครั้งที่รัฐก่อความรุนแรงและมีผลลบทวีคูณอยู่ตลอดเวลา

อีกด้านหนึ่งมาตรการเชิงนโยบาย มาตรการทางการเมืองเช่นโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ การปรับโครงสร้าง นโยบายสมานฉันท์ การเยียวยาความเจ็บปวด การทำงานมวลชนของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ มีผลในทางบวกที่ทำให้ความรุนแรงและผู้ก่อเหตุความรุนแรงกลายเป็นผู้ไร้อำนาจในการปฏิบัติการและหมดอิทธิพล (neutralized capacity) ผลที่ตามมาในระยะยาว การแก้ปัญหาในทางการเมืองก็จะทำได้ง่ายกว่า และการใช้ความรุนแรงก็จะลดระดับลงได้

แบบแผนที่น่าสนใจก็คือเมื่อเทียบระดับของความรุนแรงในรอบสองปี มีร่องรอยบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงของทั้งปี พ.ศ. 2547 และ 2548 เมื่อเทียบเป็นรายเดือนมีลักษณะและระดับใกล้เคียงกันในช่วงครึ่งปีแรก จากนั้นระดับความรุนแรงในปี 2548 ลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการบางอย่างของรัฐบาลที่หันมาทางสันติวิธีและใช้การเมืองนำการทหาร เกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการและการวางกำลังในพื้นที่ ระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงกลางปีจนถึงเดือนมิถุนายนจากนั้นก็ลดลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และก็เริ่มขยับขึ้นอีกครั้งหลังเดือนกันยายนจนถึงเดือนพฤศจิกายนก็พุ่งสูงอีกครั้ง

ส่วนในตอนปลายปีเดือนธันวาคมความรุนแรงก็ลดต่ำลงอย่างมากเพราะเป็นช่วงฝนตกหนักและน้ำท่วม เหตุการณ์ดูเหมือนว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นๆลงๆเป็นคลื่น แต่เมื่อดูภาพแนวโน้ม (trend) การเคลื่อนตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงแบบอนุกรมเวลาในรอบ 24 เดือนตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงธันวาคม 2548 สิ่งที่เห็นชัดด้วยสายตาก็คือแนวโน้มที่เพิ่มระดับความรุนแรงนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2548 หลังจากที่พุ่งขึ้นสูงสุด ในช่วงต้นปี 2547 จากนั้นก็เริ่มตกลงอีกครั้งในช่วงปลายปี พ.ศ.2548

เมื่อดูที่สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เราจะเห็นการกระจายตัวและความหนาแน่นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองปีของ พ.ศ. 2547 และ 2548 ภาพจากระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์หรือ GIS แสดงให้เห็นว่าจุดของการเกิดเหตุในรอบสองปีมีลักษณะการกระจายไปหลายพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และบานปลายไปถึงบางส่วนของจังหวัดสงขลาคืออำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอนาหม่อมและเมืองสงขลา

ปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงกระจายในวงกว้างและครอบคลุมทุกพื้นที่เพราะการใช้ยุทธวิธีลอบยิงของผู้ก่อเหตุซึ่งสูงมากถึง 1,300-1,400 ครั้งในรอบสองปีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

เมื่อดูลักษณะเฉพาะของการกระจายตัวของเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละจังหวัด แบบแผนการเกิดความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ก็แสดงให้เห็นความแตกต่างกันบางอย่างซึ่งสะท้อนลักษณะโครงสร้างทางสังคมและอาจจะสะท้อนลักษณะการจัดตั้งของโครงสร้างเครือข่ายการปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากในภาพ แบบแผนการก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดปัตตานีในรอบสองปี กระจายตัวออกในพื้นที่วงกว้าง หรืออาจจะทุกพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี แม้ว่าในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีจะมีเหตุเกิดสูงโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2547 แต่ก็เกิดโดยรอบนอกพื้นที่เขตเทศบาล นอกจากนั้นจะกระจายไปทั่วทั้งเขตจังหวัดมีจุดเน้นที่อำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก อำเภอสายบุรีและอำเภอยะหริ่ง อาจจะสรุปได้ว่าความรุนแรงมีแบบแผนกระจายรอบนอกเขตเทศบาลปัตตานีลักษณะคล้ายวงแหวนรอบเขตชุมชนเมืองที่เป็นศูนย์กลางหรืออาจจะเรียกว่าวงแหวนปัตตานีก็ได้

