Skip to main content

 

"Traveling - it leaves you speechless, then turn you into a storyteller." Ibn Battuta 

 

หนึ่งในวาทะสุดคลาสสิคของอิบนู บาตูเตาะห์ นักเดินทางจากดินแดนมัฆริบผู้รอนแรมไปไกลถึงเมืองจีนในยุคสมัยที่การย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งต้องใช้ทั้งความกล้าและความบ้าบิ่น ผมตัดสินใจเขียนรีวิวเรื่องการเดินทางอีกครั้งหลังจากเคยเขียนในเฟสบุ๊กส่วนตัว ส่วนหนึ่งเพราะผมและเพื่อนสนิทกำลังจะออกไปเที่ยว ออกไปเดินทางอีกครั้ง เลยแอบคิดว่าก่อนที่การออกเดินทางจะมาถึงผมน่าจะเขียนรีวิวเรื่องการเดินทางตั้งไว้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการเดินทางต่อไปและประเดิมตอนแรกด้วยประเทศอาร์เมเนีย 

 

 

อาร์เมเนียในความคิดแรก 

 

อาร์เมเนียหนึ่งในประเทศที่ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๐ อาร์เมเนียถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มประเทศคอเคซัสเนื่องด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาของคอเคซัส พื้นที่ของประเทศอาจไม่ได้ใหญ่นักโดยมีเมืองหลวงที่ชื่อว่าเยเรวาน ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่เรื่องราวของประเทศนี้กลับไม่เล็กตามขนาดของประเทศไปด้วย 

 

ความคิดแรกของการไปอาร์เมเนียของผมเริ่มขึ้นในวันที่ผมพักจากภารกิจการงานไปสโลว์ไลฟแถวสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2014-2015 ไม่กี่เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ไม่กี่วันหลังสถานีวิทยุมีเดียสลาตันถูกสั่งให้ยุติการออกอากาศพร้อมๆกับสถานีวิทยุชุมชนทั้งประเทศ ห้วงที่เรื่องอาร์เมเนียลอยเข้ามาในหัวเกิดขึ้นในวันที่อากาศติดลบ จึงไม่ค่อยได้ออกไปไหน และเมื่อไม่ค่อยได้ออกไปไหนจึงมีความคิดฟุ้งซ่านเต็มไปหมด เลยมีโอกาสได้ชำระความทรงจำของตัวเองที่ค้างคาอยู่บ้าง และขบคิดถึงความทรงจำในวันต่อๆไปว่าเราจะเดินทางไปสนทนากับผู้คน ณ ที่ใด สายลมอันเหน็บหนาวนำพาเสียงของมิตรสหายแสนสวยนางหนึ่งที่กระซิบบอกผมในหลายวันก่อนหน้าว่าผมควรจะไปลองเตร็ดเตร่ที่อาร์เมเนียบ้าง ผมตอบรับเสียงเรียกนั้นโดยไม่ต้องคิด เลยลองค้นหาตั๋วเครื่องบิน และค้นพบราคารวมไปถึงเส้นทางที่จะไม่บาดเจ็บอยู่บ้าง เลยตัดสินใจกัดฟันกดซื้อด้วยความรวดเร็ว  

 

เมื่อลงทุนซื้อตั๋วแล้วก็มีโจทย์ให้มานั่งคิดต่อว่าแล้วเราจะไปไหน ผมนั่งไล่อ่านงานศึกษา รีวิวต่างๆ ผมพบว่ามีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งนั่นคือเหตุการณ์เสียชีวิตของชาวอาร์เมเนี่ยนจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับในสมัยที่ตุรกีกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรออตโตมานอันยิ่งใหญ่สู่ประเทศสมัยใหม่ ข้อถกเถียงที่ยุติลงอย่างไร้ข้อสงสัยว่ามีชาวอาร์เมเนี่ยนตายเป็นจำนวนมากจริง แต่ยังคงมีข้อถกเถียงที่ยังคงทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างชาวตุรกีกับชาวอาร์เมเนี่ยนตลอดมา 

 

ชาวอาร์เมเนี่ยนบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบ เพราะคนอาร์เมเนี่ยนตายจากการถูกสังหารหมู่ ถูกต้อนเข้าค่ายกักกัน และบังคับให้เดินเท้าออกนอกประเทศตุรกีไปยังที่ต่างๆจนตายระหว่างการเดินทางไปเป็นจำนวนกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน เรื่องราวเหล่านี้ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของคนอาร์เมเนี่ยนทั้งที่อยู่ในประเทศอาร์เมเนียและที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆตลอดมา  