ส่วนที่ยะลาจากภาพจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในเขตใจกลางเมืองยะลาส่วนมากและยังมีจุดเข้มข้นอีกจุดที่อำเภอรามันซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองยะลาไปทางทิศตะวันออก จากนั้นจุดการเกิดเหตุก็กระจายไปตามเส้นทางเป็นแนวยาวไปทางใต้ผ่านอำเภอกรงปินัง อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโตและบางส่วนที่อำเภอเบตง แบบแผนการกระจายจุดเกิดเหตุในพื้นที่คล้ายรูปกริชมีด้ามและฐานอยู่ที่เมืองยะลาและอำเภอรามัน หันปลายแหลมไปทางอำเภอเบตง

แบบแผนลักษณะการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดนราธิวาสมีลักษณะพิเศษที่อาศัยพื้นที่ที่มิใช่เขตเมืองเป็นจุดศูนย์กลางแต่มีจุดเกิดเหตุทีสำคัญอยู่ที่สามพื้นที่คืออำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดีและอำเภอรีอเสาะ โค้งไปตามแนวเทือกเขาเหมือนแนวพระจันทร์เสี้ยว

ใครเป็นคนทำ: การแยกประเภทสถานการณ์

จากแบบแผนของความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ต่างๆทำให้เกิดคำถามที่ตามมาว่าเราสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า ใคร ? บุคคลกลุ่มใดและพลังทางสังคมอะไร ? ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดเหตุความรุนแรงอย่างมากมายและซับซ้อนในพื้นที่แห่งนี้ ประเด็นการวิเคราะห์ที่จะต้องทำก็คือแยกประเภท สาเหตุและแรงจูงใจในเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น การแยกสาเหตุของความรุนแรงในที่นี้จะต้องอาศัยการแยกแยะด้วยวิธีการเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือพอสมควร อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดในภาคใต้ว่าเกิดจากหลายสาเหตุจนไม่อาจจะเหมารวมว่าเป็นเรื่องของการกระทำโดยขบวนการผู้ก่อความไม่สงบทั้งหมดได้ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าการดำเนินนโยบายของรัฐเองในการกำจัดหรือยับยั้งฝ่ายตรงข้าม บวกกับความผิดพลาดในการปฏิบัติการที่ไม่อาศัยวิธีทางกฎหมายก็เป็นผลทำให้เกิดการก่อความรุนแรงหรือการเก็บอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอาจจะผิดตัวหรือถูกตัวก็ได้ ปัจจัยดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเร่งความรุนแรงในพื้นที่

ในที่นี้การวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุร้ายในแต่ละครั้งเป็นเรื่องยากเพราะประชาชนทั่วไปมักจะไม่รู้ข้อมูลด้านลึก หรือไม่กล้าเผยความจริงแม้จะรู้เรื่องดังกล่าวก็ตาม วิธีการเก็บข้อมูลจึงใช้ผสมการวิจัยเชิงคุณภาพกับเชิงปริมาณ กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะศึกษาก็คือเหตุการณ์รุนแรงที่ปรากฏในฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ความรุนแรงทั้งหมดที่ผู้วิจัยใช้ในการศึกษาครั้งนี้ดังที่นำเสนอไปแล้ว

ฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลที่ได้มาจากการประมวลผลรายงานข่าวเหตุการณ์จากหนังสือพิมพ์รายวันในรอบ 2 ปีคือ พ.ศ. 2547 และ 2548 ข้อมูลถูกบันทึกในโปรแกรมปฏิบัติการฐานข้อมูลที่ระบุรายละเอียดเหตุการณ์ บุคคล สถานที่ ลักษณะรายละเอียดเรื่องราวที่เกิดในแต่ละกรณี มีรายงานความเสียหายทางวัตถุ การเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งข้อสมมุติฐานของสาเหตุการเกิดเหตุตามรายงานของสื่อมวลชน ข้อมูลทุกกรณีที่เก็บจะมีรหัสของเหตุการณ์กำกับไว้เพื่อเรียกค้นและประมวลผล ฐานข้อมูลชุดนี้จะถูกตรวจสอบซ้ำอีกครั้งกับรายงานในฐานข้อมูลของทางราชการโดยเทียบกับฐานข้อมูลของตำรวจซึ่งเปิดเผยสู่สาธารณะโดยกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 9 ใน WEBSITE ของตำรวจและตรวจกับฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)

ข้อมูลที่ถูกเลือกนำมาใช้วิเคราะห์แยกประเภทของเหตุการณ์ในส่วนนี้ตัดเลือกมาจากชุดของเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 24-547 และ 2548 ที่มีการโจมตีและทำร้ายบุคคลจนเป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตเท่านั้น ไม่รวมการกระทำต่อสถานที่เช่นวางเพลิงและการก่อกวนอื่นๆ

หลังจากได้คัดเลือกข้อมูลกรณีของเหตุการณ์ที่จะศึกษาแล้ว ผู้วิจัยตั้งกรอบความคิดและโจทย์ของการเก็บข้อมูลว่าต้องการจะแยกประเภทเหตุการณ์ได้เป็นสามกรณีคือ

1) การกระทำของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อการร้าย ขบวนการแยกดินแดน หรือ "พวกนั้น" ตามการเรียกของชาวบ้าน

2) การเกิดเหตุการณ์เพราะเรื่องส่วนตัว ชู้สาว ขัดผลประโยชน์ แก้แค้นส่วนตัว อาชญากรรมและเรื่องส่วนตัวต่างๆ และ

3) กรณีที่ระบุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เพื่อเก็บฝ่ายตรงข้ามหรือภาระกิจการต่อต้านการก่อการร้าย

องค์ประกอบของการวิเคราะห์หลักฐานที่ใช้จะอาศัยแนวคิดเรื่องหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยพยานหลักฐาน มาตราที่ 226 ซึ่งระบุว่าพยานหลักฐานตามกฎหมายประกอบด้วยพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ในที่นี้ทีมการวิจัยพยายามจะหาสิ่งที่เทียบเคียงได้กับหลักฐานตามคำนิยามนี้ซึ่งก็คือประจักษ์พยาน พยานบุคคลรวมทั้งพยานแวดล้อมที่ชี้ให้เห็นว่าใครเป็นผู้กระทำความรุนแรง แม้ว่าหลักฐานที่ค้นหานี้จะไม่ถือว่าสมบูรณ์ในแง่กฎหมายหรือในรูปแบบวิธีการวิจัยแบบปกติแต่ก็เชื่อว่าบนฐานความคิดและหลักฐานชุดนี้อาจจะทำให้เราได้ข้อมูลบางอย่างมาประกอบการวิเคราะห์ต่อไป

คำว่าหลักฐานดังกล่าวจะเน้นที่ตัวบุคคลโดยแยกความใกล้ชิดตั้งแต่ใกล้ชิดผู้เป็นเหยื่อมากที่สุดคือครอบครัวหรือคนในบ้าน ไปจนถึงเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกัน รวมทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นด้วยในบางกรณี โดยการวิจัยจะพยายามหาข้อมูลจากแหล่งเหล่านี้ให้ได้เท่าที่จะทำได้ 1 แหล่งมาประกอบการวิเคราะห์

กระบวนการหาข้อมูลหรือเก็บข้อมูลจะใช้วิธีสองสามชั้น บนฐานของวิธีวิทยาการวิจัยที่มองว่าเนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่เป็นเรื่องอันตราย เป็นความลับและอ่อนไหวมากในสถานการณ์ ความเป็นจริงก็ซับซ้อนตามไปด้วย การวิจัยจึงใช้นักเก็บข้อมูลภาคสนามที่เป็น "คนใน" ต่อเข้าไปยังแหล่งข้อมูล (key informants) อีกทอดหนึ่งโดยที่ทั้งผู้วิจัย นักเก็บข้อมูลและแหล่งข้อมูลจะเป็นความลับและตัดตอนระหว่างกันเพื่อมิให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงความปลอดภัย นักเก็บข้อมูลจะเป็นข้อต่อที่สำคัญที่อาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ต่อเข้าไปถึงตัวผู้ให้ข้อมูล แต่การดำเนินการจะต้องบันทึกแบบฟอร์มในลักษณะแบบสอบถามทั้งปลายปิดและเปิด ซึ่งระบุกรณีเหตุการณ์ในชุมชนนั้นๆโดยระเอียด แล้วถามตามประเด็นแยกประเภท เหตุการณ์ใครเป็นผู้ทำ ด้วยเหตุผลอะไรและมีคำอธิบายเป็นหลักฐานประกอบในแบบฟอร์มนี้