 

การเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจคือการรณรงค์ให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆให้การยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธ์เพื่อชำระประวัติศาสตร์และความทรงจำ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็มีประเทศยักษ์ใหญ่กว่ายี่สิบประเทศลงนามยอมรับเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะเดียวกันทางด้านตุรกีก็ปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอดว่ามันไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ หลายปีก่อนรัฐบาลตุรกีโดยการนำของเอร์โดกานผู้ที่ได้รับการชื่นชมจากโลกมุสลิมค่อนข้างสูง ทำในสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่ผู้นำของตุรกีเคยทำมาคือการออกมากล่าวแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชะตากรรมของชาวอาร์เมเนียนและยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและเหตุแห่งการกระทำนั้นจะไม่ถูกยอมรับอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสองประเทศเพื่อชำระเรื่องนี้ แต่ถูกประธานาธิบดีของอาร์เมเนียปฏิเสธไป แต่เอร์โดกานยังคงแสดงท่าทีเช่นเดิมและถึงขนาดว่าพร้อมจะชำระเรื่องนี้คืนความทรงจำและจ่ายค่าทดแทนแก่ลูกหลานของผู้เสียชีวิตแต่ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันชำระประวัติศาสตร์เรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ก็ห่างหายไปจากความทรงจำหลังวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นในตุรกีเมื่อปีที่แล้ว 

 

เหตุเกิดที่ด่านคนเข้าเมือง 

 

ตอนแรกสุดผมวางไว้ว่าจะใช้เวลาอยู่ที่อาร์เมนียหลายๆวัน แต่การแบกเป้เดินทางโดยที่มิได้มีภารกิจการงาน เดดไลน์วันเดินทางที่แน่นอนทำให้ผมใช้เวลาจำนวนมากในตุรกีและจอร์เจียแทน แต่อย่างน้อยที่สุดผมได้ไปเยี่ยมสถานีรถไฟ Hydarpasa สถานีรถไฟที่ในอดีตที่เชื่อมโยงกับเส้นทางของรางไปยังตะวันออกกลาง ชาวอาร์เมเนียนมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างอันเลวร้ายเริ่มต้นขึ้นที่นั่นในวันที่กลุ่มปัญญาชนอาร์เมเนียนนับร้อยคนถูกจับขึ้นไปบนรถไฟและขับพวกเขาออกจากอาณาจักร เมื่อวันที่ 24 เมษายน 1915 Hydarpasa เป็นหมุดหมายสุดท้ายของผมในตุรกีก่อนจะนั่งเครื่องบินไปกรุงทบิลีซี่ของจอร์เจียและนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงเยเรวานประเทศอาร์เมเนีย  

 

 

ผมจับรถไฟค้างคืนไปเมืองเยรวานจากกรุงทบิลีซี่ของจอร์เจีย ถึงแม้ว่าตั๋วรถไฟจะเขียนยักยือๆเป็นภาษาที่ผมอ่านไม่ออกแต่ก็พอเดาได้ว่าการเดินทางจะใช้เวลาราวสิบสองชั่วโมง ผมอ่านรีวิวจากหลายๆที่เกี่ยวกับรถไฟไปเยเรวานว่าเป็นการเดินทางที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับชาวฮิปสเตอร์ที่ใช้ชีวิต Low key, Slow Life และก็เป็นเช่นนั้นเมื่อมาถึงชานชลารถไฟแล้วพบว่ารถไฟที่กำลังจะโดยสารนั้นเป็นรถไฟที่ใช้ตั้งแต่สมัยอาร์เมเนียและจอร์เจียยังอยู่ในระบอบการปกครองของโซเวียต รถไฟอันเก่าแก่คร่ำครึประทับตราดาวแดงบนรถหัวจักร แทบจะเรียกว่าเป็นรถไฟขนสเบียงเสียมากกว่า เพราะบนรถเต็มไปด้วยสินค้าที่ส่งไปอาร์เมเนีย และให้น่าแปลกใจและคุ้นเคยมากคือสินค้าจำนวนมากบนรถคือผ้าอ้อม เช่นเดียวกับที่เป็นสินค้าหลักที่ขนข้ามกันระหว่างชายแดนไทยมาเลเซีย 

  