นอกจากนี้แบบสอบถามจะให้ผู้ให้ข้อมูลระบุความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้เป็นเหยื่อเหตุการณ์ และระบุภูมิหลังอาชีพว่ามีความเกี่ยวข้องกับทางราชการหรือไม่เพื่อให้เป็นการป้องกันแหล่งข้อมูลที่มีอคติ การให้ข้อมูลในส่วนนี้จึงอิงพื้นฐานตามกฎหมายจำแนกออกเป็นประจักษ์พยาน และพยานแวดล้อม ในการหาข้อมูลเพื่อยืนยันหรือแยกแยะเหตุการณ์ในครั้งนี้ หลักฐานจากพยานแวดล้อมตามแหล่งตั้งแต่ใกล้ที่สุดออกไปในแนวระนาบข้าง ซึ่งได้แก่คนในครอบครัวหรือเครือญาติใกล้ชิดของผู้เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ เพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกัน ผู้นำท้องถิ่นที่รู้เรื่องภายในดี เช่นอิหม่าม กำนันผู้ใหญ่บ้าน ข้อมูลจากชุมชนใกล้เคียงและข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้อง หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วซึ่งจะบันทึกเป็นหลักฐาน ลงรหัสฐานข้อมูล นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยกันพิจารณาความน่าเชื่อถือในศาสตร์การวิจัย (reliability) และความมีเหตุผลน่ายอมรับได้ในทางการเมือง (plausibility) ของข้อมูลที่นำไปสู่ข้อสรุปเบื้องต้นในเรื่องแรงจูงใจหรือสาเหตุของความรุนแรงแต่ละกรณีที่ทำการศึกษา ผลการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งนี้เป็นรายงานมาจากข้อมูลที่ได้รับกลับมาจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล (key informants) ผ่านการวิเคราะห์สรุปขั้นต้นแล้ว เพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม ผ่านการบรรณาธิกรและการซ่อมแก้ไขข้อมูลแล้วเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น

แบบสอบถามทั้งหมดที่ส่งไปยังแหล่งข้อมูลในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 1630 ชุด หลังจากตรวจสอบแก้ไขและทำซ้ำจนข้อมูลมีหลักฐานและเหตุผลน่าเชื่อถือ ข้อมูลที่ใช้ได้มีจำนวน 1435 ชุด ส่วนอีก 195 ชุดเป็นข้อมูลที่เสียหรือ missings ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นดังนี้

ผลการศึกษาเราพบว่าจากจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงต่อบุคคลทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งหมด 1,435 เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 ข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ 1,221 กรณีหรือร้อยละ 85 ของเหตุการณ์ที่ศึกษาทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเกิดจากเรื่องส่วนตัว อาชญากรรมและยาเสพติด 175 กรณี หรือร้อยละ 12 ข้อมูลที่น่าสนใจพิจารณาก็คือ มีกรณีที่ระบุว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อแกนนำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่ 39 กรณีหรือร้อยละ 3 ของเหตุการณ์ทั้งหมด

เมื่อแยกความชุดของเหตุการณ์ในแต่ละจังหวัด ยะลามีเหตุการณ์ที่ผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าเกิดจากผู้ก่อความไม่สงบมากที่สุด (331 กรณี หรือร้อยละ 92 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) รองลงมาคือนราธิวาส (519 กรณีหรือร้อยละ 83 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) และปัตตานี (371 กรณีหรือร้อยละ 81 ของเหตุการณ์ในจังหวัด)

ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ที่มีสัดส่วนการรายงานเรื่องการเกิดเหตุร้ายเพราะเรื่องส่วนตัวมากที่สุดคือจังหวัดปัตตานี (72 กรณี หรือร้อยละ 16 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) รองลงมาคือนราธิวาส (78 กรณี ร้อยละ 13 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) และยะลา (25 กรณีหรือร้อยละ 7 ของเหตุการณ์ในจังหวัด)

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือการก่อเหตุความไม่สงบที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในจังหวัดนราธิวาสมีรายงานดังกล่าวจำนวนมากที่สุด (24 กรณี หรือร้อยละ 4 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) รองลงมาคือจังหวัดปัตตานี (13 กรณีหรือร้อยละ 3 ของเหตุการณ์ในจังหวัด) และยะลา (2 กรณีหรือร้อยละ 1 ของเหตุการณ์ในจังหวัด)ข้อมูลในส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก มีความเป็นไปได้มากที่เป็นเป็นรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง (underreported) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบซ้ำอีกรอบหนึ่งเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ปฏิบัติการแห่งความรุนแรง: ความรุนแรงอย่างมีโครงสร้าง