ผมนั่งรถไฟบนขบวนเดียวกับสองหนุ่มจากอิตาลี่และญี่ปุ่น เหมือนกับว่าทางเจ้าหน้าที่รถไฟจะตั้งจัดพวกเราให้นั่งใกล้ๆกัน เราใช้เวลาจำนวนมากนั่งคุยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเทียวกันค่อนคืน จนเมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนเข้ามายังเขตแดนของอาร์เมนียและจอดตรงด่านตม.เพื่อทำพิธีการข้ามแดน 

 

 

ผมเป็นคนสุดท้ายในแถวรอคิวขอประทับตราวีซ่าถัดจากหนุ่มญี่ปุ่น กระบวนการข้ามแดนของทุกๆคนเป็นไปด้วยดีจนมาถึงตาผม และแล้วก็ถึงคิวผม เจ้าหน้าที่ ตม.เริ่มให้ผมกรอกเอกสารวีซ่า ผมก็กรอกจนเสร็จเว้นแต่กรอกที่อยู่โรงแรมที่จะไปพักในอาร์เมเนีย เพราะผมเองก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะไปนอนที่ไหนในกรุงเยเรวาน และตามขนบของการเดินทางแบบชีวิตต้องขอให้ได้ลุ้นอะไรกันบ้าง ผมจึงมักไม่ค่อยจองที่พักล่วงหน้านานนัก หรือไม่ก็ตายเอาดาบหน้า หากไม่จำเป็นผมไม่จองอะไรไปล่วงหน้าขนาดนั้น และนั่นก็เป็นปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มสอบสวนผม เขาถามผมหลายครั้งว่าจะไปอยู่ที่ไหนในเยเรวาน ผมก็ตอบตามที่คิดไปว่ายังไม่รู้ ยังไม่แน่ใจ เขาถามอยู่อย่างนั้นด้วยสำเนียงภาษาอังกฤษที่แปร่งไปทางคนรัสเซีย จนกระทั่งเขาเริ่มถามถึงจุดประสงค์ของการมา และอีกหลายๆคำถามซึ่งผมก็ตอบไปตามความเป็นจริงว่ามาตามรอยเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ จนท.เริ่มพลิกหน้าพาสปอร์ตผมไปมา และเรียกเพื่อน จนท.อีกคนมาคุยกับผม และถามคำถามเดิมๆวนซ้ำๆ ผมก็ตอบไปตามที่บอกไว้ตอนแรก สักพัก จนท.สองคนก็เริ่มคุยกันและพลิกหน้าพาสปอร์ตผมไปมาอีกหลายรอบ จนกระทั่ง จนท.คนแรกได้เรียกเจ้าหน้าที่ทหารสองสามคนให้เข้ามาในห้องนั้น และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความโดดเดี่ยวและเงียบเหงาอย่างแท้จริง 

 