การใช้ความรุนแรงจากข้อมูลเชิงคุณภาพในระดับชุมชนที่ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นร่องรอยของการเคลื่อนตัวของความรุนแรงในระดับจุลภาคที่ส่งผลให้เกิดการปะทุขึ้นมาของรูปธรรมแห่งความรุนแรงที่สังเกตเห็นได้ในภาพระดับมหภาคดังที่แสดงข้อมูลไปในตอนต้น สิ่งเหล่านี้ก็คือปฏิบัติการอย่างมีระบบและแบบแผนของทั้งฝ่ายผู้ก่อการต่อต้านรัฐและฝ่ายรัฐ ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทั้งความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรง) และเป็นความรุนแรงอย่างมีโครงสร้าง (กล่าวคือตัวของปฏิบัติการความรุนแรงก็มีระบบ การจัดการ การเตรียมการและกำหนดเป้าหมายและการเตือนล่วงหน้าอย่างค่อนข้างชัดเจนและเป็นระบบ) มีลักษณะที่อธิบายได้ดังต่อไปนี้

1.การลอบสังหาร

เป้าหมายในการลอบสังหาร จำแนกได้ดังนี้

- เจ้าหน้าทีรัฐในหมู่บ้าน ประกอบด้วย อส. ครู ตำรวจชุมชน ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร(ลูกจ้างกอ.สสส.จชต.) แพทย์ประจำตำบล ข้าราชการบำนาญ (อดีตตำรวจ ทหาร ทหารพราน) เป้าหมายเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นเป้าสังหารเป็นระยะๆ ตามห้วงเวลาที่ฝ่ายผู้ก่อการกำหนด เช่น บางห้วงเวลากำหนดให้กระทำต่อ อส. ต่อมาเป็นตำรวจชุมชนและครูเป็นต้น

- สายลับในหมู่บ้าน แบ่งเป็นแหล่งข่าวภายในหมู่บ้านซึ่งเป็นสายข่าวของตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง จากรายงานพบว่าแหล่งข่าวบางคนเป็นสายลับให้ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในคราวเดียวกัน ทำให้เสียลับต่อกลุ่มผู้ก่อการได้อย่างง่ายดาย แหล่งข่าวจากภายนอกหมู่บ้านที่อำพรางตัวเข้าปฏิบัติการหาข่าวในหมู่บ้านโดยกระทำทั้งในลักษณะที่ไปฝังตัวในพื้นที่เป้าหมาย หรืออาศัยรูปแบบต่างๆ อำพรางตัวเองเข้าไปหาข่าวเป็นระยะๆ อาทิ เป็นเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์ คนขายหนังสือพิมพ์ ขายลูกชิ้น พ่อค้าขายของเร่ คนรับจ้างทั่วไปเป็นต้น

- กลุ่มต่อต้านภายในหมู่บ้าน กลุ่มนี้ประกอบด้วย อิหม่าม อุสตาซ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไปที่เคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบในหมู่บ้าน โดยมีรูปแบบการเคลื่อนไหวคือ การดุตะบะฮ การดาวะฮ การจัดรายการวิจารณ์ผ่านวิทยุท้องถิ่น การวิจารณ์ตามสถานที่ต่างๆซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจกระทำการด้วยความบริสุทธิ์ใจของตนเองหรืออาจมีความร่วมมือกับรัฐ

- ผู้กลับใจ มีหลายกรณีที่เคยเป็นผู้ร่วมในกลุ่มก่อความไม่สงบ ต่อมาได้ถอนตัวและเข้าร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ

- ผู้บริสุทธิ์ คนส่วนนี้มักจะเป็นผู้มีอายุมาก ส่วนใหญ่เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ ตกเป็นเป้าหมายของสมาชิกใหม่ของหน่วยจัดตั้งเพื่อทำการทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติการจริง และมีเป้าหมายทางการเมืองในลักษณะเชิงซ้อนในคราวเดียวกันเพื่อสร้างความหวาดกลัวและกดดันคนไทยพุทธให้ออกนอกพื้นที แต่เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นการสร้างนักรบรุ่นใหม่

แบบแผนและขั้นตอนในการลอบสังหาร รายงานข้อมูลทำให้พบแบบแผนที่สำคัญคือ การเตือนเป้าหมายก่อนทำการสังหาร โดยมีขั้นตอนดังนี้