จนท.ทหารในชุดเต็มยศพร้อมปืนเล็กยาวในมือ แม้นิ้วชี้ของมือจะไม่ได้ตั้งอยู่โกร่งไกปืน แต่นั่นก็ทำให้ผมเริ่มรู้สึกวาบหวิวในใจพอสมควร จนทตมสองคนเริ่มถามถึงการงานอาชีพ ประเทศที่เพิ่งเดินทางมา และเริ่มถามผมว่า นายไปทำอะไรที่เมืองจีน ปากีสถาน และ ซาอุดิ อารเบีย ผมก็เริ่มตอบแบบมีอารมณ์เล็กๆว่า ไปสัมนาและก็ไปแสวงบุญ เขาถามผมสลับกับคุยกันในหมู่พวกเขาในภาษาที่ผมไม่เข้าใจ พวกเขาคุยกันสักพักใหญ่พร้อมกับมีคำภาษาอังกฤษคำเดียวหลุดออกมาจากบทสนทนาเหล่านั้น ซึ่งนั่นก็คือคำว่า terrorsit คำนี้สะกดผมออกจากทุกภวังค์และมุ่งเข้าสู่อีกภวังค์หนึ่งที่เรียกว่าความโดดเดี่ยวและหนาวเหน็บ ภายใต้บทสนทนาที่ จนท.สองคนพูดคุยกัน ผมกลับทำได้เพียงจินตนาการถึงความฉิบหายต่างๆนาๆที่จะเกิดขึ้น คุกมืดเจ็ดวัน ติดต่อใครไม่ได้ สถานฑูตไทยก็ไม่มีและสถานฑูตที่รับผิดชอบเขตอาร์เมเนียคือสถานฑูตไทยในกรุงมอสโกของรัสเซีย หรือไม่ก็ถูกให้ออกจากอาร์เมเนียในกลางดึกในที่ที่ผมก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนของแผนที่ ผมจำได้ว่าผมอยู่ตรงนั้นราวสองชั่วโมง ซึ่งเป็นสองชั่วโมงที่รู้สึกยาวนานมากมาย รถไฟทั้งขบวนก็รอผมเพียงคนเดียว ผมลุ้นในใจอย่างเดียวว่า รถไฟอย่าเพิ่งออกไปน่ะ ไม่อยากเหงาอยู่คนเดียวที่นี่ จนกระทั่งพวกเขาหันมาคุยกับผมอีกครั้งแล้วถามผมว่าทำไมนายมีวีซ่าเข้ายุโรปและอเมริกา ผมก็อธิบายไปตามเหตุตามผล แต่ยังไม่สิ้นหน้าตาที่แสดงถึงความสงสัย จนกระทั่งเขาถามผมอีกรอบว่าทำไมนายถึงมีวีซ่าเข้าอเมริกาและยุโรป ผมก็เลยตัดสินใจพูดไปว่า ขอโทษนะครับ กว่าจะได้วีซ่าพวกนี้มันยากเย็นแสนสาหัส FBI คงตรวจสอบประวัติผมเป็นอย่างดีแล้วถึงได้วีซ่ามา จากนั้นจึงอธิบายสารพัดเหตุผลที่มาที่ไปกว่าจะมาถึงที่นี่ รวมทั้งวิชาออดอ้อน ก็แน่ล่ะ ใครจะมาทำเก่งในวินาทีนี้ได้ลงคอ พวกเขาหันกลับไปคุยกันเองอีกครั้ง รอบนี้ผมเดาว่าจนท.คนนึงคงอธิบายว่าปล่อยมันไปเหอะเสียเวลา มันมีวีซ่ายุโรป อเมริกา มันน่าจะโดนตรวจประวัติอย่างดีแล้ว จนในท้ายที่สุดผมก็ได้รับอณุญาตให้ผ่านเข้าประเทศ และพาสปอร์ตผมก็ถูกถ่ายรูปถ่ายเอกสารทุกหน้า ในช่วงที่หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น ผมลอบเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหาร สองสามนาย ยังอยู่ข้างๆผม เมื่อ ตม.ประทับวีซ่าเสร็จ ทหารสองสามนายเหล่านี้ก็เดินประชิด และ ประกบผมไปส่งบนรถไฟ ณ ที่นั่งของผม เพื่อนร่วมโดยสารทำหน้าฉงนเล็กๆกับฉากที่พวกเขาเห็นผมกับทหาร ก่อนที่พวกทหารจะเดินลงไป ผมส่งยิ้มให้พวกเขาพร้อมรำพันในใจ หวังว่าคงจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เจอกัน และจากนั้นรถไฟก็เปิดเสียงหวูดและรถก็เริ่มขยับเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเยเรวานแห่งประเทศอาร์เมเนีย 

 

เข้าสู่กรุงเยเรวาน

 

รถไฟมาถึงกรุงเยเรวานตั้งแต่เช้ามืดหนุ่มอิตาเลี่ยนที่ขึ้นรถไฟมาด้วยกันใจดีอาสาพาผมไปเที่ยวเล่นในย่ำรุ่ง ผมไม่แน่ใจนักว่าเขามาเยเรวานด้วยจุดประสงค์อันใดแต่เมื่อถึงสถานีรถไฟก็มีสุภาพสตรีชาวอาร์เมเนี่ยนมารอรับเขา พวกเขาพาผมขึ้นไปบนเนินเขาอันเป็นที่ตั้งของรูปปั้นแม่แห่งอาร์เมเนีย โดยมีสุภาพสตรีเพื่อนของเขาช่วยเป็นไกด์อธิบาย พวกเรานั่งเล่นอยู่ตรงนั้นสักพักหนึ่ง ผมควักมาร์ลโบโร่ไลท์ขึ้นมาจุดดูด สายตาเหม่อมองไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ไกลออกไป สุภาพสตรีคนนั้นพูดขึ้นมาว่ามันคือภูเขาอารารัตที่ซึ่งเชื่อกันว่าบรรพบุรุษของชาวอาร์เมเนี่ยนพำนัก มันคืออาร์เมเนี่ยนตะวันตกที่ตอนนี้กลายมาเป็นเขตแดนของตุรกี น้ำเสียงของคุณสุภาพสตรีท่านนี้ทำให้ผมรับรู้ได้ถึงความรู้สึกบางอย่าง มันคือการบอกเล่าประวัติศาสตร์บาดแผล แม้เราจะใช้เวลากันไม่นานนักแต่ในบทสนทนานั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกของการถูกกระทำแม้ว่าเหตุการณ์มันจะผ่านไปถึงร้อยปีแล้วก็ตาม บทสนทนาจบลงพร้อมๆกับที่หนุ่มอิตาเลี่ยนและสุภาพสตรีท่านนั้นบอกว่าจะไปส่งผมที่ Cascade อันเป็นแกลเลอรี่ศิลปะชื่อดังที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมือง 

 

 

รถยนต์สี่ประตูเทียบทางเท้าหน้า Cascade ผมกล่าวคำร่ำลากับมิตรสหายที่รู้จักกันได้ไม่นานนักและเดินเล่นอยู่แถวนั้น งานปั้นจำนวนมากถูกประดับตั้งอยู่บริเวณลานหน้า Cascade สิ่งที่ทำให้ผมชวนอึ้งก็คือผมพบว่างานสองชิ้นที่ตั้งอยู่ในนั้นเป็นงานของ Fernando Botero ศิลปินนามอุโฆษชาวโคลอมเบียที่ผมเคยไปพิพิธภันฑ์ของเขาในเมืองเมเดยินเมื่อสามเดือนก่อนหน้า หนึ่งในสุภาพรูปปั้นที่ตั้งตระหง่านและเห็นได้ชัดก็คือรูปปั้นผู้หญิงนอนราบและสูบบุหรี่ พร้อมๆกับชิ้นงานของศิลปินอีกหลายๆท่าน ผมเดินไปรอบๆ Cascade และตัดสินใจว่าผมคงต้องกลับไปทบิลิซี่ในคืนนี้ทันทีแต่วันนี้ต้องไปเที่ยวในจุดสำคัญๆของเมืองโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ไฟซึ่งอยู่ในที่ตั้งเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์

 

 

ผมตัดสินใจเหมาแท็กซี่เบนส์เก่าหนึ่งคันเพื่อให้พาผมไปยังที่ต่างๆ เมื่อต่อรองราคากับคนขับเรียบร้อยจุดหมายปลายทางแรกคือพิพิธภัณฑ์แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ และให้น่าเสียดายเมื่อผมไปถึงพิพิธภัณฑ์กลับพบว่ามันกำลังปิดปรับปรุงเลยอดที่จะดูเรื่องราวต่างๆที่นำเสนอ แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็ได้ไปอนุสาวรีย์ไฟ อนุสาวรีย์ไฟตั้งขึ้นเพื่อรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์และตั้งอยู่บนเนินเขาเช่นเดียวกันกับสถานที่สำคัญต่างๆของเมืองนี้ที่หากคุณเดินอยู่บนเนินเขาของเมืองคุณจะเห็นภูเขาอารารัตอยู่เสมอ ผมนั่งเล่นพูดคุยกับวัยรุ่นอาร์เมเนี่ยนสักพักก็สบตากับนักข่าวสองสามคนที่รูปพรรณสัณฐานดูราวกับคนอาหรับ ผมตัดสินใจเดินเข้าไปทักและพูดคุยสัพเพเหระ พวกเขารู้สึกแปลกใจกับที่มาของผมเพราะนักท่องเที่ยวที่มาแถบนี้น้อยมากที่จะเป็นคนจากภูมิภาคที่ผมจากมา พวกเขามาจากเลบานอนมาทำข่าวในวาระร้อยปีแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ผมนึกแปลกใจเลยถามพวกเขาว่า คุณเป็นอาหรับแท้ๆคุณน่าจะไปทำเรื่องนี้ในตุรกีไม่ใช่เหรอ คำถามของผมมันดูไร้เดียงสาสังเกตได้จากเสียงหัวเราะอันน่าเอ็นดูของพวกเขาที่มีให้ผม พวกเขาบอกผมว่าคนอาหรับอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบออตโตมาน พวกเขาคือผู้ปกครองและสูบผลประโยชน์จากคนอาหรับมาไม่น้อยเหมือนกัน ผมยิ้มเจื่อนๆและโบกมือร่ำลาพวกเขาเพื่อไปเที่ยวยังที่ต่างๆของเมือง 

 

 