- การเตือนทั่วไป จำแนกได้เป็น

การเตือนเป้าหมายโดยตรง มีรูปแบบคือ ส่งคนไปเตือนเป้าหมายโดยตรงถึงบ้าน การเรียกเป้าหมายมาตักเตือน และการโทรศัพท์เตือน การเตือนในรูปแบบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการเตือนให้ยุติพฤติกรรมการเป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่รัฐ

การเตือนโดยทางอ้อม มีรูปแบบคือ กระทำโดยจดหมาย ข่าวลือ และใบปลิว การเตือนในรูปแบบนี้ เป็นการเตือนโดยรวม อาทิ เตือนให้อยู่ห่างจากเจ้าหน้าที่รัฐและสถานที่ราชการที่ตกเป็นเป้าหมาย เตือนให้ออกนอกพื้นที่ เตือนให้ยุติการทำงานให้รัฐ เป็นต้น ที่น่าสังเกต คือ หลังจากมีการเตือนในขั้นตอนสุดท้ายแล้วจะมีการสังหารเป้าหมายในทุกกรณีและภายหลังการสังหารกลุ่มผู้ก่อการจะทิ้งใบปลิวหลังสังหารเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุที่ต้องสังหาร และห้ามผู้รู้เห็นแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

การเตือนครั้งสุดท้าย ในระยะแรกของการก่อเหตุความรุนแรงการเตือนครั้งสุดท้ายกระทำโดยจดหมาย ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นการใช้สัญลักษณ์แห่งความตายและงานศพแทน เช่น การใช้ไข่เน่า ข้าวสารและผ้าขาว ข้าวสารและไข่ ไข่และผ้าขาว ส่งไปยังเป้าหมายหรือญาติของเป้าหมาย โดยจำแนกพื้นที่การใช้สัญลักษณ์ได้ดังนี้

ภายหลังเป้าหมายได้รับการเตือนครั้งสุดท้ายดังกล่าว ก็จะถูกสังหารในเวลาต่อมา และเป็นที่ประจักษ์ว่า คนในชุมชนทั้งหมด เป้าหมายและครอบครัวของเป้าหมายรับรู้สถานการณ์และขั้นตอนแห่งการเตือนที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ไม่อาจป้องกันการลอบสังหารได้ แม้จะถูกเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็ตามและ ส่วนใหญ่จะมีผู้เห็นเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการเพื่อกุมสภาพการเคลื่อนไหวของเป้าหมายและที่พักอาศัยของเป้าหมายก่อนลงมือสังหารแต่ก็ไม่อาจป้องกันได้

ภายหลังลงมือสังหาร ผู้เห็นเหตุการณ์เกือบทุกกรณีสามารถระบุพื้นที่ที่มาของผู้ลงมือได้ อาทิ เป็นพื้นที่เดียวกับที่เป้าหมายอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับพื้นที่ที่เป้าหมายอาศัยอยู่ และเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งนอกจากนี้ยังสามารถระบุเส้นทางหลบหนีได้ด้วย

สรุป เฉพาะกรณีที่เป็นสายลับทั้งที่มาจากภายในและภายนอกนั้น ส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าวของหลายหน่วยงานพร้อมกัน ชาวบ้านเองก็สงสัยในพฤติกรรม โดยเฉพาะสายลับที่มาจากภายนอกนั้นหลายรายชาวบ้านไม่รู้จักผู้ตายมาก่อน

2.การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

มีหลายกรณีจากรายงานที่ระบุว่า การสังหารเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ คือ

-ผู้ตายถูกระบุว่าเป็นแกนนำหรือกลุ่มผู้ก่อการ
-เจ้าหน้าที่เคยเรียกไปสอบหลายครั้งก่อนมีการสังหาร
-เจ้าหน้าที่แวะเวียนไปที่บ้านของเป้าหมายเป็นระยะๆ
-ชาวบ้านระบุยานพาหนะที่ใช้ได้ว่าเป็นของเจ้าหน้าที่ และกลุ่มคนที่ลงมือปฏิบัติการถูกระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ร่วมในชุดปฏิบัติการด้วย จำยานพาหนะที่ใช้ในการสังหารได้แต่ระบุว่าคนขับและคนลงมือเป็นคนแปลกหน้า ในบางกรณีระบุว่าคนลงมือสังหารไม่ใช่คนในพื้นที่แต่มีรูปร่างห