ตลอดวันที่ผมเตร็ดเตร่อยู่ในเยเรวานทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆและแอบแปลกใจกับท่าทีของผู้คนที่มีต่อผมไม่น้อย มันจริงที่คนเอเชียผิวน้ำผึ้งแบบผมแทบจะไม่มีให้เห็นเลยในเมืองเยเรวาน พวกเขาอาจจะไม่คุ้นเคยก็ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมแอบยิ้มอยู่บ้างก็คือแม้ผมจะเดินทางในเมืองนี้เป็นเวลาสั้นๆ แต่ผมมักจะถูกผู้คนขอถ่ายรูปด้วยอยู่บ่อยมาก บ่อยจนผมคิดว่าต้องกลับมาเมืองนี้อีกคราวอย่างแน่นอน 

 

 

เยเรวานอีกครา 

 

และในท้ายที่สุดผมก็ได้กลับมาที่เมืองเยเรวานอีกคราว ทริปมาเยเรวานรอบนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2559 ขณะที่ผมกินกาแฟอยู่กับอาจารย์อาทิตย์แถวสีลม เรากำลังคุยเรื่องงานเรื่องสัพเพเหระและเรื่องท่องเที่ยวแถวตุรกี ผมเลยลองกดไปดูราคาตั๋วก็พบว่ามันถูกกว่าปกติมาก ซึ่งมารู้สาเหตุทีหลังก็ตอนกำลังจะนั่งเครื่องว่ามันเป็นช่วงวันอีดหรือฮารีรายอนั่นเอง ตอนแรกสุดวางแผนว่าจะเที่ยวตุรกีและกลับเข้าไปเที่ยวบอสเนียและเลยเถิดไปถึงประเทศที่เคยอยู่ภายใต้ยูโกสลาเวีย แรงดึงดูดมันมหาศาลแต่ก็จบลงเมื่อต้องเจอกับภารกิจการทำวีซ่าที่น่าเหนื่อยหน่ายเหลือเกิน เลยเปลี่ยนมาวางแผนไปตุรกีและจอร์เจียๆดูตอนเริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน ซึ่งการที่ไม่ค่อยมีภารกิจวุ่นวายมากนักช่วงรอมฎอนเลยทำให้พอจะมีเวลาคิดไตร่ตรอง พูดคุยกับมิตรสหายอยู่บ้าง ผมคุยกับมิตรสหายซายูตีที่เปิดร้านอาหารแถวยะหริ่ง แกก็ยุผมให้ไปรัสเซีย ผมกลับมานั่งคิดลองดูราคาตั๋วต่างๆแล้วน่าสนใจ เลยลองวางแผนคร่าวๆดู ผมนั่งคิดไปวางแผนไปหลังละหมาดตารอเวียะห์ที่ร้านน้ำชาที่พวกเด็กดื้อมันเปิดแถวย่านเมืองเก่าของปัตตานีและตัดสินใจทำชะโงกทัวร์ห้าประเทศในสองอาทิตย์นั่นคือ ตุรกี รัสเซีย อาร์เมเนีย จอร์เจีย และ อาเซอร์ไบจาน แต่การมาเยเรวานรอบนี้ผมมาพร้อมกับเรื่องที่น่าสนใจในใจเรื่องใหม่ นั่นคือเรื่องกรณีพิพาทระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน ต่อดินแดนที่เรียกกันว่า Nagorno-Karabakh 

 

Nagorno-Karabach เป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งและหาทางออกไม่ได้ โรมรันพันตูกับแนวทางแบ่งแยกและปกครองของสหภาพโซเวียต แม้สถานะตอนอยู่ในอารักขาโซเวียตจะอยู่ภายใต้ดินแดนของอาเซอร์ไบจานแต่ก็มีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษและถูกปกครองโดยชาวอาร์เมเนียนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ ตอนที่สหภาพโซเวียตใกล้จะแตกรัฐสภาของ Nagorno-Karabakh ประกาศเลือกที่จะอยู่กับอาร์เมเนีย แต่ฝั่งอาเซอรไบจานไม่ยอมจนนำไปสู่การเริ่มต้นปะทะกัน ในปี 1991อาเซอร์ไบจานได้รับเอกราชจากโซเวียตแต่ Nagorno-Karabakh ประกาศว่าตัวเองจะไม่อยู่กับอาเซอร์ไบจานแต่จะเป็นประเทศเอกราชแทน ความขัดแย้งยิ่งขยายตัวเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างอาเซอร์ไบจานและอาร์เมนีย จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 30,000 คน และ มีคนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน (IDP) อีกเป็นล้านซึ่งเป็นชาวอาเซอร์ไบจานไปเสียกว่า 800,000 คน ซึ่งนั่นทำให้อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศที่มีคนอยู่ในสถานะ IDP ในอันดับที่สูงลิ่ว อาร์เมเนียเองแม้ไม่เคยประกาศยอมรับสถานะเอกราชของ Nagorno-Karabakh แต่ว่าอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนทางการเงินการทหารและการปกป้องดินแดนดังกล่าว แม้จะมีความพยายามที่จะจัดการพูดคุยสันติภาพโดย OSCE Minsk Group อันเป็นส่วนแยกขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือของยุโรป Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) ว่ากันว่านี่คือองค์การอันมีหมุดหมายเพื่อสร้างความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก การพูดคุยไม่ได้คืบหน้าอะไรมากนัก การประลองกำลังยืดเยื้อจนถึงปี 1994 กระทั่งรัสเซียเข้ามาเป็นตัวกลาง ตัวแทนจากทั้งอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และ Nagorno-Karabakh เซ็นข้อตกลงหยุดยิง ยุติความขัดแย้งอันตึงเครียดที่ยืดเยื้อมานานกว่าหกปี 

 

ภายหลังจากการหยุดยิงดูเหมือนสถานการณ์จะไม่เดินทางไปไหน OSCE Minsk Group ยังคงพยายามทำหน้าที่ตัวเองแต่ก็ไม่คืบหน้า เช่นเดียวกันกับองค์การอย่าง UN OIC ที่พยายามเข้ามามีบทบาทแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การปะทะกันยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอในพื้นที่ ความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานไม่เคยเกิดขึ้น ขณะที่ทั้งสองประเทศก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณทางการทหารของประเทศโดยมีรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์ด้านอาวุธรายใหญ่ให้กับทั้งสองประเทศ 

 

หลังจากร่อนเร่ในตุรกีและรัสเซีย ผมเดินทางมาถึงเยเรวานด้วยสภาพที่ค่อนข้างจะวินาศเพราะมาถึงช้ากว่าที่คิดกว่า 14 ชั่วโมง ขณะที่อากาศก็คนละขั้วกับรัสเซียเพราะการมาเที่ยวที่อาร์เมเนียในหน้าร้อนนั้นร้อนตับแตกจริงๆๆ เครื่องบินแบบ A320 ขายสายการบิน S7 พาผมแตะถึงพื้นโดยมีฉากของภูเขาอารารัตให้ผมเห็นเมื่อมองลอดอกไปนอกหน้าต่าง เมื่อเครื่องบินเทียบสนามบินปุ๊ปผมก็รีบเข้าไปปั๊มพาสปอร์ต การข้ามแดนรอบนี้ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย แต่การมาช้ากว่าที่คิดก็ทำให้พลาดการเที่ยวในเมืองไปเสียฉิบ มาเยเรวานรอบนี้ผมหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องมานอนที่นี่ให้จงได้เลยจัดการจองที่พักผ่านเครือข่ายของ AirBnB เจ้าของของห้องพักมายืนรอผมอยู่ตรงโถงผู้โดยสาร เจ้าของห้องพักควบรถตู้นิสสันมือสองที่นำเข้าจากญี่ปุ่นพาผมเข้าไปพักผ่อน คอนโซลหน้ารถหลายอย่างแทบจะเป็นภาษาญี่ปุ่น แถมรถยังขับพวงมาลัยขวาทั้งที่รถส่วนใหญ่จะขับทางซ้าย ประเทศแบบนี้มักเป็นแหล่งดั๊มรถของประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเช่นเยอรมนีหรือประเทศอื่นๆ  

 

 

 เมื่อไปถึงห้องพักซึ่งเป็นแฟลตซึ่งดัดแปลงเอาไว้สำหรับต้อนรับแขก ผมมาถึงทันมื้อค่ำพอดี คุยกันสัพเพเหระ ภรรยาเจ้าของห้องพักซึ่งน่าจะเป็นเจ้านายตัวจริงก็ยกสำรับข้าวเย็น ผมเลยได้กินอาหารอาร์เมเนียนโฮมเมดอร่อยเด็ดขาด อาหารอาร์เมเนียนก็ดูจะคล้ายๆกับพวกอิหร่านและเลบานอน แต่เอาจริงๆผมไม่เคยกินตาบูเลที่ไหนอร่อยเท่านี้มาก่อนเลย 

 

 

นั่งกินกันเสร็จคนที่พักอีกห้องนึงก็เดินเข้ามา เธอเป็นนักศึกษาฝรั่งซึ่งกำลังเรียนปริญญาโทอยู่แถวลอนดอนและลงมาเก็บข้อมูลสำหรับทำ Dissertation ผมนั่งนึกในใจอีกแล้วเหรอเนี่ย แถมยังรู้จักที่ทำงานผมอีก มันช่างหายากจริงๆ แต่เธอก็ใจดีชวนผมไปดูน้ำพุเต้นระบำประกอบเพลงที่ลาน Republic Square สถานที่ซึ่งวง System of a Down มาเปิดฟรีคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกหนึ่งร้อยปีแห่งเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์เมื่อสองปีที่แล้ว เดินไปเธอก็ชวนผมคุยเรื่องงานวิจัยไปและเล่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอาร์เมเนียที่น่าสนใจให้ผมฟังไปเรื่อยๆ 

 

 ผมหลุดปากพูดถึงจุดหมายปลายทางที่ผมกำลังจะเดินทางต่อว่าเป็นประเทศอาเซอร์ไบจาน บทสนทนาก็พลันแปรเปลี่ยน เธอถามผมว่านายรู้หรือปล่าวว่าเด็กชาวอาร์เมนียเพิ่งจะถูกยิงจากพวกอาเซอร์ไบจานที่ Karabach อันเป็นดินแดนที่กำลังมีกรณีพิพาท เธอบอกผมด้วยความรู้สึกที่เห็นได้ชัดว่ารับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เธอจะยังโสดและไม่มีลูกแต่ความรู้สึกเจ็บปวดมันกลับแผ่ซ่านจนสัมผัสได้ 

วันต่อมาผมตัดสินใจใช้บริการรถของเจ้าของโรงแรมเพื่อเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆงามๆที่อยู่นอกกรุงเยเรวานตามแบบฉบับนักท่องเที่ยวเพื่อเสพความงาม เมื่อสมดั่งปราถนาแล้วผมก็นั่งรถตู้ข้ามแดนไปยังหมุดหมายต่อไปของการเดินทาง 

 

 

หลังจากจบทริปอาร์เมเนียผมเดินทางต่อไปยังจอร์เจียและอาเซอร์ไบจาน ขณะที่ผมอยู่ในวงน้ำชาหลังอาหารเย็นในย่านชุมชนกลางกรุงบาคูประเทศอาเซอร์ไบจาน ผมกับมิตรสหายหน้ามนที่เพิ่งจะรู้จักกันไม่นานกำลังพูดถึงพ่อลูกประธานาธิบดีซึ่งสืบทอดอำนาจกันมาตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชเมื่อปี 1991 จู่ๆบทสนทนาก็ตัดเข้าสู่เรื่องที่เด็กอาซรี่วัยสองขวบถูกฆ่าตัดคอจากทหารอาร์เมเนีย ในฐานะพ่อเขาบอกผมว่ารับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมแอบเห็นเขาตาแดงๆ อารมณ์แห่งความโกรธแค้นแม้ไม่ปะทุระเบิดออกมาแต่มันสัมผัสได้ เขาเล่าต่อว่าสองปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกัน ภาพที่พ่อต้องมานั่งกอดศพลูกทำไมต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ 

 

ผมเปิดอินเตอร์เน็ตค้นหาข่าวย้อนหลังเกี่ยวกับเด็กถูกฆ่าตายจากทั้งสองพื้นที่ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงจากทั้งฝั่งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน แม้นจะสะเทือนใจและเกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวแต่ความรุนแรงของเหตุการณ์กลับถูกขยายความเกินเลยจากความเป็นจริง 

ทั้งหนังสือพิมพ์และคำให้การของผู้ที่เกี่ยวข้องดูมีทีท่าจะเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างไม่มีทีท่ายินยอมหรือจะถอยกันคนละก้าว แม้การเผชิญหน้ากันทางการทหารจะไม่ดุเดือดหลังจากทั้งคู่เซ็นข้อตกลงหยุดยิงไปแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่เรื่องแบบนี้จะถูกขับขานส่งต่อและสร้างเงื่อนไขให้การต่อสู้ยังคงมีความชอบธรรมที่จะดำเนินต่อไปผ่านเรื่องเล่าและความรู้สึกของผู้คนอันทรงพลังยิ่งกว่าสิ่งใด 

เรื่องเล่าจะจริงเท็จเพียงใด เรื่องเล่าจะสมจริงเพียงใด หรือเรื่องเล่าอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย หากแต่เมื่อถูกเล่าไปแล้ว ความจริงกับความเท็จนั้นยากนักที่จะจำแนกแยกแยะได้เหมือนการแยกน้ำตาลแดงกับทรายที่ชายหาด แต่ที่สัมผัสได้จริงๆกลายเป็นอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนต่างหาก